เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: เกาะติดความเคลื่อนไหวในภาคธนาคารของเวียดนาม...รู้ก่อน ปรับตัวก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 6, 2018 14:31 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนต่างชาติจับตามอง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แต่ก่อนที่เวียดนามจะประสบความสำเร็จถึงจุดนี้ เวียดนามได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญเมื่อปี 2555 จากปัญหาหนี้เสียในระบบ จนรัฐบาลเวียดนามต้องประกาศปฏิรูปภาคการธนาคารทั้งระบบ ช่วงเวลาที่ผ่านมาเวียดนามจึงทยอยออกกฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจในเวียดนามในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวในภาคธนาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อกุมความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจเหนือคู่แข่ง บทความเกร็ดการเงินระหว่างประเทศฉบับนี้จะมาบอกเล่าถึงสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารของเวียดนาม เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นและใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินธุรกิจ

ภาคธนาคารของเวียดนามถือได้ว่ามีผลการดำเนินงานในปี 2560 ที่โดดเด่น สะท้อนได้จากสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อทั้งระบบขยายตัวได้ตามเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam : SBV)ที่ 17% ส่วนอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs Ratio) ณ สิ้นปี 2560 ยังปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 2.3% (ไม่นับรวมหนี้ส่วนที่ขายให้กับ Vietnam Asset Management Company หรือ VAMC ซึ่งรัฐบาลเวียดนามจัดตั้งขึ้นเพื่อรับซื้อหนี้เสียในระบบธนาคารเวียดนาม) เทียบกับ NPLs ในช่วงที่เวียดนามประสบวิกฤตหนี้เสียเมื่อปี 2555 ที่ 17.2% ซึ่งเป็นผลจากการที่ SBV เร่งดำเนินการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยกระดับการกำกับดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินในประเทศ ให้มีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้น จนกล่าวได้ว่าภาคธนาคารของเวียดนามมีพัฒนาการที่แข็งแกร่งขึ้นมากและเป็นที่เชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และเมื่อไม่นานมานี้ เวียดนามได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพิ่มเติม โดยยังเน้นเพิ่มความเข้มแข็งให้กับภาคธนาคารขณะเดียวกัน ก็มีการเพิ่มความยืดหยุ่นในบริการทางการเงิน ได้แก่

  • เวียดนามอนุญาตให้มีการล้มละลายในภาคธนาคาร สภาแห่งชาติเวียดนาม (National Assembly : NA) ประกาศรับรองกฎหมายสถาบันการเงินฉบับปรับปรุงใหม่ ว่าด้วยมาตรการ 5 ข้อ ที่เป็นแนวทางสำหรับการปรับโครงสร้างธนาคารและสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กลไกควบคุมพิเศษ ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย

1. การฟื้นฟูกิจการ

2. การควบรวมกิจการ

3. การเลิกประกอบกิจการ

4. การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภาคบังคับ และ

5. การล้มละลาย โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มกราคม 2561

นับเป็นครั้งแรกของเวียดนามที่อนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถยื่นล้มละลาย ซึ่งจะช่วยให้ SBV จัดการกับสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • เวียดนามบังคับให้สถาบันการเงินจัดการหนี้เสียอย่างเข้มงวด ภายใต้ Resolution 42/2017/QH14 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 รัฐบาลเวียดนามมีมติให้สถาบันการเงินต้องบังคับหลักประกันจากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ และให้สิทธิ์กับสถาบันการเงินมากขึ้นในการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกจำนองไว้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ นับเป็นการช่วยเหลือสถาบันการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บหนี้
  • เวียดนามออกนโยบายใหม่เกี่ยวกับการกู้เงิน ภายใต้ Circular 39 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 SBV กำหนดให้ผู้ที่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ต้องเป็นบุคคลและนิติบุคคลตามกฎหมายเวียดนามเท่านั้น ส่วนธุรกิจครัวเรือนและกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจจะไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจาก SBV มองว่าการปล่อยกู้ให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ 2 ประเภทเป็นครั้งแรก คือ Revolving Loans และ Rollover Loans ซึ่งเป็นสินเชื่อที่รู้จักกันดีในหลายประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมา SBV ไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อประเภทดังกล่าวในเวียดนาม
  • เวียดนามระงับการใช้ Cryptocurrency ทุกประเภทอย่างเป็นทางการ ภายใต้ Decree 80/2016/ND-CP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 SBV ระงับการใช้ Bitcoin รวมถึง Cryptocurrency ประเภทอื่นๆ ในเวียดนามอย่างเป็นทางการซึ่ง SBV ระบุว่าเครื่องมือชำระเงินที่ไม่ใช่เงินสดที่ถูกกฎหมายในเวียดนามประกอบด้วยเช็ค บัตรเครดิต รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ที่กำหนดโดย SBV นอกนั้นถือเป็นการชำระเงินที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่กระทำผิดจะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 150-200 ล้านด่อง (ราว 6,700-8,900 ดอลลาร์สหรัฐ) และอาจถูกดำเนินคดีทางอาญา ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในตลาด Cryptocurrency ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพในระบบการเงินเวียดนาม

ทั้งนี้ การที่ภาคธนาคารของเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของเวียดนาม สะท้อนได้จากอันดับการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ของเวียดนาม ในรายงาน Ease of Doing Business 2018ของธนาคารโลก ไต่ขึ้นมา 3 อันดับจากปีก่อน มาอยู่อันดับที่ 29 จากการจัดอันดับทั้งหมด 190 ประเทศ และสูงเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากบรูไน มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น อันจะมีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2561


แท็ก เวียดนาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ