Share โลกเศรษฐกิจ: บริบทใหม่ของการลงทุนระหว่างประเทศในโลกยุคหลัง COVID-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 6, 2021 15:32 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังเห็นได้จากมูลค่า FDI ของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2545 เป็นราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างใช้เครื่องมือของ FDI ในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการของตนเองออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ ๆ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก เป็นต้น ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างก็พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศตนเองผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการด้านภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อยกระดับภาคการผลิตและเศรษฐกิจของตนเอง อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน โดยการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ หรือ FDI ก็ถือเป็นหนึ่งภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นอันดับต้น ๆ รองจากภาคการท่องเที่ยว โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) รายงานว่า เม็ดเงิน FDI โลกปี 2563 ลดลงถึง 35% และแม้คาดว่าในปี 2564อาจกระเตื้องขึ้นมาได้บ้างแต่ยังมีมูลค่าต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด COVID-19 อยู่มาก ขณะที่ในระยะถัดไปก็เริ่มมีเค้าลางว่า COVID-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของ FDI โลกในหลายมิติ

จับตาเกาหลีใต้และไต้หวัน...New Engine of FDI Growth

ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระแสการลงทุนของโลก จนเกิดประเทศผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน FDI โลกหลายครั้ง อาทิ การเกิดข้อตกลง Plaza Accord ในปี 2528 ที่กดดันให้เงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วถึง 46% ภายในช่วงเวลาเพียง 1 ปี จนกลายเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ผลิตสินค้าของญี่ปุ่นต้องออกไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะในเอเชีย รวมถึงไทย จนทำให้เม็ดเงินลงทุนที่ญี่ปุ่นออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2528 เป็นกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2532 หรือเพิ่มขึ้นราว 7 เท่าตัวภายใน 5 ปี และทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ลงทุน FDI อันดับต้น ๆ ที่มีบทบาทต่อการลงทุน FDI ของโลกจนถึงปัจจุบัน หรือวิกฤต Hamburger ในปี 2551 ซึ่งได้ผลักดันให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะประเทศผู้ลงทุนใหม่ที่สำคัญของโลก จากการที่ประเทศมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจเปราะบางเรื้อรัง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่เร่งผลักดันผู้ประกอบการจีนให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนที่จีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 ไปแตะระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้น 9 เท่าในเวลา 9 ปี ซึ่งทำให้ FDI จากจีนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่มีทางออกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการจีนที่ได้รับผลกระทบออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งวิกฤต COVID-19 ในรอบนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเกาหลีใต้และไต้หวันในฐานะของประเทศผู้ลงทุน FDI ใหม่ที่จะเข้ามาเป็น New Engine of Growth ของ FDI โลกในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกาหลีใต้และไต้หวันถือเป็นผู้นำในเทคโนโลยีการผลิตชิปคุณภาพสูงที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ซึ่งถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าไฮเทคแทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 70% ของยอดจำหน่ายชิปคุณภาพสูงทั้งโลก ซึ่งการระบาดของ COVID-19 ได้กระตุ้นความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก Tablet และ Smartphone ให้เพิ่มมากขึ้น ตามกระแส Work from Home ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จนก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิปครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ผลิต Smartphone และ รถยนต์รายใหญ่หลายรายที่ต้องเลื่อน/หยุดผลิตชั่วคราว จากปัญหาขาดแคลนชิปดังกล่าว จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายประเทศต่างยื้อแย่งให้ผู้ผลิตชิปคุณภาพสูงของไต้หวันและเกาหลีใต้เข้ามาตั้งฐานการผลิตชิปในประเทศ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry) ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้ผู้ผลิตชิปจากเกาหลีใต้และไต้หวันเข้าไปสร้างโรงงานผลิตชิปในรัฐเท็กซัสและแอริโซน่า เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ผลิตชิปรายใหญ่จากไต้หวันให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตชิปในเมืองคุมาโมโต้ รวมไปถึงจีนและยุโรปที่กำลังเจรจาให้ผู้ผลิตชิปของเกาหลีใต้และไต้หวันเข้าไปลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศ หรือแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ต่างก็เร่งดึงดูดให้ผู้ประกอบการสัญชาติเกาหลีใต้และไต้หวันให้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อหวังจะสอดแทรกตัวเองให้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวให้ได้ ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อน FDI และอาจกลายเป็น New Engine of FDI Growth ของโลกในระยะถัดไป

Global Minimum Tax?จุดเปลี่ยนของกระแส FDI โลก

ประเด็นใหญ่ในแวดวงการลงทุนของโลกที่กำลังได้รับความสนใจและมีการพูดถึงในวงกว้างอยู่ในขณะนี้คือ การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax) ซึ่งเป็นอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ทุกประเทศต้องเรียกเก็บจากบรรษัทข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มักหลีกเลี่ยงการเสียภาษีนิติบุคคลโดยการย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่มีภาษีนิติบุคคลต่ำหรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บรรษัทข้ามชาติ ซึ่งแม้จุดเริ่มต้นของแนวคิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากที่นายโจ ไบเดน ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และมีนโยบายปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯ เป็น 28% จากเดิมที่ 21% เพราะต้องการนำรายได้ภาษีมาใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้งหลังการระบาดของ COVID-19 ซึ่งหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ต่างประสบปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง COVID-19 ซึ่งจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังดังกล่าว ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นล้วนแต่เสียประโยชน์จากการที่ผู้ประกอบการของตนมักย้ายฐานไปยังต่างประเทศเพื่อประโยชน์ด้านภาษี โดยล่าสุดในการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการกำหนด Global Minimum Tax ที่ 15% ใน 130 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2566

ทั้งนี้ Global Minimum Tax ที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลให้เม็ดเงิน FDI ทั่วโลกอาจไม่ได้ขยายตัวสูงเหมือนในอดีต และทำให้บรรษัทข้ามชาติบางส่วนอาจย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่ (Reshoring) โดยประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาเม็ดเงิน FDI จากต่างชาติในสัดส่วนสูง อาทิ ไซปรัส คองโก ฮังการี กัมพูชา ซึ่งมีสัดส่วน FDI เกินกว่า 10% ต่อ GDP อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ขณะที่กลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุน FDI ของประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องเปลี่ยนไป จากปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไปสู่การสร้างความได้เปรียบในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ กฎระเบียบด้านการลงทุนที่โปร่งใสและรวดเร็ว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือการยกระดับศักยภาพด้านแรงงาน เป็นต้น

Sustainable Development Goals (SDGs)?บรรทัดฐานใหม่ของการค้าและการลงทุนโลก

การระบาดของ COVID-19 ในรอบนี้ได้ปลุกกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแนวคิดในการพัฒนา ทั้งในระดับประเทศและภาคธุรกิจ จากแนวคิดเดิมที่ให้ความสำคัญกับ ?การเติบโตเชิงตัวเลข? ไปสู่ ?เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน? หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะเน้นไปที่การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้มีการเปิดเผยรายงาน Sustainable Development Report 2021 และการจัดอันดับ SDG Index ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าแต่ละประเทศมีการดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs คืบหน้ามากน้อยเพียงใด พบว่าในช่วงก่อนเกิด COVID-19 SDGs Index เฉลี่ยของโลกมีคะแนนสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า SDGs Index โลกปรับลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีในปี 2559 จากผลกระทบของ COVID-19 ที่ทำให้เป้าหมาย SDGs ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงลบ อาทิ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ความมั่นคงทางอาหารและระบบสาธารณสุขที่แย่ลง เป็นต้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คาดว่า แนวโน้มต่อจากนี้จะเห็นหลายประเทศและภาคธุรกิจทั่วโลกหันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามแนวทาง SDGs มากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติให้ได้ในปี 2573 ผ่านการสร้างกฎระเบียบและบรรทัดฐานใหม่ด้านการค้าการลงทุน ทั้งในระดับประเทศ หลายประเทศได้กำหนด SDGs เป็นเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมถึงได้สร้างกฎเกณฑ์ให้ประเทศคู่ค้าของตนต้องปฏิบัติตามเป้าหมายดังกล่าวด้วย อย่างกรณีของชาติตะวันตกที่มีการคว่ำบาตรจีนในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ หรือรัฐบาลจีนเองที่เข้ามาตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของตนเพื่อป้องกันการผูกขาด รวมถึงการที่หลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าหรือสร้างเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น หากคู่ค้าไม่สามารถปฏิบัติตาม อาทิ สหราชอาณาจักรจะเก็บภาษีนำเข้า 200 ปอนด์ต่อตัน กับสินค้าที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ไม่ถึง 30% โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2565 สำหรับในระดับบริษัท บริษัททั่วโลกหลายแห่งก็ได้มีการกำหนดกลยุทธ์องค์กรบนพื้นฐานของ SDGs มากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหรือนักลงทุนไม่ได้ให้ความสำคัญแค่คุณภาพสินค้าและราคา หรือตัวเลขทางการเงินต่าง ๆ เท่านั้น แต่จะนำปัจจัยด้าน SDGs เข้ามาพิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือลงทุนในบริษัทนั้น ๆ ด้วย ปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายบริษัทได้เร่งปรับรูปแบบการผลิตและการบริการเพื่อให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานดังกล่าวมากขึ้น อาทิ Apple กำหนดให้คู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน จะต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วน 10-30% ในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนให้กับ Apple ภายในปี 2568 เป็นต้น

ท่ามกลางบริบทของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปหลังยุค COVID-19 ทำให้ไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก จำเป็นต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในระดับภาครัฐ ที่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุนให้มีความสะดวกรวดเร็ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับศักยภาพด้านแรงงาน เป็นต้น เพื่อรักษาเสน่ห์ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทย ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับบริบทของการลงทุนที่จะเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการหาทางแทรกตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่ถือเป็นผู้กุมเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับกระแส SDGs ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและยืนหยัดบนเวทีการค้าการลงทุนโลกได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ