Share โลกเศรษฐกิจ: จับตาราคาน้ำมันขึ้นรอบใหม่...ความเสี่ยงและโอกาสของภาคธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 28, 2018 15:36 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

สถานการณ์สำคัญ

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนพฤษภาคม 2561 ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีถึงเกือบ 15% และทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับประเทศผู้ผลิตในกลุ่ม OPEC และรัสเซียได้ตกลงร่วมกันที่จะลดกำลังการผลิตรวมกันราววันละ 1.8 ล้านบาร์เรลจนถึงเดือนธันวาคม 2561 ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผลจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก อาทิ

  • สหรัฐฯ ประกาศจะคว่ำบาตรอิหร่าน

ต้นเดือนพฤษภาคม 2561 สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่าน และจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน (ผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 5 ของโลก) อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจะไม่รุนแรงนัก เพราะสหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ขณะที่นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังไม่มีประเทศอื่นที่มีท่าทีจะคว่ำบาตรอิหร่าน อีกทั้งอิหร่านยังมีทางเลือกที่จะส่งออกน้ำมันไปอินเดียและจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่เช่นเดียวกับสหรัฐฯ

  • ปัญหาการเมืองในเวเนซุเอลา

เวเนซุเอลาซึ่งเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองใหญ่ที่สุดของโลก และยังเคยเป็นประเทศส่งออกน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจเรื้อรัง จนส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด International Energy Agency (IEA) คาดว่า ผลผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาจะลดลงต่ำสุดในรอบ 70 ปี เหลือ 1.38 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงสิ้นปี 2561

  • ความตึงเครียดทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางหลายประเทศยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับประเทศในภูมิภาค เช่น ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล เพิ่มแรงกดดันต่อตลาดน้ำมันอยู่เป็นระยะ

ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย

แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า โลกอาจต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และบางรายคาดว่าจะสูงถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในภาพรวมแล้วยังเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับขึ้นไม่รุนแรงนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมัน และเพิ่มปริมาณการผลิต Shale Oil สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังมีการเก็บน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน จึงเชื่อว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะมาทดแทนน้ำมันส่วนที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลาได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการตัดสินใจของรัสเซียและซาอุดีอาระเบียว่าจะผ่อนคลายมาตรการจำกัดปริมาณการผลิตหรือไม่ ซึ่งหากทั้งสองประเทศมีการเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นจริงก็จะมีส่วนช่วยทดแทนอุปทานน้ำมันดิบที่ลดลงได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อภาคธุรกิจมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติของแต่ละธุรกิจ โดยธุรกิจที่มีโอกาสกลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้งหากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมากและนานพอ คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลาสติกชีวภาพ

สำหรับโอกาสและผลกระทบของแต่ละอุตสาหกรรมมีดังนี้

+ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน และในระยะสั้นจะมีกำไรจากสต็อก

+ เชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน อาทิ เอทานอล และไบโอดีเซล คาดว่าจะได้รับผลดีจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนน้ำมัน รวมถึงสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบอย่างมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน ก็จะได้รับผลดีตามไปด้วย

+ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แม้ไทยจะมีแผนชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากธุรกิจพลังงานทดแทน แต่คาดว่าหากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมากและต่อเนื่องเป็นเวลานานพอ หลายประเทศจะหันมาใช้มาตรการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการทำธุรกิจดังกล่าว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)

+ รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์รุ่นประหยัดน้ำมัน มีโอกาสได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

+ พลาสติกชีวภาพ ซึ่งตอบโจทย์ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีโอกาสกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งหากราคาน้ำมันสูงถึงระดับที่ทำให้ราคาพลาสติกชีวภาพพอจะแข่งขันกับราคาพลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้

+ ยางพารา ราคายางพารามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคายางสังเคราะห์ที่ใช้วัตถุดิบจากปิโตรเลียม

+ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มีโอกาสได้รับผลดีจากผู้ป่วยตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามารับการรักษามากขึ้น หลังมีรายได้จากการขายน้ำมันเพิ่มขึ้น

  • ธุรกิจเกษตรแปรรูป ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่ง ตลอดจนการทำประมงที่ต้องใช้เรือประมงออกไปจับสัตว์น้ำ อีกทั้งยังต้องแย่งชิงวัตถุดิบกับกลุ่มพลังงานชีวมวล
  • ธุรกิจเหล็ก ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และผลกระทบทางอ้อมจากต้นทุนค่าขนส่ง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก
  • ธุรกิจสายการบิน ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งมีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนสูง จะต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนและอำนาจในการปรับเพิ่มราคาจำหน่าย

เกร็ดน่ารู้

  • RBC Capital Markets วาณิชธนกิจของแคนาดา ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัดส่วนรายจ่ายค่าน้ำมันสูงถึง 8-9% ของรายได้ จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนรายจ่ายค่าน้ำมันเพียง 1-2% ของรายได้ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า จากสถิติในอดีต ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับขึ้น 10% จะทำให้ GDP ขยายตัวลดลง 0.1% อีกทั้งราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับขึ้นทุก 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ยังส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยลดลงราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อสังเกต

  • นอกจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในอนาคต คือ มาตรการขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินทะเลต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณค่ากำมะถันไม่เกิน 0.5% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3.5% ทั้งนี้ Morgan Stanley คาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ