เรื่องเล่าระหว่างทาง: เคล็ดลับซื้อใจคนงาน...กุญแจสู่ความสำเร็จใน สปป.ลาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 1, 2018 15:08 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสเดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและธุรกิจสำคัญของประเทศ ระหว่างทางสังเกตได้ว่านอกเหนือจากสถานที่ราชการ ธนาคาร และสำนักงานของบริษัทต่างชาติที่กระจุกตัวอยู่บริเวณถนนล้านช้างและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังมีร้านอาหารและร้านกาแฟทั้งในรูปแบบแฟรนไชส์ อาทิ Caf? Amazon และ True Coffee รวมถึงร้านท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยตั้งเรียงรายตลอดเส้นทาง เท่าที่สังเกตจะเห็นได้ว่าแต่ละร้านมีพนักงานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5-7 คน จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่าร้านค้าจำนวนมากในนครหลวงเวียงจันทน์มีคนงานเพียงพอหรือไม่

อย่างที่ทราบกันดีว่า สปป.ลาว เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 6.8 ล้านคน และมีวัยแรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ดังนั้น หลายธุรกิจใน สปป.ลาว โดยเฉพาะในนครหลวงเวียงจันทน์ ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือแย่งคนงานกัน เนื่องจากมีปริมาณงานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในประเทศ สะท้อนจากอัตราการว่างงานของ สปป.ลาว อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.5% ของแรงงานทั้งประเทศ ชาวลาวจึงมีทางเลือกในการทำงานค่อนข้างมากและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานบ่อย การสร้างความผูกพันระหว่างคนงานชาวลาวกับนายจ้างด้วยความเข้าใจวิถีการดำเนินชีวิตของชาวลาวถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คนงานอยากทำงานกับบริษัทนานๆ ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าของกิจการในพื้นที่บางส่วนได้ให้เคล็ดลับการซื้อใจคนงานชาวลาวมาฝากผู้ที่จะเข้าไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว ดังนี้

“ผูกมิตรและถ้อยทีถ้อยอาศัย”

การสร้างความเป็นมิตรกับคนงานใน สปป.ลาว นับเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น เริ่มจากการพูดจากันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย และการแสดงความยอมรับในความสามารถของคนงาน นอกจากนี้ การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เนื่องจากชาวลาวค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการให้เกียรติผู้อื่น นายจ้างจึงควรปฏิบัติต่อคนงานด้วยการให้เกียรติเสมอหากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงที่จะตำหนิหรือตักเตือนคนงานต่อหน้าผู้อื่นหรือในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ควรพิจารณาให้ผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล เพื่อให้คนงานไม่รู้สึกว่าถูกนายจ้างเอาเปรียบ ขณะเดียวกันนายจ้างควรยึดหลักการบริหารคนแบบ Give & Take จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนระหว่างนายจ้างกับคนงาน

“เปิดใจรับฟังความคิดเห็นและเข้าใจวิถีชีวิตของชาวลาว”

ชาวลาวส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเรียบง่าย นายจ้างควรปรับรูปแบบการทำงาน รวมทั้งการบริหารจัดการคนให้เข้ากับวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวลาว นอกจากนี้ นายจ้างควรเปิดใจรับฟังทุกความคิดเห็นของคนงาน ยกตัวอย่างกรณีที่กลุ่มคนงานมีความคิดเห็นไม่ตรงกับนายจ้าง อาทิ บริษัทกำหนดเวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เริ่ม 9.00-17.00 น. แต่ปรากฏว่าคนงานบางส่วนต้องการจะกลับบ้านเร็วขึ้น ในกรณีนี้นายจ้างได้ชี้แจงคนงานให้เข้าใจตรงกันว่าจำเป็นต้องทำงานให้ครบ 8 ชั่วโมง จึงเสนอทางเลือกว่าหากต้องการกลับบ้านเร็วขึ้น ต้องเลื่อนเวลามาทำงานให้เร็วขึ้นเช่นกัน เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติต่อกันด้วยความเข้าใจและชี้แจงด้วยเหตุผลจะช่วยให้คนงานและนายจ้างสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

“ความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวลาว ไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาคนงานให้อยู่กับบริษัทได้นานแต่ยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเกื้อหนุนให้การทำธุรกิจใน สปป.ลาว เป็นไปอย่างราบรื่น”

นอกจากนี้ สภาพตลาดแรงงานในปัจจุบัน ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุดของ สปป.ลาว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อสร้างแรงงานที่มีคุณภาพมารองรับความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ คือ ธุรกิจฝึกอบรมวิชาชีพ เนื่องจากแรงงานใน สปป.ลาวที่มีค่อนข้างจำกัด บางส่วนยังขาดทักษะ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะความต้องการแรงงานในสาขาบริการและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตอีกมาก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฝึกอบรมวิชาชีพใน สปป.ลาว ยังมีไม่มากนัก ผู้ประกอบการชาวลาวบางกลุ่มจึงเดินทางมาเรียนหลักสูตรเฉพาะทางในไทย อาทิ สาขาวิชาชีพธุรกิจเสริมสวย สปาและความงาม เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทไทยที่เข้าไปทำธุรกิจดังกล่าวก็เริ่มมีบ้างแล้ว แต่เป็นลักษณะของศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อรองรับงานในธุรกิจของตนเป็นหลัก อาทิ โรงเรียนสอนพนักงานในสถานีบริการน้ำมัน พนักงานทำความสะอาด และพนักงานในร้านกาแฟ เป็นต้น

แม้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของ สปป.ลาว จะต่ำเป็นอันดับสองในอาเซียน (รองจากเมียนมา) อยู่ที่ราว 900,000 กีบต่อเดือน(ประมาณ 3,600 บาท) แต่จำนวนแรงงานที่มีค่อนข้างจำกัดก็นับเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม การลงทุนใน สปป. ลาว จึงอาจจะไม่เหมาะกับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ขณะเดียวกันการดูแลคนงานควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเฉพาะทางจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้การดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2561--


แท็ก ว่าน   ช้าง   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ