บทความพิเศษ: สงครามการค้า : ใครเจ็บมาก...เจ็บน้อยกว่ากัน?

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 2, 2019 14:21 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนปะทุขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 อัตราขยายตัวของการค้าโลกชะลอลงต่อเนื่อง และเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2562 ที่การค้าโลกเริ่มหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยจากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าการส่งออกรวมของทั้งโลกในช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 หดตัว 2.8% คิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไปราว 2.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 0.3% ของ GDP โลก ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ล่าสุดของ IMF ที่ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ลงจาก 3.3% เหลือ 3.0% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าส่งออกของประเทศฃคู่ค้าสำคัญของไทย (คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของมูลค่าส่งออกรวม) พบหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • เอเชียกับยุโรปเจ็บหนักสุด ประเทศที่มีมูลค่าส่งออกลดลงมากส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ใน 2 ภูมิภาคหลักคือ เอเชียและยุโรปมีเพียงบราซิลซึ่งอยู่ในลาตินอเมริกา
  • ใครเอี่ยวกับจีนมากจะเจ็บหนัก ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ที่มูลค่าส่งออกลดลงมากล้วนเป็น Supply Chain สำคัญของจีนและ/หรือพึ่งพาการส่งออกไปจีนในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปจีน 11% ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกรวมของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัว 2.9% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกที่ลดลงกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่การส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าไทย อาทิ เกาหลีใต้ (พึ่งพาการส่งออกไปจีน 27%) ญี่ปุ่น (20%) ฮ่องกง (55%) สิงคโปร์ (12%) อินโดนีเซีย (15%) มาเลเซีย (14%)ไต้หวัน (29%) รวมถึงบราซิลที่ส่งออกไปจีนถึง 27% โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์
  • ใครเอี่ยวกับสหรัฐฯ มากมีแนวโน้มเจ็บตัวน้อยกว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าไทยในแง่การส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่าตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ สะท้อนได้ว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ช่วยดูดซับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าในประเทศเหล่านั้นได้ระดับหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ไทยเองก็ได้อานิสงส์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ที่ขยายตัวถึง 17% ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ถือว่าขยายตัวได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทำให้สหรัฐฯ ยังต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ มาทดแทนสินค้าจีนที่มีราคาแพงขึ้นจากภาษี สะท้อนได้จากมูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 ที่ไม่ได้ลดลงตามที่หลายฝ่ายคาด โดยยังขยายตัวได้ 0.2% สวนทางกับมูลค่านำเข้าของจีนที่หดตัวราว 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ยุโรปถูกซ้ำเติมจากปัจจัยภายในภูมิภาค มูลค่าส่งออกของประเทศในยุโรปที่ลดลงมากทั้งเยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อาจมีสาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจยุโรปเองที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของภูมิภาคทั้งเยอรมนีและสหราชอาณาจักรที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ Technical Recession จาก GDP ไตรมาส 1 ปี 2562 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ การที่ประเทศในยุโรปค้าขายกันเอง (Intra-regional Trade) กว่า 65% ของการค้าทั้งหมด แต่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดคู่กรณีอย่างสหรัฐฯ และจีนสัดส่วนรวมกันราว 11% เท่านั้น มูลค่าส่งออกที่ลดลงจึงอาจมีสาเหตุจากสงครามการค้าเพียงบางส่วน
  • คู่กรณีที่ก่อสงครามกลับเจ็บตัวน้อย จากตัวเลขผลกระทบต่อการส่งออกและ GDP ข้างต้นพบว่าสหรัฐฯ และจีนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทั้งสองประเทศมีภูมิต้านทานที่ดี โดยสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่จีนก็ได้ตัวช่วยจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่พร้อมเข้ามาประคับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะการลงทุนซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาทั้งจีนและสหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์การลงทุนนำการค้า (Investment-induced Trade) อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าไปลงทุนในประเทศปลายทางเพื่อสร้างตลาดให้กับสินค้าของตนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้มีการเชื่อมโยง Supply Chain ระหว่างประเทศแม่และประเทศปลายทางมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมได้บางส่วน
  • อุปสงค์ในประเทศเป็นเกราะกำบังสงครามการค้าชั้นดี มีข้อสังเกตว่าหลายประเทศที่การส่งออกได้รับผลกระทบค่อนข้างมากดังเห็นได้จากมูลค่าส่งออกที่หดตัวลงมาก แต่เศรษฐกิจในภาพรวมกลับได้รับผลกระทบไม่มากนัก อาทิ บราซิล สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งมูลค่าส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ของทุกประเทศหดตัวมากกว่าไทยทั้งสิ้น แต่ผลกระทบต่อ GDP กลับน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับไทย เนื่องจากประเทศเหล่านี้พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลักขณะที่ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ
  • มีสัญญาณการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกมากขึ้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมีจีนเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “Factory of the World” ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงถือเป็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง “ผู้ผลิตและส่งออกสินค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก” อย่างจีน กับ “ผู้บริโภคและนำเข้าสินค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก” อย่างสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรก ปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ลดลง 12% คิดเป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งส่งผลกระทบต่อจีนและบรรดาประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การที่มูลค่านำเข้าโดยรวมของสหรัฐฯในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ลดลง แต่กลับขยายตัวได้ราว 0.2% สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากตลาดอื่นๆ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน โดยเฉพาะเม็กซิโก เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูง สอดคล้องกับข้อมูลในตารางที่ 1 ที่ระบุว่าทั้ง 3 ประเทศข้างต้นเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อ อาจทำให้จีนลดบทบาทในฐานะของการเป็น “Factory of the World” ลงไป ขณะที่ฐานการผลิตอาจเริ่มย้ายออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม อินเดีย และเม็กซิโก ที่อาจก้าวขึ้นมาเป็น “The New Factories of the World” แทนที่จีนในบางส่วน

ในส่วนของประเทศไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบของสงครามการค้าในครั้งนี้ที่อาจยืดเยื้อเป็นเวลานาน ควบคู่ไปกับการสร้างเกราะป้องกันสำหรับสงครามการค้าหรือมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป ทางออกในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการไทยคือการกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาด New frontiers ซึ่งกำลังซื้อยังเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อาทิ CLMV แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น หรือกระจายการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรงจากการที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนไปยังตลาดหลบภัยอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้า อาทิ การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าไปเม็กซิโก หรือส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไปตลาดอินเดีย แคนาดา เป็นต้น สำหรับทางออกในระยะยาวทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการผลักดันการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และมีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีโลกอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ปิดฉาก ASEAN Summit : ปลดล็อกข้อจำกัด... ผลักดัน RCEP เดินหน้าต่อ

จบไปแล้วกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี 2562 ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในบรรดาหัวข้อการเจรจาในครั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ถือเป็นจุดสนใจของนานาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยเป็นความตกลงที่เป็นคู่เทียบกับความตกลงเขตการค้าเสรีสำคัญอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นหัวหอกแม้ปัจจุบันถูกลดระดับความสำคัญลงหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัว จนปัจจุบันบรรลุข้อตกลงภายใต้ชื่อ Comprehensive and ProgressiveAgreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ประกอบกับเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญสงครามการค้าซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดการค้าเสรีโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จในการเจรจาความตกลง RCEP ในครั้งนี้จึงถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า และกระแสปกป้องทางการค้าที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

ความสำเร็จที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ การที่ประเทศไทยสามารถผลักดันให้เกิดผลสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP ได้ครบข้อเจรจาทั้งหมด 20 บท จากช่วงต้นปี 2562 ที่ได้ผลสรุปเพียง 7 บท โดยเป็นการบรรลุข้อเจรจาระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นเพียงอินเดียที่ยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP ซึ่งหลังจากนี้คณะเจรจาต้องไปจัดเตรียมข้อกฎหมายเพื่อให้พร้อมสำหรับการลงนามในปี 2563 สำหรับประเด็นที่น่าสนใจและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากความตกลง RCEP มีดังนี้

  • การเจรจายังคงยึดมั่นในการให้สมาชิก ซึ่งหมายถึงประเทศในอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศ สามารถดำเนินการโดยสมัครใจ และเคารพสิทธิของแต่ละประเทศผู้ร่วมเจรจา โดยการยอมให้อินเดีย ซึ่งยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP ถอนตัวออกก่อน แต่ยังสามารถกลับมาเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันได้ในภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่าโอกาสที่อินเดียจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจามีความเป็นไปได้พอสมควร เพราะในเกมการต่อรองที่ไม่มีการกำหนดเวลาจบสิ้นชัดเจนเช่นการเจรจาในช่วงก่อนหน้า ทำให้การประเมินผลได้/เสียเป็นไปได้ยาก ซึ่งเมื่อความตกลง RCEP เริ่มเดินหน้าและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการค้าและการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อินเดียจะมีแรงจูงใจมากขึ้นในการเข้าร่วมความตกลง
  • กลุ่มประเทศภายใต้ความตกลง RCEP กลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติโดยประเทศสมาชิก RCEP (ไม่รวมอินเดีย) มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 24.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 29% ของขนาดเศรษฐกิจโลก ขณะที่มีประชากรรวมกันถึงราว 3.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนประชากรโลก สำหรับประเทศไทย ด้วยความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงนโยบาย EEC ซึ่งเป็น New Engine of Growth ของประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้นเช่นกัน
  • ความตกลง RCEP จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า แม้ว่าเดิมทีอาเซียนมีการทำ FTA กับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเป็นรายประเทศอยู่แล้ว แต่คาดว่าจะมีสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากความตกลง RCEP โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้เคยประเมินว่าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอรายละเอียดความตกลง RCEP ที่ชัดเจนเพื่อประเมินสินค้าที่จะได้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับการที่อินเดียยังไม่ได้ร่วมความตกลง RCEP อาจทำให้กลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เปลี่ยนแปลงไป
  • การที่อินเดียยังไม่เข้าร่วม RCEP ไม่ได้บั่นทอนการค้าระหว่างไทยและอินเดียแต่อย่างใด เนื่องจากไทยและอาเซียนยังคงมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีร่วมกับอินเดียภายใต้ Thailand-India Free Trade Agreement (TIFTA) และ ASEAN-India Free Trade Agreement (AIFTA) ขณะเดียวกันอินเดียนับเป็นตลาดเป้าหมายใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนในการเปิดตลาด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัวเฉลี่ย 9% ต่อปี เทียบกับการส่งออกของไทยโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ย 2%

แม้ว่า RCEP จะยังไม่สำเร็จผลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์และมีเวลาในการเตรียมพร้อมเพื่อรุกโอกาสการค้าการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อม โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่เปิดกว้างขึ้นจากความตกลง RCEP ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ควรศึกษาลู่ทางและแสวงหาโอกาสลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศนั้น อาทิ ความพร้อมด้านแรงงาน และทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการ ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนในต่างประเทศหรือยังไม่มีแผนการลงทุนในต่างประเทศ ควรเตรียมกลยุทธ์รับมือกับแนวโน้มการแข่งขันในประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติในอนาคต โดยผู้ประกอบการในภาคการผลิตจำเป็นต้องเร่งยกระดับศักยภาพของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ ไปจนถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ