เก็บตกจากต่างแดน: เรียนรู้ก่อนเข้าตลาดออสเตรเลีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 1, 2016 11:27 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 ของไทย โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2559 ไทยส่งออกไปออสเตรเลียเกือบ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ขยายตัวถึง 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุดใน 5 ตลาดส่งออกสำคัญของไทย

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยที่ขยายตัวดีในตลาดออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ขณะที่สินค้าสำคัญหลายรายการของผู้ประกอบการไทยที่ ส่งออกไปออสเตรเลีย อาทิ เครื่องนุ่งห่ม อาหารกระป๋องและแปรรูป กลับชะลอตัว “เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้ จึงขอเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับลักษณะสังคม และการดำเนินชีวิตของชาวออสเตรเลีย ที่อาจกระทบต่อความต้องการหรือการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ประกอบการไทยนำไปปรับใช้กับการผลิตและการทำตลาด ตลอดจนมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในตลาดนี้ต่อไป

ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่เผชิญปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐาน

แม้กระแสรักสุขภาพและความนิยมในการออกกำลังกายในออสเตรเลียจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ชาวออสเตรเลียโดยเฉพาะในหมู่เด็กและวัยรุ่นยังคงนิยมบริโภคอาหารไขมันสูง (Junk Food) ทำให้ชาวออสเตรเลียเผชิญปัญหาน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ จากสถิติของนิตยสารทางการแพทย์ The Lancet ซึ่งสำรวจชาวออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 15 ปี พบว่าสัดส่วนของชาวออสเตรเลียที่น้ำหนักเกินมาตรฐานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.7% ของประชากรทั้งหมดที่มีอายุมากกว่า 15 ปี เป็น 65.4% ในปี 2557 ในจำนวนนี้ มีประชากรที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (ดัชนีมวลกาย หรือ BMI อยู่ระหว่าง 25-30) 36% และเข้าสู่ภาวะอ้วน (BMI มากกว่า 30) อีก 29.4% นอกจากนี้ พบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนอ้วนในออสเตรเลียยังสูงที่สุดในโลก

การดูแลความงามของสาวออสเตรเลียสร้างโอกาสให้ไทย

ชาวออสเตรเลียให้ความสนใจกับความสวยงามไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการรักสวยรักงามของสาวชาวออสเตรเลียยังหมายถึงความต้องการดูดี มีหน้าตาและร่างกายที่สวยงามแม้จะด้วยการทำศัลยกรรมก็ตาม ซึ่งจากการสำรวจของ Daily Mail พบว่า ในแต่ละปีมีสตรีชาวออสเตรเลียเดินทางมาประเทศไทยเพื่อทำศัลยกรรม โดยมีการประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการทำศัลยกรรมรูปร่างคุณแม่หลังคลอดบุตรอย่างครบวงจร ซึ่งรวมถึงค่าที่พัก 14 วันในไทย ที่ราว 12,600 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 3.3 แสนบาท) ขณะที่การทำศัลยกรรมหน้าอกเพียงอย่างเดียวในออสเตรเลียมีค่าใช้จ่ายราว 12,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 3.1 แสนบาท) นอกจากนี้ Daily Telegraph ยังสำรวจทัศนคติของวัยรุ่นช่วงต้น (11-18 ปี) พบว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มนี้อยากทดลองทำศัลยกรรมเพื่อให้ดูดีขึ้น

กระแสการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างเป็นรูปธรรม

ชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ มีผู้ซื้อสินค้าสูงถึงร 60% ที่สังเกตเครื่องหมาย Fairtrade (เครื่องหมายที่ติดบนผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้านี้สนับสนุนการพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ผลิตสินค้าในประเทศด้อยพัฒนาให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยการประกันราคาสินค้า ลดปัญหาการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง) โดยชาวออสเตรเลียเข้าใจและยอมรับเหตุผลของการตั้งราคาสินค้าที่มีเครื่องหมาย Fairtrade ในระดับที่สูงกว่าราคาสินค้าปกติ ขณะเดียวกัน ขยะจากครัวเรือน 99% ถูกนำเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) นอกจากนี้ ชาวออสเตรเลียยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานในประเทศที่เป็น ฐานผลิตสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะหลังเกิดการพังถล่มของอาคารรานา พลาซา (Rana Plaza) ของบังกลาเทศ และทำให้มีคนงานผลิตเสื้อผ้าเสียชีวิตไปกว่า 1,100 คน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 ซึ่งวันครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็น “Fashion Revolution Day” ในระดับสากล โดยชาวออสเตรเลียจำนวนมากได้มีส่วนร่วมกับแคมเปญดังกล่าว เพื่อสื่อสารให้บริษัทผู้ผลิตสินค้า ใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของแรงงานมากขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการตัดเย็บเสื้อผ้าก่อนจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ

ทัศนคติและแนวคิดที่กล่าวมานั้นล้วนส่งผลต่อมุมมองในการซื้อสินค้าและบริการของชาวออสเตรเลีย ผู้ประกอบการผลิตหรือจัดหาสินค้าและบริการของไทยจึงต้องหาทางตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการดังกล่าว เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าหรือบริการของตน อาทิ ผู้ประกอบการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปออสเตรเลียอาจต้องเน้นออกแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับรูปร่างท้วมและอ้วนในกลุ่มวัยทำงาน หรือมีการปรับเพิ่มขนาดเสื้อให้เหมาะสมกับตลาด ขณะเดียวกันผู้ส่งออกอาหารอาจมีการปรับส่วนผสม อาทิ การใช้สารให้ความหวานที่สกัดจากหญ้าหวานแทนการใช้น้ำตาลทราย เพื่อเน้นดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการตอบสนองพฤติกรรมการนิยมบริโภคของหวานของชาวออสเตรเลีย ขณะที่ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเสริมความงามควรต้องรีบหาช่องทางประชาสัมพันธ์ในตลาดออสเตรเลีย โดยอาศัยความได้เปรียบด้านชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในบริการด้านความงามของไทย รวมถึงการรักษาภาพลักษณ์ด้านมาตรฐานและความคุ้มค่าด้านราคา เพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตที่ยังมีอยู่อีกมาก และตลาดน่าจะยังขยายตัวได้ในระยะยาว เนื่องจากกลุ่มเด็กรุ่นใหม่นิยมการทำศัลยกรรม ทั้งนี้ การทำตลาด Online เป็นช่องทางการทำตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการบุกตลาดออสเตรเลีย เพราะเป็นช่องทางที่มีอัตราการเติบโตสูง (ในช่วงปี 2552-2557 ชาวออสเตรเลียมีการซื้อสินค้า Online เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า) และมีต้นทุนการจัดการค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกัน การทำตลาด Online เป็นช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มผู้สนใจสินค้า จึงเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ขายเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และนำมาพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ