ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: ความคิดเห็นเกี่ยวกับความสุขของชาวกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5

ข่าวผลสำรวจ Tuesday February 24, 2009 15:28 —ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์

ความสุขของคนกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี่ที่แล้ว

ธุรกิจบัณฑิตย์โพล ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความสุขของชาวกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2522 โดยสอบถามชาวกรุงเทพฯ จำนวน 1,283 คน กระจายไปตาม เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา ผลการสำรวจโดยสรุปเป็นดังนี้

ความสุขของชาวกรุงเทพฯ เมื่อวัดจากการมีเงินพอใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ความเข้าใจและเห็นใจของสมาชิกในครอบครัว ความยินดีทำประโยชน์หรือกิจกรรมเพื่อสังคมเมื่อมีโอกาส ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเป็นอิสระในการใช้ความคิดในการทำงาน ความสำเร็จในหน้าที่การงาน การคิดดีและทำในสิ่งที่ดี และความพอใจในฐานะความเป็นอยู่ พบว่า อยู่ในระดับ 3.44 จากระดับสูงสุด 5.00 ซึ่งเมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา (มกราคม 2551) ซึ่งอยู่ในระดับ 3.42 ความสุขของคนกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.58 สาเหตุสำคัญซึ่งทำให้ความสุขของชาวกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นจาก 1 ปีที่ผ่านมาเรียงตามลำดับคือ ความเป็นอิสระในการใช้ความคิดในการทำงาน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.80) ความยินดีทำประโยชน์หรือกิจกรรมเพื่อสังคมเมื่อมีโอกาส (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39) การคิดดีและทำในสิ่งที่ดี(เพิ่มขึ้นร้อยละ1.10) และการมีเงินพอใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06) เรื่องที่ทำให้ชาวกรุงเทพฯมีความสุขลดน้อยลงมีเพียง 2 เรื่อง คือ ความสำเร็จในหน้าที่การงาน (ลดลงร้อยละ1.54) และความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจของสมาชิกในครอบครัว (ลดลงร้อยละ 0.28)

เมื่อพิจารณาความสุขของชาวกรุงเทพฯในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 1 ปีที่ผ่านมาจำแนกตาม เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา พบว่าชาวกรุงเทพฯเพศชายมีความสุขเท่าเดิม แต่เพศหญิงมีความสุขมากกว่าร้อยละ 1.1 ชาวกรุงเทพฯอายุ 18 — 39 ปีมีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในขณะที่ชาวกรุงเทพฯ อายุ 40 — 59 ปีมีความสุขเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.8 ชาวกรุงเทพฯเกือบทุกกลุ่มอาชีพมีความสุขเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพรับราชการและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมีความสุขเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.7 ยกเว้นกลุ่มอาชีพลูกจ้างทั่วไปและช่วยธุรกิจครอบครัวซึ่งมีความสุขลดลงเล็กน้อย สำหรับกลุ่มแม่บ้านมีความสุขเท่าเดิม ชาวกรุงเทพฯที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา / อาชีวศึกษามีความสุขเท่าเดิม

--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ