โครงการ “ยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอดาซาร์ ห้าจังหวัดห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจ”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง โครงการ “ยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอดาซาร์ ห้าจังหวัดห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจ”

ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร)

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลโครงการ “ยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอดาซาร์ ห้าจังหวัดห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจ” ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

1. โครงการ “ยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอดาซาร์ ห้าจังหวัดห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจ”

1.1 หลักการและเหตุผล

ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันโดยเฉพาะทางด้านการค้า โดยมูลค่าการค้ารวมของประเทศทั้งสองในปี พ.ศ.2552 มีมูลค่าการค้ารวม 556,179 ล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้าไทยมูลค่า 260,864 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียมูลค่า 295,315 ล้านบาท หรือขาดดุลทางการค้า 34,452 ล้านบาท โดยการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยและมาเลเซียที่ดำเนินอยู่กว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าการค้ารวมเป็นการค้าชายแดน จากความร่วมมือของอาเซียนที่มุ่งลดอุปสรรคการค้าโดยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งนับแต่ปี พ.ศ.2553 อัตราภาษีส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกจะลดเหลือร้อยละ 0-5 อันจะส่งผลให้การค้าของประเทศในอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นอันรวมถึงการค้าระหว่างไทยและมาเลเซีย

จากการเดินทางไปราชการประเทศมาเลเซียตามโครงการโลจิสติกส์สัญจรครั้งที่ 4 เยือนมาเลเซียของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์(นายอลงกรณ์ พลบุตร) ในระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2552 ซึ่งได้รับข้อสรุปความเห็นพ้องร่วมกันจากการหารือข้อราชการกับผู้บริหารภาคราชการ ภาคเอกชน หอการค้าและสมาคมการการค้าของรัฐปะลิส เคดาห์ เปรัค และกลันตันว่า ประเทศไทยและมาเลเซียสามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนของตนได้ ผ่านทางการสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือ เครือข่ายทั้งในรูปความสัมพันธ์ในภาครัฐ เอกชนและประชาชน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศยุทธศาสตร์ 5-5-5 สำหรับความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การค้าชายแดน การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมฮาลาลระหว่าง 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ได้แก่ รัฐเคดะห์, รัฐปะลิส, รัฐเประ, รัฐกลันตัน และรัฐปีนัง กับ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สตูล และสงขลา

1.2 วัตถุประสงค์

  • เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล ให้มีการพัฒนาและขยายตัวขึ้นโดยเฉพาะในสาขาการค้าชายแดน การลงทุน การท่องเที่ยวโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมฮาลาล อันจะส่งผลต่อรายได้และความกินดีอยู่ดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นส่วนหนึ่งของ การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
  • เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับภาครัฐ เอกชนและประชาชน
  • เพื่อสร้างกลไกใช้ประโยชน์ในความสัมพันธ์ให้เอื้ออำนวยต่อการค้า การลงทุน ให้ใช้และได้รับประโยชน์จากกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีอาเซียน

1.3 เป้าหมายกิจกรรม/ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  • พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน การลงทุนการท่องเที่ยว การศึกษาและอุตสาหกรรมฮาลาล ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่
  • ให้มีความร่วมมือ สร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั้งสองประเทศ

1.4 วิธีดำเนินงาน

เพื่อให้การดำเนินงานโครงการประสบผลสำเร็จก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการดำเนินงาน ดังนี้

  • การจัดประชุมเชิงปฎิบัติการร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัด ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและผู้ประกอบการ โดยได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเตรียมความพร้อมและสรุป รวบรวมประเด็นที่สำคัญ และเสนอโครงการความร่วมมือต่างๆ เพื่อนำไปหารือกับประเทศมาเลเซีย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ด้วย
  • จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปเยือน 5 รัฐเหนือของมาเลเซียในวันที่ 10-12 มิถุนายน พ.ศ.2553 เพื่อนำภาครัฐและเอกชน 5 จังหวัดใต้ไปพบหารือถึงโครงการความร่วมมือต่างๆที่จะเกิดขึ้น และเตรียมการจัดประชุม “Business Forum”
  • จัดประชุม Lima Dasar Summit / Business Forum เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว โดยมีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและมาเลเซียเป็นประธานเปิดการประชุม Lima Dasar Summit ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัดและมุขมนตรีรัฐเหนือของมาเลเซีย 5 รัฐมาร่วมประชุม สำหรับ Business Forum เป็นการประชุมและการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างภาคเอกชนโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนจังหวัดละ 100 คน รวม 500 คน และจากมาเลเซียรัฐละ 100 คน รวม 500 คน รวมทั้งสิ้น 1,000 คน โดยกำหนดจัดการประชุมดังกล่าวในช่วงเดือนปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 ที่จังหวัดสงขลา

1.5 ระยะเวลาดำเนินการ

กรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน

  • การประชุมระดมสองฝ่ายไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2553
  • การประชุมหารือกับฝ่ายมาเลเซีย เดือนมิถุนายน 2553
  • การจัด Lima Dasar Summit/Business Forum เดือนปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 ทั้งนี้ การดำเนินการต้องเกิดผลอย่างเด่นชัดภายใน 5 ปี

1.6 สถานที่ดำเนินการ

  • การจัดประชุมผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดนราธิวาส
  • การจัดคณะผู้แทนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางไปพบปะหารือผู้แทนภาครัฐและเอกชน มาเลเซีย ณ รัฐปะลิส เคดาห์ เปรัค ปีนังและกลันตัน
  • การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรมฮาลาล โลจิสติกส์ และ การท่องเที่ยวจะดำเนินการที่จังหวัดสงขลา

1.7 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  • พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาและอุตสาหกรรมฮาลาล ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่
  • ให้มีความร่วมมือ สร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐเอกชนและประชาชนทั้งสองประเทศ

1.8 ตัวชี้วัดความสำเร็จ

มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซียในระยะ 5 ปี จากปี พ.ศ.2553-2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ