ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน สิงหาคม 2555

ข่าวทั่วไป Monday September 3, 2012 16:11 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนสิงหาคม 2555 ปรับตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง

เงินเฟ้อทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2555 เท่ากับ 116.28 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา(กรกฎาคม 2555) สูงขึ้นร้อยละ 0.40 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (สิงหาคม 2554) สูงขึ้นร้อยละ 2.69 และเทียบเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม) ของปี 2555 กับช่วงเดียวกัน ของปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.89 เป็นการปรับตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ตามการอ่อนตัวลงของราคาสินค้าประเภทอาหารสดเป็นสำคัญ แสดงถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีตามการบริหารจัดการนโยบายของภาครัฐบาล รวมถึงการกำกับดูแลราคาสินค้าและโครงสร้างราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2555 เท่ากับร้อยละ 3.30 - 3.80 โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค มีผลมาจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 0.31 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอาหารสดสูงขึ้นร้อยละ 0.53 ซึ่งเป็นการสูงขึ้นที่ชะลอตัวลงตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด เป็นต้น สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้เครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูป ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.44 ตามการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ รวมทั้งสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา ค่าของใช้ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์สุรา เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2555

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2555

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนสิงหาคม 2555 เท่ากับ 116.28 (เดือนกรกฎาคม 2555 เท่ากับ 115.82)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2555 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.40

2.2 เดือนสิงหาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.69

2.3 เทียบเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม) 2555 กับระยะเดียวกันของปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.89

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2555 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.35) เป็นการสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.31 โดยสินค้าประเภทอาหารที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม ผักสด เครื่องประกอบอาหาร ผลไม้สด เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารสำเร็จรูป สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลงตามปริมาณผลผลิตและภาวะตลาด ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสัตว์สด น้ำตาลทราย เป็นต้น

สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.44 สูงขึ้นเนื่องจาก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผ้าและเสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าน้ำประปา ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่น ปรับลดราคาลงตามการส่งเสริมการจำหน่าย

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.31 สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด ได้แก่ ผักสด สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (แตงกวา ผักคะน้า ผักบุ้ง มะนาว ต้นหอม ผักชี พริกสด) เนื่องจากมีฝนตกชุกทำให้ผักสดบางชนิดได้รับความเสียหาย ไข่ไก่ร้อยละ 0.18 นมและผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.13 (นมสด นมผง นมข้นหวาน) ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.43 (ปลาช่อน ปลาน้ำทะเลสด) ผลไม้สดร้อยละ 0.94 (ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก สับปะรด มะม่วง แตงโม ฝรั่ง ชมพู่ ลองกอง ลิ้นจี่) เครื่องปรุงรส ร้อยละ 0.24 (ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.41 (น้ำอัดลม น้ำผลไม้ กาแฟ(ร้อน/เย็น)) และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.07 (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกลางวัน อาหารเย็น) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.15 ข้าวสารเหนียว ร้อยละ 0.08 เนื้อสัตว์สด ร้อยละ 0.40 (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู) และไก่สด ลดลงร้อยละ 0.79 เป็นต้น

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.44 (เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.28) จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ0.10 (เครื่องแบบข้าราชการชาย เสื้อยกทรง) ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.11 วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.10 (ปูนซีเมนต์ อิฐ ค่าแรงช่างไฟฟ้า ค่าแรงช่างประปา) ค่าน้ำประปา ร้อยละ 0.82 รวมถึงสินค้าและบริการอื่นที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.43 (ยาแก้ไอ ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ค่าตรวจโรคคลีนิคเอกชน ค่าถอนฟัน) ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.04 (แชมพูสระผม ลิปสติก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำหอม น้ำมันใส่ผม กระดาษชำระ) ผลิตภัณฑ์ยาสูบสูงขึ้น ร้อยละ 3.25 (บุหรี่)และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.57 (เบียร์ ไวน์ สุรา) บุหรี่และสุรามีการปรับภาษีสรรพสามิตมีผลเมื่อ 22 สิงหาคม 2555 สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางรายการ อุปกรณ์ยานพาหนะ (แบตเตอรี่รถยนต์) และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนสิงหาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.69 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 4.02 โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น ร้อยละ 2.04 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 4.26 ผักและผลไม้ ร้อยละ 17.23 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 4.10 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.11 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 3.86 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 1.84 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.70 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 1.05 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.06 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.58 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.42 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาสูงขึ้น ร้อยละ 0.60

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2555 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.89 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.70 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.13 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 2.46 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 2.02 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.86 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.22 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 7.05 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.71 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 6.64 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 5.56 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 13.52 หมวดยานพาหนะสูงขึ้นร้อยละ 0.40 และน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 0.45 เป็นต้น

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ)

คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2555 เท่ากับ 108.52 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.17

6.2 เดือนสิงหาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 1.76

6.3 เทียบเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม - สิงหาคม) 2555 กับระยะเดียวกัน ของปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.23

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนสิงหาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.17 (เดือนกรกฎาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.03) จากการเคลื่อนไหวสูงขึ้นและลดลงของราคาสินค้าและบริการ ได้แก่ ผ้าและเสื้อผ้า ค่าน้ำประปา ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าของใช้และบริการส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์สุรา สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางชนิด (น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาซักแห้ง) เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนสิงหาคม 2555 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ