ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: ความพึงพอใจของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ต่อการบริหารงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในปีงบประมาณ 2552

ข่าวผลสำรวจ Tuesday September 1, 2009 14:37 —ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์

โพลคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 72.50 พอใจการทำงานของกทม.

(29 ก.ย.52) ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่มีต่อการบริหารงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในปีงบประมาณ 2552 ซึ่งกทม.ได้ว่าจ้างให้ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13-28 สิงหาคม 2552 ปรากฏว่า จากการสำรวจประชาชนกรุงเทพฯ จากทุกเขตกระจายตามประเภทที่อยู่อาศัย ได้แก่ หมู่บ้านจัดสรร/บ้านเดี่ยว/ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว/อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม/แฟลต และอื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 10,079 คน พบว่าความพึงพอใจของชาวกรุงเทพฯ โดยรวมที่มีต่อการบริหารงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานครอยู่ใน “ระดับค่อนข้างมาก” ซึ่งมีเฉลี่ยเท่ากับ 2.90 จาก 4.00 หรือคิดเป็นร้อยละ 72.50 ขณะที่เมื่อการสำรวจครั้งที่ 1 มีค่าเฉลี่ย 2.86 คิดเป็นร้อยละ 71.50 ซึ่งประชาชนมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1

ทั้งนี้ จากการสอบถามด้านบริการและโครงการที่ชาวกรุงเทพฯ พึงพอใจมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวโดยการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย (ความพึงพอใจเฉลี่ย 3.11) 2.การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ความพึงพอใจเฉลี่ย 3.01) 3.การจัดทำบัญชีรับ-จ่ายตามโครงการชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (ความพึงพอใจเฉลี่ย 2.99) 4.เร่งรัดการทำ BTS ส่วนต่อขยาย (ความพึงพอใจเฉลี่ย 2.98) 5.การกระจายจุดขายสินค้าราคาถูกทุกพื้นที่เขต (ความพึงพอใจเฉลี่ย 2.96) ระดับความพึงพอใจเฉลี่ยของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อการบริหารงานตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ 2.94 ด้านความปลอดภัย 2.95 ด้านสิ่งแวดล้อม 2.77 ด้านการศึกษา 2.91 ด้านสุขภาพ 2.93 ด้านการจราจร 2.92 รวมทุกด้าน2.90 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งมีค่าเฉลี่ยรวม 2.86

สำหรับปัญหาที่ประชาชนกรุงเทพฯ ต้องการให้ กทม. แก้ไขโดยด่วน 10 ลำดับแรก ได้แก่ การจราจรติดขัด ร้อยละ 28.11 การป้องกันน้ำท่วม การระบายน้ำ และท่อตัน ร้อยละ 6.40 การจัดเก็บขยะมูลฝอย ร้อยละ 6.21 มลพิษทางอากาศ ร้อยละ 5.18ยาเสพติด ร้อยละ 5.05 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 4.96 น้ำในคลองเน่าเสีย แม่น้ำไม่สะอาด ร้อยละ4.63 ความสะอาดของถนน ตรอก ซอย ร้อยละ 4.61 การขาดพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะ ร้อยละ 3.91 และแสงสว่างในจุดเปลี่ยว ร้อยละ 3.78 ส่วนบริการหรือโครงการที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องการให้ กทม. จัดทำเพื่อผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่และน่าท่องเที่ยว 10 ลำดับแรก ประกอบด้วย การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ ร้อยละ 21.21 การรณรงค์เพื่อรักษาความสะอาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 11.94 การปรับปรุงระบบขนส่งและการจราจร ร้อยละ 9.09 การส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ร้อยละ 7.77 การปรับปรุงและเพิ่ม/ขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ร้อยละ 7.01 การกำจัดขยะมูลฝอย ร้อยละ 5.51 การเพิ่มความใสสะอาดของน้ำในแม่น้ำลำคลอง ร้อยละ 3.46 การเพิ่มสถานที่ออกกำลังกาย และลานกีฬา ร้อยละ 3.43 การปรับปรุงและขยายโครงข่ายรถประจำทาง ร้อยละ 3.20 และ การแก้ปัญหาอาชญากรรมและมิจฉาชีพ (ร้อยละ3.05)

นอกจากนี้ ในการทำสำรวจครั้งนี้ยังได้สอบถามการรับทราบและรับรู้ของชาวกรุงเทพฯ เกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 20 - 28 สิงหาคม 2552 จำนวน 8,661 คน ปรากฏว่า ประชาชน ไม่ทราบเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,936 คน คิดเป็นร้อยละ 45.45 ทราบและรับรู้ จำนวน 4,725 คน คิดเป็นร้อยละ 54.55 ซึ่งในส่วนของการรับรู้นั้นได้แบ่งตามนโยบาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ 1,889 คน คิดเป็นร้อยละ 39.98 ด้านการศึกษา 2,396 คน คิดเป็นร้อยละ 50.71 ด้านสิ่งแวดล้อม 2,709 คน คิดเป็นร้อยละ 57.33 ด้านการจราจร 2,717 คน คิดเป็นร้อยละ 57.51 ด้านความปลอดภัย 2,135 คน คิดเป็นร้อยละ 45.19 และ ด้านสุขภาพ 3,050 คน คิดเป็นร้อยละ 64.56

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ประชาชนรับทราบนโยบายด้านสุขภาพมากที่สุด อาจเนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่ง กทม.ได้รุกแผนประชาสัมพันธ์ในด้านการรณรงค์ป้องกันโรค และสุขอนามัยในทุกด้าน โดยได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนง อีกทั้งผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่างๆ อย่างไรก็ตาม กทม.จะประชาสัมพันธ์นโยบายและโครงการในการบริหารกรุงเทพมหานครให้ประชาชนทราบมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป

--ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ