ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: ความคิดเห็นของคนกรุงเทพเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษารอบ 2

ข่าวผลสำรวจ Monday April 27, 2009 14:57 —ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์

ม.ธุรกิจเผยผลวิจัยปฏิรูปการศึกษาโพล

ธุรกิจบัณฑิตย์โพล โดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แถลงผลการวิจัย “ปฏิรูปการศึกษาโพล” เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ควรเน้นคุณภาพวิชาการของนักเรียนมากกว่าความประพฤติ และความคิดเห็นของครูผู้สอนในโรงเรียนนำร่องหลักสูตรใหม่ 2551 เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดจากการบังคับใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่าในปีการศึกษา 2552

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เปิดเผยผลโพลปฏิรูปการศึกษาของธุรกิจบัณฑิตย์โพล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ว่าคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,358 คน อยากให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นคุณภาพวิชาการของนักเรียนมากที่สุด ร้อยละ 46.38 รองลงไปเป็นความประพฤติของนักเรียนร้อยละ 20.88 นอกนั้นอยากให้ลดค่าใช้จ่ายลงร้อยละ 13.94 และอยากให้ลดการกวดวิชาลงร้อยละ 1.31 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเรียนฟรีที่ชาวกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 95.92 ที่ยินดีให้รัฐบาลทุกชุดใช้นโยบายนี้ตลอดไป

เมื่อถามว่าเมื่อรัฐบาลจัดให้เรียนฟรีแล้วจะนำเงินที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนไปทำอะไร ชาวกรุงเทพฯ จะนำไปเป็นทุนการศึกษาของบุตรในระดับสูง ร้อยละ 49.82 นำไปใช้จ่ายในครอบครัว ร้อยละ 31.54 และนำไปใช้หนี้ ร้อยละ 8.33 นอกจากนั้นชาวกรุงเทพฯ ยังเชื่อว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพจะส่งผลดีในคุณภาพการศึกษาของนักเรียนถึง ร้อยละ 41.68 รองลงมา คือทำให้สามารถแข่งขันทางการศึกษากับนานาประเทศได้ ร้อยละ 19.65 แต่เชื่อว่าจะลดการกวดวิชาลงได้เพียงร้อยละ 8.10 เท่านั้น

นอกจากนี้ รศ.ดร.สรชัย พิศาลบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยังได้เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของครูผู้สอนในโรงเรียนนำร่องหลักสูตรใหม่ 2551 พบว่า ครูในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาลรับทราบเรื่องการบังคับใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่า ในปีการศึกษา 2552 เพียงร้อยละ 88 และร้อยละ 77 ในขณะที่ครูโรงเรียนสาธิตทราบทุกคนโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยทราบมากที่สุด ส่วนในด้านปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกลุ่มที่คาดว่าจะมีปัญหาเรื่องวิธีแจกหนังสือเรียนมากที่สุด คือ กลุ่มภาษาอังกฤษ น้อยที่สุด คือ กลุ่มคณิตศาสตร์ กลุ่มที่คาดว่าจะมีปัญหาเรื่องการวัดผลการเรียนในชั้นเรียนที่มีการใช้หนังสือเรียนหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่ในห้องเรียนเดียวกันมากที่สุด คือ กลุ่มศิลปะ น้อยที่สุด คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์

ในด้านการแก้ไขปัญหา ครูผู้สอนส่วนใหญ่ร้อยละ 84 เห็นควรให้โรงเรียนมีอิสระในการเลือกใช้หนังสือเรียนหลักสูตรไหนก็ได้ และครูส่วนใหญ่ร้อยละ 83 เห็นควรให้โรงเรียนที่ยังคงเปิดสอนหลักสูตรเก่ามีอิสระในการเลือกใช้หนังสือเรียนได้ คือวิชาที่เปลี่ยนแปลงมากควรใช้หนังสือหลักสูตรใหม่ ส่วนวิชาที่เปลี่ยนแปลงน้อยควรใช้หนังสือเก่า

--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ