แอฟริกา ... New Frontier ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 1, 2016 15:47 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อกล่าวถึงทวีปแอฟริกา เชื่อว่าหลายท่านคงมีภาพอยู่ในใจว่าเป็นภูมิภาคที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก ทั้งที่ในความเป็นจริงทวีปแอฟริกาจัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่น่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ของทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย ประกอบด้วยประเทศมากถึง 57 ประเทศ มีภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งทะเลทราย ที่ราบสูง และป่าฝนเขตร้อน ตลอดจนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อาทิ สินแร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ทวีปแอฟริกายังอยู่บนเส้นทางเดินเรือที่สำคัญระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติก

แม้เศรษฐกิจของประเทศในทวีปแอฟริกาในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นรายได้หลักของภูมิภาคนี้ตกต่ำลง แต่เศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถขยายตัวโดยเฉลี่ย 4% ต่อปี สูงกว่าหลายภูมิภาค อาทิ ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ขณะที่ล่าสุดในปี 2558 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หลั่งไหลเข้าสู่แอฟริกาถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าภูมิภาคเกิดใหม่หลายแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในแองโกลา อียิปต์ และโมซัมบิก มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของ FDI รวมของทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้แอฟริกาก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของนักลงทุนทั่วโลกมาจากปัจจัยดึงดูดหลายด้าน อาทิ

ความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน แอฟริกาเป็นแหล่งสินแร่และพลังงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จากการสำรวจพบว่าแอฟริกามีสัดส่วนปริมาณสินแร่สำรองราว 30% ของโลก รวมทั้งมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติราว 8% และ 7% ของโลก ตามลำดับ ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกามีประชากรในวัยแรงงานมากถึง 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกายังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ มาลาวี กานา คองโก แทนซาเนีย และซูดาน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับ 35, 60, 65, 68 และ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ตามลำดับ (เทียบกับไทยอยู่ที่ราว 170-250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) สะท้อนให้เห็นโอกาสในการลงทุนสร้างฐานการผลิตแห่งใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ตลาดขนาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยจำนวนประชากรราว 1.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.5% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่จำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน14 ปีข้างหน้า ตลอดจนพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวแอฟริกาเริ่มเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวแอฟริกามีความต้องการซื้อสินค้าที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตทวีปแอฟริกาจะก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย แทนซาเนีย เคนยา และแองโกลาที่มีจำนวนประชากรและกำลังซื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค

การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออกไปตลาดหลัก เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา เป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และ EU อาทิ กลุ่ม Sub-Saharan Africa ราว 40 ประเทศ ได้รับยกเว้นภาษีในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง African Growth and Opportunity Act (AGOA) ขณะที่เคนยา กานา ไนจีเรีย และคองโกได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จาก EU นอกจากนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกายังดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ อาทิ แทนซาเนียยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค พร้อมทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้าง ขณะที่รวันดายกเว้นภาษีเงินได้สำหรับโครงการลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลาถึง 7 ปี

ปัจจัยดังกล่าวชี้ชัดว่าทวีปแอฟริกาเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนไทย แม้ปัจจุบันการค้าการลงทุนระหว่างไทยและทวีปแอฟริกายังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยมูลค่าส่งออกของไทยไปทวีปแอฟริกามีสัดส่วน 3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงของไทยในแอฟริกายังมีสัดส่วนไม่มาก (ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอียิปต์และมอริเชียส มีสัดส่วนราว 4% ของเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้งหมดของไทย) ส่วนหนึ่งอาจมาจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการทำการค้าการลงทุนกับคู่ค้าในทวีปแอฟริกา แต่ผู้ประกอบการไทยสามารถป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้หลายวิธี อาทิ เลือกใช้เทอมการชำระเงิน ที่รัดกุม การวิเคราะห์ข้อมูลคู่ค้าที่จะทำธุรกรรม เป็นต้น ประกอบกับล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมการค้าการลงทุนไทยในทวีปแอฟริกาในฐานะกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontier) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตกและใต้ อาทิ เคนยา กานา และแทนซาเนีย ซึ่งมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ จึงน่าจะช่วยให้โอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกา ของผู้ประกอบการไทยสดใสยิ่งขึ้นและช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตลาดหลักซบเซาได้ในระดับหนึ่ง

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ