เก็บตกจากต่างแดน: พฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2013 16:09 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดส่งออกหลักอย่าง EU ซึ่งยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเปราะบางอยู่มากและฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้น การแสวงหาโอกาสทางการค้าจากตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการขยายตัว โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา และมีอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกที่สูงถึงร้อยละ 15 ต่อปีในช่วงปี 2551-2555 จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ “เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้จึงขอนำท่านผู้ประกอบการมาทำความรู้จักกับพฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้ รวมไปถึงโอกาสและศักยภาพทางด้านการค้าของแอฟริกาใต้

ทั้งนี้ โอกาสและศักยภาพทางด้านการค้าของตลาดแอฟริกาใต้ที่เกื้อหนุนต่อการส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้ในระยะถัดไป มีดังนี้

  • แอฟริกาใต้เป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพในการขยายตัว เนื่องจากแอฟริกาใต้มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่และพัฒนามากที่สุดในภูมิภาค ประกอบกับชาวแอฟริกาใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per head) สูงถึง 7,342 ดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค อีกทั้งเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด EIU คาดว่าเศรษฐกิจแอฟริกาใต้จะขยายต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ระหว่างปี 2557-2560 ทั้งนี้ เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ที่ขยายตัวทำให้ชาวแอฟริกาใต้มีกำลังซื้อสูงขึ้น โดยคาดว่ารายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Personal Disposable Income) จะเพิ่มขึ้นเป็น 261.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 จากระดับ 202.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556
  • แอฟริกาใต้มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า เนื่องจากแอฟริกาใต้มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ อาทิ นามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว โมซัมบิก และสวาซิแลนด์ และมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งสินค้าที่ดี โดยเฉพาะมีท่าเรือสำคัญ อาทิ Cape Town, Durban และ Port Elizabeth จึงเอื้อต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในภูมิภาค
รู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้

การทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร ลักษณะการเลือกซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ของชาวแอฟริกาใต้ สถานที่จำหน่ายและงานแสดงสินค้าที่สำคัญ จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวางแผนการผลิตและส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้ มีดังนี้

  • แรงงานวัยกลางคนเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเนื่องจากชาวแอฟริกาใต้ราวร้อยละ 66 มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และในจำนวนนี้เป็นประชากรวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี สูงถึงร้อยละ 58 ของจำนวนประชากรวัยแรงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ประชากรกลุ่มนี้เป็นผู้บริโภควัยทำงาน และส่วนหนึ่งเพิ่งเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ จึงกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ วิทยุ และเครื่องเล่น MP3 ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องมีไว้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความบันเทิงให้กับสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งหนุ่มสาววัยแรงงานยังนิยมเลือกซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะเสื้อและกางเกงยีนส์ที่สวมใส่ได้ง่ายและคล่องตัว สำหรับใช้สวมใส่เป็นชุดลำลองในวันหยุด และหลังจากที่แอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2553 ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวต่อการรักษาสุขภาพในหมู่วัยรุ่นชาวแอฟริกาใต้มากขึ้น ดังนั้น ชุดกีฬา โดยเฉพาะเสื้อยืด กางเกงขาสั้น หรือกางเกงขายาวที่ใส่เข้าชุดกัน จึงยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้
  • ตลาดอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน อาหารทะเลกระป๋องและผลไม้กระป๋องมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากแรงงานที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ ศูนย์กลางทางการค้า และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยฉพาะ Pretoria, Johannesburg, Cape Town และ Durban ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาซื้ออาหารสดมาประกอบอาหาร เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ จึงหันมาเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ทั้งนี้ ชาวแอฟริกาใต้นิยมบริโภคเนื้อวัวเป็นหลัก รองลงมาคือ เนื้อไก่ เนื้อนกกระจอกเทศ และเนื้อไก่งวง

ดังนั้น อาหารสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทานที่จะส่งมาจำหน่ายในแอฟริกาใต้จึงควรเลือกใช้เนื้อสัตว์ประเภทดังกล่าวเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้เนื้อหมูหรือปลาน้ำจืดเป็นวัตถุดิบการผลิต เพราะไม่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ ชาวแอฟริกาใต้ยังนิยมบริโภคอาหารทะเลกระป๋อง โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องหรือปลาซาร์ดีนกระป๋องในซอสมะเขือเทศ และผลไม้กระป๋องที่ใช้สับปะรด ลำไย และเงาะเป็นส่วนประกอบ

  • ความต้องการนำเข้าข้าว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และเครื่องปรุงรสยังมีแนวโน้มขยายตัว โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
  • ข้าวที่ได้รับความนิยมคือ ข้าวนึ่งซึ่งเมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะร่วนไม่ติดกัน นิยมรับประทานกับอาหารพื้นเมือง อีกทั้งข้าวนึ่งยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงานชาวอินเดียที่เข้ามาทำงานในแอฟริกาใต้อีกด้วย ขณะที่ข้าวขาวที่มีคุณสมบัติเมื่อหุงแล้วข้าวจะเหนียวนุ่ม เป็นที่ชื่นชอบของชาวเอเชียที่อาศัยในแอฟริกาใต้ ส่วนใหญ่นิยมใช้ในร้านอาหารจีนและร้านอาหารไทยที่ตั้งในเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
  • กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำข้าวปั้นญี่ปุ่น (ซูชิ) หน้ากุ้ง เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้ชื่นชอบการรับประทานซูชิเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มักจะจัดสถานที่เฉพาะสำหรับวางจำหน่ายซูชิเพื่อเรียกลูกค้า นอกจากนี้ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งยังถูกนำมาประกอบอาหารประเภทปิ้งหรือย่าง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวพื้นเมืองแอฟริกาใต้ มีลักษณะคล้ายบาร์บีคิวเรียกว่า Braai
  • เครื่องปรุงรส จำพวกน้ำปลา ซอสปรุงรส น้ำมันหอย น้ำพริกเผา และกะทิ ยังเป็นสินค้าที่ต้องการอยู่มากเพื่อป้อนให้กับร้านอาหารไทยในแอฟริกาใต้ที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะ Cape Town และ Johannesburg สำหรับใช้ปรุงอาหารให้ได้รสชาติตามแบบอาหารไทย ซึ่งมีสี กลิ่น และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  • ตลาดรถพิกอัป (Pick-up) และชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อใช้เป็นอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing :REM) และอุปกรณ์แต่งรถยนต์มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้นิยมซื้อรถยนต์ส่วนตัว เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและเป็นเครื่องบ่งชี้ฐานะทางสังคม อีกทั้งชาวแอฟริกาใต้ยังชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวและทำกิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิทในวันหยุดสุดสัปดาห์ ชมวิวทิวทัศน์ และเที่ยวชมสัตว์ป่าที่อาศัยอย่างอิสระตามธรรมชาติ (Safari) ในอุทยานสำคัญ อาทิ Addo Elephant Park และ Kruger National Park กระตุ้นให้เกิดความต้องการรถพิกอัปแบบ

ขับเคลื่อน 4 ล้อ และ 4 ประตูที่มีสมรรถนะสูงและสามารถใช้ในพื้นที่ทุรกันดาร ประกอบกับการที่แอฟริกาใต้มีภูมิประเทศที่เป็นป่าและทะเลทราย ทำให้อายุการใช้งานของชิ้นส่วนรถยนต์สั้นลง จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท REM อาทิ เกียร์ ระบบเบรก ระบบกันสะเทือน เพลา โช้กอัป พวงมาลัย เข็มขัดนิรภัย ยางอะไหล่ และกระจกรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ อุปกรณ์แต่งรถยนต์จำพวกกันชนที่ออกแบบเข้ากับตัวถังรถยนต์อย่างสวยงาม บันไดสำหรับใช้ก้าวขึ้นรถยนต์ ยังเป็นที่ต้องการอยู่มาก ทั้งในแง่การอำนวยความสะดวกและเพื่อใช้ในการตกแต่ง

  • ชาวแอฟริกาใต้นิยมเลือกซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Pick n Pay, Woolworths, Shoprite และ SPAR เพราะเป็นศูนย์รวมสินค้าอุปโภคและบริโภคมากมายทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้ครบทุกชนิดในสถานที่เดียวกัน และเข้ากันได้ดีกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของชาวแอฟริกาใต้ที่นิยมซื้อสินค้าครั้งละมากๆ สัปดาห์ละครั้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ดังนั้น การหาช่องทางวางจำหน่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จึงเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าสำคัญที่จะสามารถกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • งานแสดงสินค้าสำคัญ ผู้ประกอบการที่สนใจเจาะตลาดแอฟริกาใต้ควรนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญของแอฟริกาใต้ อาทิ งาน Africa's International Food & Drink Event ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มจัดขึ้นที่เมืองJohannesburg ราวเดือนกันยายนของทุกปี และงาน Johannesburg Motor Show เป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่มักจัดขึ้นราวเดือนตุลาคมของทุกปี เพื่อพบปะกับผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ งานแสดงสินค้าดังกล่าวคาดว่าจะมีส่วนช่วยเปิดลู่ทางทางการค้าใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้นได้

แม้ว่าแอฟริกาใต้เป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายตัวอีกมาก แต่ผู้ส่งออกที่สนใจส่งออกสินค้าไปแอฟริกาใต้พึงตระหนักเสมอว่าการทำการค้ากับแอฟริกาใต้ยังมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ ต้นทุนค่าขนส่งระหว่างไทยและแอฟริกาใต้ค่อนข้างสูงและใช้ระยะเวลานาน เพราะไทยและแอฟริกาใต้มีระยะทางห่างไกลกันจึงอาจไม่คุ้มค่ากับการส่งออกสินค้าที่มีน้ำหนักมาก หรือสินค้าที่มีกำไร (Margin) ค่อนข้างต่ำ รวมถึงสินค้าจำพวกผักและผลไม้ที่เน่าเสียง่าย นอกจากนี้ แอฟริกาใต้กำหนดมาตรฐานเฉพาะที่ใช้สำหรับนำเข้าสินค้าบางประเภท อาทิ อาหารทะเลกระป๋องที่วางจำหน่ายในแอฟริกาใต้ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้ (South African Bureau of Standard : SABS) ซึ่งหาก SABS ตรวจพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะถูกส่งกลับทันที

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤศจิกายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ