โครงการจัดระบบการปลูกข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการจัดระบบการปลูกข้าว ระยะเวลาโครงการปี 2554-2556 รวม 3 ปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะดำเนินการ เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับ โดยลดขนาดหรือยกเลิกการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางและวิธีการตามโครงการดังกล่าวเพื่อไปดำเนินการในโอกาสแรกก่อน สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2556 ให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของโครงการตามขั้นตอนปกติต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า

1. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ 15 ธันวาคม 2552 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่ง ที่ 20/2553 ลงวันที่ 19 มกราคม 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำระบบการปลูกข้าว โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางจัดระบบการปลูกข้าวให้มีช่วงเวลาที่เหมาะสม และคณะกรรมการได้พิจารณาและยกร่างโครงการจัดระบบการปลูกข้าว รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ณ กรุงเทพมหานคร มีเกษตรกรผู้เข้าร่วมจาก 15 จังหวัด จำนวน 300 คน และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ณ จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรผู้เข้าร่วมจาก 7 จังหวัด จำนวน 230 คน ผลการรับฟังความคิดเห็นเกษตรกรทั้งหมดเห็นด้วยกับการจัดระบบการปลูกข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงโครงการในบางประการด้วยแล้ว

2. ในการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการจัดระบบการปลูกข้าว

3. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 9/2553 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการจัดระบบการปลูกข้าว และกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 2,180.36 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2553 - 2555 ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

4. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 10/2553 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 มีมติเห็นชอบในการปรับช่วงเวลาดำเนินการโครงการจัดระบบการปลูกข้าว จากปี 2553 - 2555 เป็นปี 2554 - 2556 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

5. หลักการโครงการจัดระบบการปลูกข้าวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

5.1 สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวในปัจจุบัน

5.1.1 เกษตรกรในชลประทานมีการเพาะปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวทำให้มีการทำนาปีละ 2-3 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง ใน 2 ปี

5.1.2 เกษตรกรปลูกข้าวไม่พร้อมกันในพื้นที่เดียวกันทำให้ข้าวมีระยะการเจริญเติบโตที่ แตกต่างกันส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าว

5.2 สภาพปัญหา เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ การบริหารจัดการน้ำ ไม่สามารถดำเนินการตามแผนการจัดสรรน้ำ การระบาดของโรคและแมลง เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การระบาดของข้าววัชพืช ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม เป็นเหตุให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำและมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกรณีหลังส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการ

5.3 การวิเคราะห์ผลกระทบการที่เกิดขึ้น

5.3.1 ด้านทรัพยากรน้ำ มีการใช้น้ำเกินแผนการระบายน้ำที่กำหนดไว้ ปีละประมาณ 1,000 — 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

5.3.2 ด้านระบบนิเวศน์ การปลูกข้าวโดยปราศจากการพักดินและการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งสารเคมีจำนวนมากเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติ มีสารเคมีตกค้างในดิน น้ำ และมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรโดยตรง

5.3.3 ด้านเศรษฐกิจ ตามระบบการปลูกข้าวที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตค่อนข้างสูง เป็นผลทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังสูงขึ้น

5.4 แนวทางและประโยชน์ของการจัดระบบการปลูกข้าว

5.4.1 แนวทาง

(1) ให้มีการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง โดยงดเว้นการปลูกข้าวแบบต่อเนื่องทั้งปี และให้มีการใช้น้ำไม่เกินปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่โดยพื้นที่งดเว้นปลูกข้าวนาปรังจะมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ปลูกพืชหลังนาหรือพืชปุ๋ยสดทดแทน ทั้งนี้ ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเดียวกันจะมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดให้มีการปลูกข้าวพร้อมกัน โดยคณะกรรมการระดับพื้นที่ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อความสะดวกและความมีประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำ

                       (2) มีเป้าหมายดำเนินการในระยะแรก จำนวน 9,000,000 ไร่ ใน 22 จังหวัด ในเขตชลประทาน ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหา หรือมีพื้นที่ต่อเนื่องกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั้ง 22 จังหวัดด้วย (โดยมีเกณฑ์ที่ใช้เป็นกรอบในการคัดเลือก คือ มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่ 100,000 ไร่ขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือเป็นพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  หรือมีพื้นที่ในเขตชลประทาน        ตั้งแต่ 150,000 ไร่ขึ้นไป และสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี)

(3) แนวคิดในการจัดระบบการปลูกข้าวใหม่เป็น 4 ระบบ คือ ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 1 คือ ข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-พืชหลังนา ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 2 คือ ข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-เว้นปลูก ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 3 คือ ข้าวนาปี-พืชหลังนา-ข้าวนาปรัง ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 4 คือ ข้าวนาปี-เว้นปลูก-ข้าวนาปรัง

(4) ชนิดพันธุ์พืชหลังนาและพืชปุ๋ยสดทดแทนข้าวในแต่ละระบบการปลูกข้าวให้เกษตรกรร่วมดำเนินการคัดเลือก โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้ข้อมูลทางวิชาการและการตลาด

(5) มาตรการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการน้ำซึงเป็นไปตามมติคณะกรรมการในระดับพื้นที่ 2)การใช้สิทธิประกันรายได้ของเกษตรกรไม่เกินปีละ 2 ครั้ง 3) การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา/พืช ปุ๋ยสด/พืชอื่น ๆ/ปัจจัยการผลิต 4)การจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตพืชหลังนา/พืชปุ๋ยสด 5)การผ่อนปรนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 6) ขอเลื่อนกำหนดเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส.

5.4.2 ผลประโยชน์

(1) ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ

  • ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงจากการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ชนิดพันธุ์ที่เหมาะสม เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวที่ถูกต้อง รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลง และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น

(2) ผลตอบแทนจากการปลูกข้าวมากขึ้น ระบบการปลูกข้าวใหม่เกษตรกรไม่ทำการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการปะปนของข้าววัชพืชหรือข้าวดีด ข้าวเด้งที่สะสมจากการทำนาแบบต่อเนื่อง เป็นผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

(3) ประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ

  • ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยรวมแม้จะลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ไปบางส่วน เนื่องจากการปลูกข้าว 2 รอบต่อปีทำให้มีการจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปลูกข้าวพันธุ์ดี และลดการปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่มีอายุสั้น จึงส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่โดยรวมเพิ่มขึ้น
  • ระบบนิเวศน์ในพื้นที่นาเขตชลประทานดีขึ้น จากการพักดินหรือการปลูกพืชอื่นหมุนเวียน ทำให้พื้นที่นาได้รับการฟื้นฟู และปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะหากมีการปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วจะให้เพิ่มธาตุอาหารในดินทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีและลดสารเคมีเนื่องจากการสะสมของศัตรูข้าวลดลง ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในวงกว้างทั้งในพื้นที่นา แหล่งน้ำ และภูมิอากาศ ตลอดจนลดก๊าซมีเทนซึ่งมีผลต่อภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นฟูแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งช่วยควบคุมและลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวได้
  • มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเกษตรกรปลูกข้าวในช่วงเวลาเดียวกันทั้งโครงการชลประทาน จึงสามารถกำหนดช่วงเวลาปล่อยน้ำได้ ไม่เกิดการสิ้นเปลืองน้ำ ส่งผลให้สามารถประหยัดน้ำชลประทานได้ประมาณ 1,200-2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • เพิ่มปริมาณผลผลิตพืชไร่บางชนิดและทดแทนการนำเข้า ทำให้ไม่สูญเสียเงินตราต่างประเทศ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวมปีละกว่า 10,000 ล้านบาท
  • ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ

6. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการทำนาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน กษ.จึงมีความจำเป็นต้องจัดระบบการ ปลูกข้าวใหม่ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วงระยะเวลาการปลูกข้าวมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปริมาณน้ำต้นทุน เศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปรับตัวเข้าสู่ระบบการปลูกข้าวแบบใหม่ตามโครงการจัดระบบการปลูกข้าวที่นำเสนอ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ