ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday August 28, 2007 15:51 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. ...
หลักการ
ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
เหตุผล
โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และสมควรกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมือง การดำเนิน
กิจการของพรรคการเมือง และการเงินและการอุดหนุนทางการเงินของพรรคการเมือง ตลอดจนการ
เลิกและการยุบพรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ.
.........................................................
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
........................................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ....”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก
วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑
(๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง
โดยได้รับการจดทะเบียนการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มีสมาชิกพรรคการเมือง
ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวกัน มุ่งที่จะดำเนินกิจการทางการเมืองด้วยการส่งสมาชิก
เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ
มีการดำเนินกิจการทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมือง
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกพรรคการเมือง
“ที่อยู่” หมายความว่า ที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
“การบริจาค” หมายความว่า การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวณ
เป็นเงินได้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อเป็น
ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง
ตามข้อบังคับของพรรคการเมืองและการหารายได้จากกิจกรรมหาทุนของพรรคการเมือง
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง
มาตรา ๕ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติการตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๖ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่ตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียน
การจัดตั้งพรรคการเมือง ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมือง และปฏิบัติงานให้
เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจงหรือให้ส่งเอกสาร
มาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือตรวจสอบได้
หมวด ๑
การจัดตั้งและจดทะเบียนพรรคการเมือง
มาตรา ๘ ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และไม่มีลักษณะ
ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไป มีสิทธิรวมกันเป็น
คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน
และเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมาย แนวนโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องมี
ลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนาระหว่างชนในชาติ ไม่เป็นภัยต่อ
ความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หรือไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
ในการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองดำเนินการ
ออกหนังสือเชิญชวนผู้อื่นให้สมัครเข้าเป็นสมาชิก และเมื่อมีจำนวนผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกรวมกับ
จำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วไม่น้อยกว่าห้าพันคน ย่อมตั้งพรรคการเมืองได้ โดยจดทะเบียน
ต่อนายทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา ๙ ก่อนดำเนินการโฆษณาเชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิก ให้คณะผู้เริ่มจัดตั้ง
พรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดพร้อมกับหนังสือเชิญชวน
สามฉบับซึ่งคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกฉบับ
หนังสือเชิญชวนนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ และชื่อย่อพรรคการเมือง
(๒) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง
(๓) แนวนโยบายของพรรคการเมือง
(๔) ชื่อ อายุ สัญชาติ อาชีพ และที่อยู่ของผูซึ่งเป็นคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง
(๕) แผน ขั้นตอน และระยะเวลาในการดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง
ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าหนังสือเชิญชวนมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง
หรือมีข้อความไม่ชัดเจน ให้นายทะเบียนบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง
ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
บอกกล่าว ถ้าไม่แก้ไขหรือแก้ไขแล้วยังไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสั่ง
ไม่รับแจ้ง และบอกกล่าวเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองภายใน
สิบห้าวันนับแต่วันที่สั่งไม่รับแจ้ง
มาตรา ๑๐ ให้นายทะเบียนออกหนังสือรับรองการแจ้งตามมาตรา ๙ ให้คณะผู้เริ่ม
จัดตั้งพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือวันที่ได้รับแจ้งการแก้ไขตามมาตรา ๙
วรรคสาม เมื่อได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าหนังสือเชิญชวนมีรายการถูกต้องครบถ้วน ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) มีชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมาย และแนวนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะตาม
มาตรา ๘
(๒) คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม
มาตรา ๘ และ
(๓) ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองไม่มีลักษณะเป็นการชวนเชื่อ
และไม่ซ้ำหรือพ้องหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของ
คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา ๙ หรือของพรรคการเมืองอื่นที่ได้จดทะเบียน
ตามมาตรา ๒๑ ไว้ก่อนแล้ว หรือของพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตาม
มาตรา ๗๘ หรือมาตรา ๗๙ เว้นแต่จะได้ล่วงพ้นระยะเวลากำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง
ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น
เมื่อได้รับหนังสือรับรองการแจ้งแล้ว ให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองมีสิทธิโฆษณา
เชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิก และดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมืองได้ หนังสือรับรองการแจ้งนั้นให้
ใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันที่ออก
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า หนังสือเชิญชวนมีรายการไม่ถูกต้อง
ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามมาตรา ๑๐ (๑) หรือ (๓) หรือตามมาตรา ๑๐ (๒) และมีผู้เริ่มจัดตั้งพรรค
การเมืองเหลืออยู่ไม่ถึงสิบห้าคน ให้นายทะเบียนสั่งไม่รับแจ้งและบอกกล่าวเป็นหนังสือพร้อมทั้ง
เหตุผลที่สั่งไม่รับแจ้งไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งไม่รับแจ้งตามมาตรา ๙ วรรคสอง หรือ
มาตรา ๑๑ คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้วินิจฉัย
ชี้ขาดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าชื่อหรือชื่อย่อของพรรคการเมืองหรือภาพ
เครื่องหมายพรรคการเมืองของคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่ปรากฏในหนังสือเชิญชวนซ้ำหรือ
พ้องหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อหรือชื่อย่อของพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง
ของคณะผู้เริ่มจัดตั้งของพรรคการเมืองอื่นที่ได้แจ้งไว้ในวันเดียวกัน ให้นายทะเบียนดำเนินการต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือบอกกล่าวไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้
ทำความตกลงกันว่า คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดจะเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือ
ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อได้ตกลงกันเป็นประการใดแล้ว ให้นายทะเบียนรับแจ้งตาม
ที่ได้ตกลงกัน การตกลงกันดังกล่าวให้กระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
บอกกล่าว
(๒) ในกรณีที่คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องยืนยันไม่ยอมตกลงกันหรือ
เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวใน (๑) แล้วยังตกลงกันไม่ได้ ให้นายทะเบียนดำเนินการจับฉลากโดย
เปิดเผยเพื่อให้ได้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีสิทธิใช้ชื่อ ชื่อย่อของพรรคการเมืองหรือภาพ
เครื่องหมายพรรคการเมือง และให้นายทะเบียนพิจารณารับแจ้งจากคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตาม
ผลของการจับฉลากนั้น
ให้นายทะเบียนบอกกล่าวการรับแจ้งตาม (๒) เป็นหนังสือไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรค
การเมืองที่เกี่ยวข้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบผลตาม (๒)
มาตรา ๑๔ เมื่อคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งจาก
นายทะเบียน ได้ดำเนินการเชิญชวนผู้อื่นให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ครบห้าพันคนตามที่กำหนดไว้
ในมาตรา ๘ แล้ว ให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองนัดประชุมผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิก เพื่อจัดตั้ง
พรรคการเมือง
มาตรา ๑๕ การเรียกประชุมตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งให้บรรดาผู้ลงชื่อเข้าเป็น
สมาชิกทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งระเบียบ
วาระการประชุมพร้อมทั้งบัญชีรายชื่อผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกทั้งหมดให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบด้วย
มาตรา ๑๖ การประชุมตั้งพรรคการเมืองต้องมีผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกมาประชุม
ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมตั้งพรรคการเมืองให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกกันเองให้ผู้หนึ่งทำหน้าที่
ประธานในที่ประชุม
คำวินิจฉัยของที่ประชุมให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มาประชุม
คนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้น
อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การลงคะแนนเสียงในที่ประชุมตั้งพรรคการเมืองให้ลงคะแนนโดยวิธีเปิดเผย ยกเว้น
ในกรณีที่ผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มาประชุมเกินกว่ากึ่งหนึ่งร้องขอให้ลงคะแนนลับ ก็ให้ลงคะแนนลับ
มาตรา ๑๗ กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งพรรคการเมือง คือ
(๑) การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งต้องไม่ขัดแย้งกับมาตรา ๘
และสอดคล้องกับแนวนโยบายตามหนังสือเชิญชวน
(๒) การกำหนดข้อบังคับของพรรคการเมือง
(๓) การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
มาตรา ๑๘ ข้อบังคับของพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ และชื่อย่อของพรรคการเมือง
(๒) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง
(๓) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง
(๔) การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุด และการออกจากตำแหน่งของ
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง และอำนาจหน้าที่ของ
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
(๕) แผนและกำหนดเวลาในการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง อำนาจหน้าที่ของสาขา
พรรคการเมือง การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุด และการออกจากตำแหน่งของกรรมการสาขา
พรรคการเมือง และอำนาจหน้าที่ของกรรมการสาขาพรรคการเมือง
(๖) การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและการประชุมของสาขาพรรคการเมือง
(๗) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
(๘) ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก
(๙) การรับเข้าเป็นสมาชิกและการให้ออกจากการเป็นสมาชิก
(๑๐) วินัยและจรรยาบรรณของสมาชิก กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการ
สาขาพรรคการเมือง
(๑๑) หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
(๑๒) การบริหารการเงินและทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของพรรคการเมืองและ
สาขาพรรคการเมือง
(๑๓) รายได้ของพรรคการเมือง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค
และการบริจาคแก่พรรคการเมือง
(๑๔) การให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป
(๑๕) การเลิกพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง
มาตรา ๑๙ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง
รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรค
การเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่น ซึ่งเลือกตั้งจากสมาชิกซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า
ยี่สิบปีบริบูรณ์
มาตรา ๒๐ ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นคำขอจดทะเบียน
พรรคการเมืองตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้ง
พร้อมทั้งส่งนโยบายของพรรคการเมืองและข้อบังคับของพรรคการเมืองอย่างละสามฉบับ ทะเบียน
ประวัติผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และสำเนารายงานการประชุมตั้งพรรค
การเมือง
แบบคำขอจดทะเบียนพรรคการเมืองนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ และชื่อย่อของพรรคการเมือง
(๒) ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง
(๓) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง
(๔) ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
(๕) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกอย่างน้อยต้องมีหมายเลขประจำตัว
ประชาชน ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้ลงชื่อเข้าเป็นสมาชิก พร้อมสำเนาใบสมัครเข้าเป็น
สมาชิกที่ผู้สมัครได้ลงลายมือชื่อไว้
มาตรา ๒๑ เมื่อได้รับคำขอจัดตั้งพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพิจารณาตรวจสอบ
ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม
มาตรา ๘ และมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไป
(๒) สมาชิกตามทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อรวมกับจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง
มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคน โดยเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๖
(๓) ข้อบังคับและนโยบายของพรรคการเมือง มีลักษณะที่ไม่ขัดต่อมาตรา ๘
(๔) เอกสารการขอจัดตั้งพรรคการเมืองมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๑๘
และมาตรา ๒๐
(๕) คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ และ
(๖) ชื่อ และชื่อย่อของพรรคการเมืองและภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองเป็นไปตามที่
กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐ (๓)
ในกรณีที่นายทะเบียนตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้นายทะเบียน
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งจดทะเบียนพรรคการเมือง และแจ้งเป็นหนังสือ
ให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจัดตั้งพรรคการเมือง
ในกรณีที่นายทะเบียนตรวจสอบแล้วเห็นว่าคุณสมบัติหรือจำนวนของผู้เริ่มจัดตั้ง
พรรคการเมือง และสมาชิกของพรรคการเมือง หรือนโยบายและข้อบังคับของพรรคการเมือง หรือ
คุณสมบัติ หรือตำแหน่งจำนวนของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือชื่อพรรคการเมือง
หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง ไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) (๕) และ (๖)
ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งไม่รับจดทะเบียนพรรคการเมือง
และแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่
นายทะเบียนได้รับคำขอจัดตั้งพรรคการเมือง
ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดทะเบียนพรรคการเมือง
ของนายทะเบียนตามวรรคสามมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดภายใน
สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับจดทะเบียนพรรคการเมืองจากนายทะเบียน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใดแล้ว ให้นายทะเบียนปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น
มาตรา ๒๒ ในการรับจดทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา ๒๑ วรรคสอง
ให้นายทะเบียนประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยระบุชื่อ และชื่อย่อของพรรคการเมือง
ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง ข้อบังคับของพรรคการเมือง ชื่อหัวหน้า
พรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง
เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
มาตรา ๒๓ ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล
มาตรา ๒๔ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของพรรคการเมือง ข้อบังคับของพรรค
การเมือง หรือรายการตามมาตรา ๒๐ (๔) ที่จดแจ้งไว้กับนายทะเบียน หรือรายละเอียดที่แจ้งไว้ในแบบ
ตามมาตรา ๓๘ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายใน
สามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พิจารณาแก้ไขรายละเอียดดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับแจ้งการตอบรับ
การเปลี่ยนแปลงจากนายทะเบียน และให้นำมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลา
ตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นภายใน
ระยะเวลาที่กำหนด
การแก้ไขรายการที่ได้ประกาศไว้ตามมาตรา ๒๒ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๒
การดำเนินกิจการของพรรคการเมือง
มาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนิน
กิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายของพรรคการเมือง ข้อบังคับของพรรค
การเมือง และมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต
เพื่อประโยชน์ของประเทศ
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับ
บุคคลภายนอก เพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการบริหารคนหนึ่ง
หรือหลายคนทำการแทนก็ได้
มาตรา ๒๖ ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า
สิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อม
เอกสารประกอบตามที่นายทะเบียนกำหนดต่อพรรคการเมืองที่ผู้นั้นประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ตามสถานที่ที่พรรคการเมืองกำหนด และให้พรรคการเมืองส่งสำเนาใบสมัครและเอกสารประกอบ
ดังกล่าวให้นายทะเบียน
ในกรณีที่พรรคการเมืองใดแอบอ้างชื่อผู้ใดเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ของตนโดยผูนั้นไม่รู้หรือไม่สมัครใจ ผู้ที่ถูกแอบอ้างอาจแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
และพิจารณาลบชื่อของผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคการเมืองต้องจัดทำ
ทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง เก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง และ
พร้อมที่จะให้นายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตรวจสอบได้
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงพร้อมด้วยรายชื่อ
อาชีพ และที่อยู่ของสมาชิกดังกล่าวตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดให้นายทะเบียนทราบภายใน
วันที่เจ็ดของทุกเดือน และให้สรุปยอดจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงทั้งหมดในรอบปีให้
นายทะเบียนทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้งนายทะเบียนภายในระยะเวลาตามวรรคสี่
ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด
ทะเบียนสมาชิกให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด
มาตรา ๒๗ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๖
(๔) พรรคการเมืองมีมติให้ออกตามข้อบังคับของพรรคการเมือง
(๕) พรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกเลิกหรือยุบไป
(๖) เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันเกินกว่าหนึ่งพรรคการเมือง
การลาออกจากสมาชิกตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้ถือว่าสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อ
หัวหน้าพรรคการเมือง
การสิ้นสุดของสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง (๔) ถ้าสมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย มติของพรรคการเมืองต้องเป็นมติของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการ
บริหารพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น และมติดังกล่าวต้อง
มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองทั้งหมด และการลงมติให้ลงคะแนนลับ แต่ถ้าสมาชิกผู้นั้น
ได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ คัดค้านว่ามติดังกล่าว
มีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้
มีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาล
รัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม
ของรัฐธรรมนูญ สมาชิกผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
การอุทธรณ์ของสมาชิกต่อศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามกฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งรายงานหรือเอกสารเกี่ยวกับการมีมติตามวรรคสาม
ไปยังประธานรัฐสภาและนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ
การสิ้นสุดของสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง (๕) ถ้าสมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยและไม่อาจเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวัน
นับแต่วันที่พรรคการเมืองเลิกหรือยุบไป ให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่
ครบหกสิบวันนั้น
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้าเป็น
สมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อ
ประโยชน์ของพรรคการเมือง
ห้ามมิให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใด ๆ
ในพรรคการเมืองหรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง
ห้ามมิให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง
หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือตำแหน่งอื่นใดของพรรคการเมือง
มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน
ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด
สมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์
อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือผู้ใด เพื่อยอมสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดพรรคการเมือง
หนึ่ง
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันเกินกว่า
หนึ่งพรรคการเมือง
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจ
ว่าเป็นพรรคการเมือง หรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า “พรรคการเมือง” หรืออักษรต่างประเทศ
ซึ่งแปลหรืออ่านว่า “พรรคการเมือง” ในดวงตรา ป้าย ชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่น
หรือในข้อมูลทางการสื่อสารใด ๆ โดยมิได้เป็นพรรคการเมือง
มาตรา ๓๓ การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ให้พรรคการเมืองกระทำโดยที่ประชุมใหญ่
ของพรรคการเมือง
(๑) การเปลี่ยนแปลงนโยบายของพรรคการเมือง
(๒) การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของพรรคการเมือง
(๓) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค
การเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และ
กรรมการบริหารอื่น
(๔) การอื่นตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา ๓๔ ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต้องประกอบด้วยคณะกรรมการ
บริหารพรรคการเมือง ผู้แทนของสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนสมาชิกซึ่งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า
สองในสามของที่ประชุม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง
มาตรา ๓๕ สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่
ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า
หนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน
มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมืองได้
มาตรา ๓๖ เมื่อปรากฏว่าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดให้พรรคการเมืองกระทำการใด ๆ ฝ่าฝืนนโยบายของ
พรรคการเมืองหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายใน
และภายนอกราชอาณาจักร กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย
หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น
ประมุขตามรัฐธรรมนูญ แต่ลักษณะการกระทำยังไม่รุนแรงจนเป็นสาเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมือง
ตามมาตรา ๗๙ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือให้หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการ
บริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้น
ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในกรณีที่นายทะเบียนเตือนเป็นหนังสือแก่บุคคลที่ไม่ใช่
หัวหน้าพรรคการเมือง ต้องส่งสำเนาหนังสือเตือนนั้นให้หัวหน้าพรรคการเมืองทราบโดยเร็ว
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการ
บริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจ
ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้า
พรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่งได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหาร
พรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง
อีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า
หนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวน
ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า
ห้าสิบคนเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะ
และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการ
พื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ