เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญเดิมกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราที่ 96-101

ข่าวการเมือง Tuesday June 26, 2007 14:24 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดิม)
- มาตรา ๙๖ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๓) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๙๔ (๑) (๒)
หรือ (๔)
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๕) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำ
โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่
หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สิน
เพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๘) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
(๙) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๑๐) เป็นสมาชิกวุฒิสภา
(๑๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่น
ของรัฐ
(๑๒) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(๑๓) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๔
(๑๔) เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๖๕ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
มาตรา ๙๗ พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด
จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
มาตรา ๙๘ เมื่อพรรคการเมืองใดส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองนั้นหรือ
ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น จะถอนการสมัครรับเลือกตั้งมิได้
มาตรา ๙๙ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งในระหว่างอายุของ
สภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีการดำเนินการเพื่อควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ให้การควบรวมพรรคการเมืองนั้นมีผลเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
มาตรา ๑๐๐ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๐๑ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙๕
(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓)
หรือ (๑๔)
(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๕๖ หรือมาตรา ๒๕๗
(๗) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อย
กว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัด
พรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุด
สมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมืองมีมติ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาล
รัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ คัดค้านว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๖๔
วรรคสาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา ๖๔ วรรคสาม ให้ถือว่าสมาชิก
ภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา
๖๔ วรรคสาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับ
แต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
(๘) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาล
รัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น
(๙) วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๖๕ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิก
ภาพตามมาตรา ๘๙ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติหรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
แล้วแต่กรณี
(๑๐) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนด
เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
(๑๑) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
- มาตรา ๑๐๙ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(๓) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๖ (๑) (๒)
หรือ (๔)
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๕) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความ
ผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่
หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (
๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สิน
เพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๘) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
(๙) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๑๐) เป็นสมาชิกวุฒิสภา
(๑๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็น
เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(๑๒) เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาล
รัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงิน
แผ่นดิน
(๑๓) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๙๕
(๑๔) เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา ๓๐๗ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและยังไม่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่
วุฒิสภามีมติจนถึงวันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๐๘ พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด จะส่งได้คนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น
มาตรา ๑๑๔ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๑๗ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๑๘ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐๗
(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๙ (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓)
หรือ (๑๔)
(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๐ หรือมาตรา ๑๑๑
(๗) ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
(๘) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อย
กว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัด
พรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุด
สมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมืองมีมติ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาล
รัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับ
แต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัย
๙) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาล
รัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น
(๑๐) วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๓๐๗ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจาก
สมาชิกภาพตามมาตรา ๙๖ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติหรือศาลรัฐธรรมนูญมี
คำวินิจฉัย แล้วแต่กรณี
(๑๑) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
(๑๒) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม (๗) ให้มีผลในวันถัดจากวันที่ครบสามสิบวัน
นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตรา 96
ปรับปรุง (๒) ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายเกี่ยวกับการล้มละลาย และปรับปรุง (๕)
โดยไม่กำหนดโทษขั้นต้น ๒ ปี เพื่อให้บุคคลที่ถูกจำคุกไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเท่าใด ถ้ายังไม่เกิน ๕ ปี
จะถูกตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ประสงค์ให้ผู้มีเหตุมัวหมองปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา 97 แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะกำหนดให้ใช้พื้นที่เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นและในแต่ละเขตมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งได้มาก
กว่าหนึ่งคน
แก้ไขมาตรา 98
กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ในระหว่างการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร
รับเลือกตั้งถอนการสมัครออก ทำให้ไม่อาจจัดการเลือกตั้งหรือเป็นการช่วยเหลือพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับ
เลือกตั้งอื่นได้ประโยชน์
แก้ไขมาตรา 99
เพิ่มกรณีมิให้มีการควบรวมพรรคในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันการที่พรรคใหญ่
หรือพรรคที่มีทุนค่อนข้างสูงซื้อตัวสมาชิกฯ เข้าสังกัด อันเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรค
การเมืองเล็ก ๆ หรือพรรคการเมืองที่มีทุนค่อนข้างน้อย รวมทั้งเพื่อให้พรรคการเมืองนั้นคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตาม
นโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ตลอดอายุของสภาผู้แทนราษฎร
แก้ไขมาตราที่ 101
แก้ไขให้สอดคล้องกับการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
ไม่ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ