Share โลกเศรษฐกิจ: ไมโครไฟแนนซ์...กลไกสำคัญของภาคธนาคารในการยกระดับเศรษฐกิจกัมพูชา

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 2, 2017 16:07 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

กัมพูชาเป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเฉลี่ย 6.6% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่า เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2560 จะขยายตัวสูงถึง 7.1% เทียบกับเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมที่ขยายตัว 4.8% เศรษฐกิจกัมพูชาที่ขยายตัวอย่างโดดเด่นดังกล่าวส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนสำคัญจากการมีภาคธนาคารที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาภาคการเงิน (Financial Sector Blueprint) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งธนาคารกลางกัมพูชาเริ่มใช้แผนฯ ดังกล่าวเมื่อปี 2544 มีเป้าหมายในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ภาคธนาคารเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ล่าสุดธนาคารกลางกัมพูชาประกาศใช้แผนพัฒนาภาคการเงินระยะ 10 ปี (Financial Sector Development Strategy 2016-2025) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายของภาคธนาคารให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้มากขึ้นและให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับ ทั้งนี้ กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลกัมพูชาเล็งเห็นว่าจะทำให้ภาคธนาคารของกัมพูชาบรรลุเป้า ดังกล่าว คือ การพัฒนาไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) ให้แข็งแกร่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการให้สินเชื่อแก่ชาวกัมพูชาโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย

ไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาได้เริ่มต้นขึ้นจากการเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการให้สินเชื่อแก่ประชาชนในพื้นที่ชนบทซึ่งการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ยังเข้าไม่ถึง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเริ่มต้นดำเนินธุรกิจหรือขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับอันดับด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ในรายงาน Ease of Doing Business 2017 ของธนาคารโลก กัมพูชาอยู่อันดับ 7 จากการจัดอันดับทั้งหมด 190 ประเทศ ขณะที่รายงานของกองทุนพัฒนาเงินทุนแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) ระบุว่าอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion Rate) ของกัมพูชาอยู่ที่ 59% สูงกว่าของ สปป.ลาว และเมียนมาที่ 47% และ 30% ตามลำดับ ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ส่วนใหญ่ในกัมพูชาอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวกัมพูชา มีสัดส่วนกว่า 30% รองลงมา ได้แก่ ภาคครัวเรือน 28% และภาคการค้า 18% ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคธนาคารมาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลกัมพูชาทำให้ไมโครไฟแนนซ์มีศักยภาพและเสถียรภาพที่แข็งแกร่งจนกล่าวได้ว่าปัจจุบันไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชามีการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารกลางกัมพูชาระบุว่า อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratio) ของไมโครไฟแนนซ์ในปี 2559 สูงถึง 185.7% ขณะที่ยอด NPLs แม้ว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.8% ในปี 2558 เป็น 1.4% ในปี 2559 แต่ยังต่ำกว่า NPLs ของธนาคารพาณิชย์ที่ 2.4% เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินของชาวกัมพูชา จนมีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตของชาวกัมพูชาดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากประชาชนมีโอกาสในการเป็นเจ้าของกิจการและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน สะท้อนได้จากอัตราความยากจน (Poverty Rate) ที่ลดลงจาก 43.2% ในปี 2547 เหลือ 14.7% ในปี 2557

แม้ว่ารัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ละเลยต่อการสร้างเสถียรภาพให้กับภาคธนาคาร โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางกัมพูชามีการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เป็นสากลมากขึ้นและเข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงให้เพิ่มการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์และไมโครไฟแนนซ์ตามหลักเกณฑ์ Basel III ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินในการรับมือกับความผันผวนต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐบาลกัมพูชาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติในการใช้ประโยชน์จากภาคการเงินการธนาคารเพื่อให้การดำเนินธุรกิจในกัมพูชาเป็นไปอย่างมั่นคง

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ