งานศึกษาค้นคว้า: คาดการณ์จีดีพีไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 4.3%...แนวโน้มไตรมาสสุดท้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 15:34 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

คาดการณ์จีดีพีไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 4.3% ... แนวโน้มไตรมาสสุดท้าย

อาจลงไปต่ำกว่า 4% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

จากเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนที่หน่วยงานต่างๆ ได้มีการรายงานล่าสุด ตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านของเดือนกันยายน 2551 สะท้อนว่าผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศและเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 มีทิศทางชะลอตัวลงค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มที่การชะลอตัวจะยังคงต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ ไป

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 ... ขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 3/2551 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 24 พฤศจิกายน จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับ

ปีที่ 14 ฉบับที่ 2342 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2551

เครื่องชี้เศรษฐกิจ และประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

(หน่วย: อัตราการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นระบุ)

ไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ไตรมาสที่ 3 ปี 2551

          ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน                     4.0%                     5.2%
          ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน                           4.7%                     3.5%
          ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                           10.1%                     7.7%
          ดัชนีผลผลิตพืชผล                                24.1%                    17.1%
          การส่งออก                                    26.3%                    25.5%
          การนำเข้า                                    29.3%                    39.1%
          ดุลการค้า (ล้านดอลลาร์ฯ)                          425                   -1,296
          จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ                  14.1%                    -1.7%
          ดุลบัญชีเดินสะพัด (ล้านดอลลาร์ฯ)                  -1,016                   -2,461
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป                               7.5%                     7.3%
          ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)                5.3%                     4.3% *

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์

  • ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ชะลอลงอย่างมาก จากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2/2551 ขณะเดียวกัน ถ้าหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่ 2/2551 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี

  • สาเหตุที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ที่สำคัญเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการลงทุน และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.46 พันล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 1.02 พันล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสที่ 2/2551 และเป็นการขาดดุลในรูปดอลลาร์ฯ สูงสุดในรอบ13 ไตรมาส (หรือในรอบ 9 ไตรมาส ตามมูลค่าในรูปเงินบาท) ตามการชะลอตัวของการส่งออกและการหดตัวในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งรวมถึงมีการชุมนุมปิดสนามบิน
ในช่วงต้นเดือนกันยายน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวไปกว่า 10,000 ล้านบาทเฉพาะในเดือนกันยายนเดือนเดียว สำหรับการบริโภคของภาคเอกชนอาจยังไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าจะลดลงจากในไตรมาสที่ 2/2551 ก็ตาม โดยการลดลงของเงินเฟ้อเป็นผลมาจากการดำเนินการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน” ของรัฐบาลซึ่งช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพแก่ประชาชน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศลดลงประมาณร้อยละ 30 ณ สิ้นเดือนกันยายน จากระดับที่ขึ้นไปสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3/2551 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2/2551 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบประมาณ 10 ปี
  • ในด้านการผลิต จากเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน คาดว่าภาคเกษตรกรรมมีอัตราการขยายตัวชะลอลง โดยเป็นผลจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็มีทิศทางชะลอตัวส่วนภาคการก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคารคาดว่าจะหดตัวลงตามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ... วิกฤติการเงินโลกกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว

  • ความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคือ ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ที่ขยายผลลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินในระดับโลก ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยวิกฤตการณ์การเงินในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นับจากเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ที่เริ่มต้นในปี 1928 ปัญหาการชะลอตัวรุนแรงหรืออาจถึงขั้นถดถอยของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ซึ่งอัตราการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มชะลอลง จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ โดยเป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวมากขึ้น หลังจากในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจหดตัว
ลงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อเทียบต่อปี (Annualized Q-o-Q) ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่นจะยังคงอ่อนแอ หลังจากมีการคาดหมายว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจทั้งสองจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในขณะนี้ต่างได้รับผลกระทบจากผลพวงของวิกฤติการเงินโลก และเครื่องชี้เศรษฐกิจเริ่มสะท้อนการชะลอตัว ทางการของแต่ละประเทศจึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาในบางประเทศรุนแรงถึงขั้นประสบปัญหาทางการเงิน จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยจึงจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในปี 2552 ทั้งนี้ ตามรายงาน World Economic Outlook ณ ตุลาคม 2551 IMF คาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าของโลก (Trade in Goods) ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 ในปี 2552 จากร้อยละ 22.6 ในปี 2551 (ซึ่งถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกของไทยและการส่งออกของโลกในระยะหลายปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกัน) โดยที่สำคัญ
เป็นผลจากด้านราคาสินค้าที่ระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีคงจะทรงตัวจากปีก่อนหน้า และขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกหลายประเภทของไทยเริ่มออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อใหม่ที่จะส่งมอบในปีหน้าหายไปถึงร้อยละ 20-30
  • ความเสี่ยงที่สำคญั อีกประการหนึ่งคือสถานการณ์ทางการเมือง ภาพเหตุการณ์การประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ขยายวงกว้างในช่วงต้นเดือนกันยายน และตามมาด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาที่นำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ โดยการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากการยกเลิกแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นกว่าช่วงเดือนกันยายนเนื่องจากการชุมนุมจำกัดวงอยู่เพียงในกรุงเทพฯ ในพื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันเป็นส่วนใหญ่โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมุ่งสู่จังหวัดท่องเที่ยวโดยตรงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่จะมีบ้าง
ในส่วนของนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่มองสถานการณ์ในประเทศไทยผ่านข่าวสารที่ออกไปในสื่อต่างประเทศ ที่อาจกังวลในด้านความปลอดภัย สำหรับแนวโน้มการลงทุน สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อย ยังคงชะลอแผนการลงทุนเอาไว้ก่อน โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่ต่อไปแม้มีรัฐบาลใหม่ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศต่อ
จากนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องคำพิพากษาให้มีความผิดในกรณีรับจ้างดำเนินรายการโทรทัศน์ของเอกชน ซึ่งตารางเวลาทางการเมืองนับจากนี้ จุดสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามองคือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมือง 3 พรรค คือพรรคพลังประชาชน ชาติไทย
และมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอีกครั้งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อเกิดวิกฤติการเงินอันส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกตึงตัว ธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตของยอดขายที่ลดลง ส่งผลต่ออัตรากำไรหรือบางรายประสบปัญหาขาดทุน ขณะที่การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมีความยากลำบากขึ้น สภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่ไม่เอื้ออำนวยนี้จะเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งต่อแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า
  • อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจส่งผลดีต่อการบริโภคของภาคเอกชนคือ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือ โอเปคจะประกาศลดกำลังการผลิตลง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ราคาก็ยังมีทิศทางปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือน (นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550) ที่ 57.69 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ลดลงประมาณร้อยละ 60 จากช่วงสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าโอเปคอาจจะพิจารณาลดการผลิตลงอีก อย่างไรก็
ตาม ด้วยภาวะอุปสงค์ที่อ่อนแออาจเป็นผลให้ราคาน้ำมันคงปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนักในระยะสั้นส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ยลดลงมากว่าร้อยละ 40 จากช่วงสูงสุดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าถ้าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายน่าจะต่ำลงมาได้มาก โดยอาจมีค่าเฉลี่ยลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในไตรมาสที่ 4/2551 จากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่ 3/2551
  • ในด้านการใช้จ่ายของรัฐบาล คาดว่ารัฐบาลคงจะพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 อยู่ที่ 1,835,000 ล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลมูลค่า 249,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 ของจีดีพี ขณะที่รัฐบาลได้แสดงความตั้งใจที่จะเร่งดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งเพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการ 6 ชุด อันได้แก่ มาตรการด้านตลาดทุน มาตรการด้านสภาพคล่องการเร่งรัดรายได้ส่งออกและท่องเที่ยว การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การเร่งดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ และการสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมการเงินเอเชีย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวทางที่จะจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมอีกจำนวน 100,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มเข้ามานี้จะทำให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4 ของจีดีพี แต่ยังไม่น่าจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ต้องการรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี และรักษาระดับภาระหนี้ของรัฐบาลต่อวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ไม่เกินร้อยละ 15
  • ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวมากขึ้น โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ระหว่างร้อยละ 4.7-5.0 เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550 ขณะที่การ

ชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2/2551 โดยสาเหตุสำคัญเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกและการหดตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขณะที่การบริโภคอาจยังไม่ดีขึ้นมากนักเนื่องจากแรงกดดันราคาสินค้ายังคงเป็นระดับที่สูง โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2/2551 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบประมาณ 10 ปี สำหรับกิจกรรมในภาคการผลิตส่วนใหญ่อ่อนแรงลง ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ส่วนภาคการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวและภัตตาคารอาจหดตัวลง

สำหรับแนวโน้มไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศสูงขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ จากการที่ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลลุกลามรุนแรงกลายเป็นวิกฤติการเงินในระดับโลก ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยนอกจากกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก หรือกลุ่ม G3 คือสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นคงแทบไม่มีการเติบโตหรืออาจถดถอยในปี 2552 ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวโน้มชะลอตัว และบางประเทศอาจประสบปัญหาทางเงิน ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งคงจะเริ่มเห็นการชะลอตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2551 และผลกระทบคงจะปรากฏชัดยิ่งขึ้นในปี 2552 และขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกหลายประเภทของไทยเริ่มออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อใหม่ที่จะส่งมอบในปีหน้าลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ท่ามกลางสภาวะที่โลกเผชิญวิกฤติอย่างหนักหน่วง สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนจะยิ่งฉุดรั้งโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อปัจจัยความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวของต่างชาติก็มีแนวโน้มถูกกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคประเทศต่างๆ รวมทั้งปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์การเมืองของไทยยังมีความไม่สงบ ก็จะยิ่งส่งผลให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่ยังมีศักยภาพเลือกที่จะหันไปหาประเทศอื่นที่มีความสงบเรียบร้อยและมีปัจจัยดึงดูดมากกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่คาดว่าอาจจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ คือการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงได้มาก นอกจากนี้ในภาวะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน คือ การส่งออก การบริโภคและการลงทุนของเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว หลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเองก็มีแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่าย รวมทั้งผลักดันโครงการลงทุนในเมกะโปรเจคต์นอกจากนี้ยังมีแนวทางจัดทำงบกลางปีสำหรับปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จะมีส่วนช่วยให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้นและช่วย บรรเทาปัญหาการว่างงานได้ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจะเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้มากขึ้นเพื่อประสานกับนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวมากขึ้น โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ระหว่างร้อยละ 4.7-5.0 และคาดว่าอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงนี้จะยังคงต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 สำหรับประเด็นความท้าทายในด้านนโยบายในระยะข้างหน้าประกอบด้วย

  • การบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว ในภาวะที่เศรษฐกิจที่เป็นตลาดหลักของไทยคงมีการขยายตัวต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาคคงมีแนวโน้มชะลอตัว การขยายตลาดส่งออกไปสู่ตลาดใหม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ภาครัฐควรมีบทบาทในด้านการสนับสนุนข้อมูลตลาดใน
ประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแสวงหาตลาดที่มีกำลังซื้อ ขณะที่ผู้ประกอบการคงต้องมีการจัดการต้นทุนที่ดีเพื่อให้แข่งขันได รวมทั้งมีการปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด ที่ผู้บริโภคคงมุ่งเน้นความประหยัดมากขึ้น การแข่งขันด้านราคาอาจรุนแรงขึ้น ยิ่งถ้าหากเกิดกระแสการตัดราคาเพื่อระบายสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ก็จะยิ่งกดดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องลงมาใช้กลยุทธ์ปรับราคาลงแข่งขันด้วย การมีมาตรการชั่วคราว เช่น การลดภาษี หรือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการก็อาจเป็นแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบได้บ้าง
  • นโยบายการคลัง แม้ว่างบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2552 จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีงบกลางปีเพิ่มเข้ามาอีก 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูงถึงร้อยละ 3.5 ของจีดีพี (และจะเป็นอัตราการขาดดุลสูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2545 ที่มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลร้อยละ 3.6 ของจีดีพี) แต่ผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของรัฐ รวมถึงคุณภาพและประสิทธิผลของโครงการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลทวีคูณในระบบเศรษฐกิจ อุปสรรคที่สำคัญคือความต่อเนื่องของนโยบายที่อาจถูกกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และความล่าช้าในขั้นตอนการดำเนินโครงการลงทุนโครงการขนาดใหญ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินงบประมาณที่ลงไปสู่เศรษฐกิจอย่างแท้จริงอาจไม่สูงดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ ปัญหาทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ก็อาจทำให้ประสิทธิผลทางนโยบายไม่สามารถสร้างผลทวีคูณให้เกิดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในเศรษฐกิจตามมาดังเช่นยามที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ
  • นโยบายด้านการเงิน ในสภาวะที่ตลาดการเงินของไทยอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องตึงตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความผันผวนในตลาดทุนโลกที่จะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ บทบาทหน้าที่ของ
ธนาคารแห่งประเทศไทยนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยไม่เพียงแต่ในด้านการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังต้องให้การดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้เพียงพอ รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคอยู่แล้ว ก็คงช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่งแต่แนวโน้มในระยะข้างหน้ามีโอกาสที่ค่าเงินบาทอาจจะมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น โดยถ้าพิจารณาในด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แล้ว ความอ่อนแอของเศรษฐกิจ การขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากมาตรการกอบกู้วิกฤติในภาคการเงิน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อาจมีแนวโน้มลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ คงจะเป็นแรงกดดันให้ในที่สุดแล้วค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจจะต้องอ่อนค่าลง
  • การรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน ในภาวะที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพีมีแนวโน้มประสบปัญหา รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมหาแนวทางรับมือ ซึ่งการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การสร้าง

ตำแหน่งงานคงต้องมีมาตรการรองรับการถ่ายโอนแรงงานจากธุรกิจที่มีปัญหา ไปสู่ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ควรต้องจัดให้มีโครงการพัฒนาทักษะฝีมอื แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากขึ้นนอกจากนี้ ควรมีโครงการพัฒนาชุมชนชนบทให้สามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตในท้องถิ่น สนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อรองรับแรงงานที่อาจไหลกลับจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

Disclaimer

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยง เองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

-พห-

แท็ก จีดีพี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ