เบ็ดเตล็ดน่ารู้: บราซิล:ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2011 14:23 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปัจจุบันทวีปลาตินอเมริกาจัดเป็นตลาดใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากผู้ส่งออกและนักลงทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตซับไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัว โดยเฉพาะตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มหันไปหาตลาดใหม่อย่างทวีปลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 570 ล้านคน อีกทั้งยังอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ สินแร่สำคัญ และสินค้าประมง

ในบรรดาประเทศต่างๆ ในทวีปลาตินอเมริกา บราซิลจัดเป็นตลาดใหม่ที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนอย่างโดดเด่นอีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “กลุ่ม BRIC”ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงและกำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกถึงความเป็นไปได้ในการเป็นขั้วเศรษฐกิจใหม่ของโลก บราซิลจึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

ปัจจัยสนับสนุนให้บราซิลเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ

1. เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เฉลี่ย 5% ต่อปี (ปี 2547-2551) ประกอบกับปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกและใหญ่ที่สุดในทวีปลาตินอเมริกา อีกทั้ง The Economist Intelligence Unit (EIU) ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจบราซิลปี 2553-2557 จะกลับมาขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพเฉลี่ยราว5% ต่อปี ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของชาวบราซิลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 6.7%ต่อปีในช่วงดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่บราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2557 และเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2559 คาดว่าจะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในบราซิลให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2. ตลาดขนาดใหญ่และประชากรมีกำลังซื้อสูง บราซิลเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปลาตินอเมริกาด้วยจำนวนกว่า 190 ล้านคนขณะที่ชาวบราซิลมีกำลังซื้อสูงเป็น 2 เท่าของไทย (รายได้ต่อหัวของชาวบราซิลอยู่ที่ราว 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ของไทยอยู่ที่ราว 3,900ดอลลาร์สหรัฐ) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจบราซิล ส่งผลให้ปัจจุบันบราซิลมีจำนวนผู้มีรายได้ตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปราว 80 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ

3. แหล่งวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ บราซิลเป็นแหล่งแร่โลหะสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม และแพลทินัม นอกจากนี้ยังอุดมด้วยน้ำมัน ดีบุก ทองคำ บอกไซต์ ฟอสเฟต ป่าไม้ และแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก อาทิ ถั่วเหลือง เนื้อไก่ เนื้อวัว และกุ้ง

โอกาสของสินค้าและบริการไทยในตลาดบราซิล

1. รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เนื่องจากบราซิลเป็นตลาดใหม่ ซึ่งประชากรมีอัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จึงยังมีโอกาสขยายตลาดสินค้าดังกล่าวได้อีกมาก ทั้งนี้ ชาวบราซิลนิยมรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งประหยัดน้ำมัน รวมถึงรถยนต์ประหยัดพลังงานประเภทอื่นๆ อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รถยนต์ที่ชูจุดขายด้านสมรรถนะเหมาะกับการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่นิยมมากเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลบราซิลสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงจำพวกเอทานอล ด้วยบราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอลจากอ้อยรายใหญ่ของโลก

2. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องเนื่องจากชาวบราซิลเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงนิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน รวมทั้งนิยมอาหารสำเร็จรูปที่ช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาในการปรุง สอดรับกับคุณลักษณะของอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีในการผลิตและส่งออก

3. สินค้าอื่นๆ ซึ่งบราซิลผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ขณะที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสูง เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เป็นต้น ร้านอาหารไทยเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ โดยผู้ประกอบการควรเลือกทำเลที่มีศักยภาพ อาทิ รัฐริโอเดจาเนโรซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของบราซิล เมืองเซาเปาลูซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและมากที่สุดในบราซิล ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยที่เปิดให้บริการในบราซิลจำนวน 13 แห่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ใน 2 ทำเลดังกล่าว

ปัจจุบันบราซิลยังมีอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญ อาทิสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่เพียงพอรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม ค่าขนส่งสินค้าจากไทยไปบราซิลอยู่ในระดับสูงเนื่องจากระยะทางไกล และกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการศึกษารูปแบบตลาด ตลอดจนระเบียบการค้าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจก่อนตัดสินใจบุกตลาดบราซิล

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ