ถาม-ตอบ AEC: โอกาสในการทำธุรกิจสปาในสิงคโปร์?

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 17, 2012 15:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ถาม : อยากทราบถึงโอกาสในการทำธุรกิจสปาในสิงคโปร์

ตอบ : ธุรกิจสปา รวมถึงนวดแผนไทย เป็นธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพจากประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับรัฐบาลไทยสนับสนุนการขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจสปาและนวดแผนไทยมีชื่อเสียงและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ยังเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเริ่มขยายธุรกิจดังกล่าวไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะมีบรรยากาศเอื้อต่อการทำธุรกิจแล้ว [รายงาน “Doing Business” ปี 2554 ของธนาคารโลกระบุว่า สิงคโปร์มีบรรยากาศเอื้อต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) มากที่สุดจากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศ] กระแสรักสุขภาพของชาวสิงคโปร์ยังส่งผลให้ธุรกิจสปาและสถานบริการนวดในสิงคโปร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภท Destination Spa (สปาที่มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพครบวงจร อาทิ บริการอาหารเพื่อสุขภาพและฟิตเนส) Hotel/Resort Spa (สปาที่ตั้งอยู่ภายในหรือบริเวณเดียวกับโรงแรมและรีสอร์ต) Day Spa (สปาที่ให้บริการระยะสั้น ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกต่อการเดินทางสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการ) Club Spa (สปาที่ให้บริการเฉพาะสมาชิก) และ Medical Spa (สปาที่จัดตั้งโดย พ.ร.บ. สถานพยาบาล โดยมีแพทย์และพยาบาลคอยกำกับดูแล) ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนให้สิงคโปร์เป็นตลาดสปาที่มีศักยภาพ มีดังนี้

  • ชาวสิงคโปร์มีกำลังซื้อมากที่สุดในอาเซียน จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศพบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรสิงคโปร์ปี 2554 สูงที่สุดในอาเซียน โดยอยู่ที่ 49,271 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบกับของไทยซึ่งอยู่ที่ 5,394 ดอลลาร์สหรัฐ) และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 57,467 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ทั้งนี้ กำลังซื้อที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้ผู้บริโภคในสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ดังนั้น บริการและสินค้าสปาระดับกลางและระดับบนจึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสูงในสิงคโปร์
  • กระแสรักสุขภาพและความงามมีมากขึ้น เนื่องจากชีวิตประจำวันที่คร่ำเคร่งอยู่กับการทำงานหนักส่งผลให้ชาวสิงคโปร์ส่วนมากมักเหนื่อยล้าจากการทำงาน สปาจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการผ่อนคลาย ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้ชาวสิงคโปร์ชื่นชอบผลิตภัณฑ์สปาที่ใช้ง่ายและประหยัดเวลา จึงเป็นช่องทางของผู้ประกอบการไทยในการจำหน่ายสินค้าสปาเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว อาทิ ลูกประคบที่มีกลิ่นสมุนไพรไทยอ่อนๆ ซึ่งทำให้ร้อนด้วยไมโครเวฟแทนการนึ่ง เป็นต้น
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาสิงคโปร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทางการสิงคโปร์รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาสิงคโปร์ในปี 2554 อยู่ที่ 13.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 13.1% จากปี 2553 (นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียคิดเป็น 76% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด) จึงนับเป็นโอกาสของธุรกิจสปาที่จะขยายตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวดังกล่าว ทั้งนี้ Euromonitor International คาดว่าธุรกิจสปาในสิงคโปร์มีแนวโน้มขยายตัวราว 5% ต่อปีในช่วงปี 2555-2557 โดยจะมีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2557 นอกจากนี้ Singapore Tourism Board (STB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ ได้ดำเนินการสนับสนุนธุรกิจสปาในสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางบริการสปาของภูมิภาค และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในสิงคโปร์มากขึ้น

แม้ว่าตลาดสปาในสิงคโปร์มีความน่าสนใจจากปัจจัยดึงดูดการลงทุนหลายประการดังที่กล่าวมา แต่นักลงทุนควรตระหนักว่า การลงทุนในสิงคโปร์มีต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งอาจหาทางออกได้ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทสิงคโปร์ หรือหากต้องการลงทุนในธุรกิจสปาขนาดเล็ก ก็สามารถจัดตั้งร้านสปาเล็กๆ สำหรับให้บริการตามศูนย์การค้าย่านชานเมือง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวสิงคโปร์ในพื้นที่นั้นเป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายใต้ National Skills Recognition System (NSRS) ของสิงคโปร์ ซึ่งระบุให้พนักงานสปาและนวดแผนไทยต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมและได้รับประกาศนียบัตรการนวดมาตรฐาน โดยสามารถสมัครได้ที่ศูนย์ศึกษาวิชาชีพด้านสปา อาทิ Singapore Spa Institute และ Spa Wellness Academy ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจลงทุนธุรกิจสปาในสิงคโปร์ต้องยื่นขอจดทะเบียนบริษัทต่างชาติกับ Accounting and Corporate Regulatory Authority (ACRA) พร้อมทั้งขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจสปาจาก Singapore Police Force และสมัครเป็นสมาชิกของ The Spa Association Singapore ก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ