ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: คิดเห็นของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลกับการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558

ข่าวผลสำรวจ Thursday April 7, 2011 15:34 —ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์

คนไทยยิ้มรับ “ประชาคมอาเซียน” แต่ยังกังวลเรื่อง เศรษฐกิจและภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อสาร

ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และฝ่ายการตลาด SME ธนาคารทหารไทย ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,217 ตัวอย่าง

จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 64 ของกลุ่มตัวอย่าง รู้จักหรือเคยได้ยินคำว่า “ประชาคมอาเซียน” โดยหากจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามกลุ่มอาชีพจะพบว่า อาชีพรับราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจจะรู้จักประชาคมอาเซียนสูงที่สุด (ร้อยละ 76 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพรับราชการ /พนักงานรัฐวิสาหกิจ) เมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ

ในส่วนของความคิดเห็นต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เพียงร้อยละ 54 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ในขณะที่เกือบร้อยละ 40 ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ในเรื่องของการมีงานทำ ร้อยละ 60 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า หลังจากที่ไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คนไทยจะสามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ง่ายขึ้น และ ประมาณ ร้อยละ 30 ไม่แน่ใจว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยจะช่วยให้คนไทยสามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ง่ายขึ้นหรือไม่

หากจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามประเภทธุรกิจ จะพบว่า ร้อยละ 67 ของกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบธุรกิจทางด้านสถาปัตยกรรม /วิศวกรรม และ ร้อยละ 60 ของกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบธุรกิจประเภทบริการด้านสุขภาพเช่น แพทย์ ทันตกรรม เห็นด้วยว่า คนไทยจะสามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ง่ายขึ้นหลังไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง 2 กลุ่มอาชีพนี้จัดอยู่ใน 7 อาชีพ ที่แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีหลังเกิดประชาคมอาเซียน

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับไทย เพียงร้อยละ 57 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่เชื่อว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะดีขึ้นหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะที่ ร้อยละ 32 ระบุไม่แน่ใจ

ความคิดเห็นที่ว่าประเทศไทยมีความพร้อมมาก น้อยเพียงใดกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 94 เชื่อว่าไทยมีความพร้อม โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มนี้เชื่อว่า ความพร้อมของไทยอยู่ในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เห็นว่า ความพร้อมของไทยที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 35 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่เชื่อว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในขณะที่เกือบร้อยละ 40 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 20 เห็นว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องที่กลุ่มตัวอย่างกังวลใจมากที่สุดจากการที่ไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ (ร้อยละ 50) เช่น กลัวถูกแย่งงานทำจากแรงงานต่างชาติ กลัวจะมีปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงาน กลัวถูกต่างชาติเอาเปรียบด้านเศรษฐกิจ รองลงมาคือ ความกังวลใจในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

จากผลสำรวจจะพบว่า ในส่วนของคำตอบ “ไม่แน่ใจ” ในแต่ละข้อของแบบสอบถามมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง นั่นแสดงให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจผลกระทบของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยอย่างแท้จริง จึงเป็นภาระหน้าที่สำคัญของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้คนไทยตระหนักถึงผลที่จะตามมาทั้งด้านบวกและลบ จากการที่ไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้คนไทยได้เตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุดต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ