ส่องเทรนด์โลก: ความยั่งยืนกับ 7 เรื่องน่ารู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 3, 2022 14:13 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี นอกจากลมหนาวที่คนไทยจำนวนไม่น้อยรอคอยแล้ว อีกสิ่งที่จะมาพร้อม ๆ กับอากาศเย็นคือฝุ่น PM 2.5ที่กระจายตัวหนาดูคล้ายหมอกขาวอยู่ในอากาศ หมอกที่ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกสดชื่น แต่กลับเป็นภัยเงียบที่รอวันส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้คนในระยะยาว ทั้งนี้ ปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากยานพาหนะการเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างใกล้ตัวที่ทำให้ผู้คนตระหนักว่า รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนจะส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้มากเพียงใด ความตื่นตัวเช่นนี้ทำให้ปัจจุบัน ?ความยั่งยืน? กลายเป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนก็มีแนวโน้มจะถูก ทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกแนวทางการผลิตหรือการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนจะส่งผลเสียมากกว่าในระยะยาว แต่การตัดสินใจในระยะสั้นก็ต้องยอมรับว่า การที่ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าสู่แนวทางของความยั่งยืนย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ดังนั้น การเข้าใจความต้องการหรือมุมมองของผู้บริโภคจะทำให้ผู้ประกอบการจัดลำดับความสำคัญและเลือกได้ว่า ควรปรับเปลี่ยนที่ตัวสินค้าหรือกระบวนการผลิตให้ยั่งยืนก่อน และเปลี่ยนได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อธุรกิจของท่านและดีต่อโลกไปพร้อม ๆ กัน ?ส่องเทรนด์โลก? ฉบับนี้จึงรวบรวม 7 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ผู้ประกอบการควรทราบ ดังนี้

มุมมองต่อความยั่งยืนในสายตาผู้บริโภคและการปรับตัวของผู้ประกอบการ

1. สัดส่วนผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและเริ่มลงมือแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคที่รับรู้และมีความกังวลต่อปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้นจากราว 55% ในปี 2558 เป็นกว่า 65% ในปี 2565 และที่น่าสนใจคือ นอกจากการรับรู้หรือตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนแล้ว ผู้บริโภคจำนวนมากยังเริ่มต้นลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ไม่ว่าจะเป็นการลดอาหารเหลือทิ้ง ลดการใช้พลาสติก รวมถึงเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสัดส่วนผู้บริโภคที่เชื่อว่า การกระทำของตนจะมีส่วนช่วยให้โลกดีขึ้นได้มีสัดส่วนเพิ่มจากราว 45% เป็นเกือบ 60% ในช่วงเดียวกัน ช่องว่างที่แคบลงระหว่างการตระหนักรู้กับการลงมือทำนี้เป็นสัญญาณว่า นับจากนี้สินค้าหรือบริการที่จะครองใจผู้บริโภคได้ จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลโลก เพราะปัจจุบันมีผู้บริโภคเกินครึ่งที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พื้นที่ของสินค้าที่ไม่ดูแลโลกหดแคบลงเรื่อย ๆ

2. พลาสติกและบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากเป็นสิ่งใกล้ตัวที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันและปรับเปลี่ยนได้ไม่ยากเกินไป ทั้งนี้ ผลสำรวจผู้บริโภคปี 2565 พบว่า 3 ใน 5 สิ่งแรกที่ผู้บริโภคจะเลือกทำมากที่สุดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมหรือเพื่อความยั่งยืน ล้วนเกี่ยวข้องกับพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลาสติก การรีไซเคิล หรือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ จากผลสำรวจดังกล่าวยังมีข้อสังเกตว่า สัดส่วนผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน (เช่น ปล่อยคาร์บอนต่ำ ใช้น้ำน้อย ไม่มีสารเคมีตกค้างที่เป็นพิษต่อผู้บริโภคหรือสิ่งแวดล้อม ไม่กดขี่แรงงาน รวมถึงใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์) ยังมีสัดส่วนต่ำกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็สะท้อนว่า แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ กล่าวคือ แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเห็นความสำคัญของความยั่งยืนหรือทราบว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่ายั่งยืน หรือควรเลือกซื้อสินค้าและบริการแบบใดจึงจะนำไปสู่ความยั่งยืน และในขณะเดียวกัน สัดส่วนผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป สะท้อนว่าในตลาดปัจจุบันยังมีสินค้าและบริการที่ยั่งยืนอยู่ไม่มากพอ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ยั่งยืนไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจที่ถูกต้องและหันมาปรับเปลี่ยนการเลือกใช้สินค้าของตนให้ยั่งยืนขึ้น

3. ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมีสัดส่วนใกล้เคียงกันในทุกระดับรายได้ แม้ว่าในภาพรวมจะยังมีผู้บริโภคที่เข้าใจไม่ชัดเจนนักว่าอะไรบ้างคือความยั่งยืน แต่ในทางกลับกัน ก็มีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแง่มุมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากที่สุด โดยผู้บริโภคที่ระบุว่าตนเองใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง (Eco-conscious) จะเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน พยายามลดปริมาณขยะโดยการนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่หรือนำไปรีไซเคิล และจะคอยสังเกตพฤติกรรมของตนเองและพยายามหาทางปรับปรุงให้ดีต่อโลกมากขึ้นเสมอ ๆ

เรื่องที่น่าสนใจคือ คนส่วนใหญ่มักคิดว่า การใส่ใจเรื่องความยั่งยืนหรือการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นความสนใจของผู้ที่มีรายได้สูง ๆ ที่มีเวลาว่างหรือมีกำลังซื้อมากพอจะเลือกซื้อสินค้ารักษ์โลกเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยน่าจะหมดเวลาไปกับการดิ้นรนเอาตัวรอดจนไม่มีเวลาใส่ใจเรื่องเหล่านี้ แต่จากผลสำรวจในปี 2564 กลับพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังนี้กระจายตัวอยู่ในทุกระดับรายได้ในสัดส่วนที่ไม่ต่างกันนัก ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าจึงพึงตระหนักว่า ไม่ว่าสินค้าของท่านจะตั้งราคาอยู่ในระดับใด ก็จะมีผู้บริโภคราว 1 ใน 5 ที่ต้องการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสมอ

4. สิ่งแวดล้อมเป็นหัวข้อความยั่งยืนที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญมากที่สุด ผลสำรวจในปี 2565 พบว่ามีบริษัทถึง 85% ที่เห็นว่า ?การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม? เป็นหนึ่งในนิยามของความยั่งยืน โดยได้คะแนนสูงกว่าการลดการใช้พลังงานในการผลิต การดูแลชุมชนในท้องถิ่น หรือการดูแลพนักงาน ส่วนแผนการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2570) มีบริษัทถึง 80% ที่ระบุว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน

5. เมื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นกว่าวัตถุดิบหรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ หลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคมักเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Beauty and Personal Care) ที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ (Natural) หรือส่วนผสมที่เป็น Organic เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากสารเคมีในเครื่องสำอาง แต่จากผลสำรวจผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงาม 2 ครั้งล่าสุด พบว่าผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างการใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น สวนทางกับความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติหรือใช้ส่วนผสมที่เป็น Organic ที่มีสัดส่วนผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ในปี 2563 ลดลง 6-8% จากปี 2559

6. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามหันมาออกสินค้าในบรรจุภัณฑ์สำหรับเติม (Refill) หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ (Reusable) มากขึ้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากร นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำที่มีชนิดเติมจำหน่ายอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ปัจจุบันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม อาทิ เครื่องสำอางสำหรับการแต่งหน้า (Color Cosmetics) น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกาย ต่างหันมาออกผลิตภัณฑ์ชนิดเติมกันอย่างหลากหลาย เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางที่ปกติจะค่อนข้างยุ่งยาก เพราะมักประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เป็นวัสดุต่างชนิดกัน

7. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำหันมาออกสินค้าแบบแข็ง (Solid) มากขึ้น เพื่อลดขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำในรูปแบบของแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสบู่หรือแชมพู เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของแข็งทำให้ลดขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ลงอย่างมาก ทั้งในแง่ปริมาณที่จะลดลงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว และยังช่วยลดการใช้พลาสติก เพราะบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำในรูปแบบของแข็งส่วนใหญ่มักผลิตจากกระดาษจึงย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับอาบน้ำในรูปแบบของแข็ง โดยเฉพาะสบู่ก้อน ถูกใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้วในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (รวมถึงไทย) และทวีปอเมริกาใต้ ขณะที่ในยุโรปตะวันตกยังใช้กันไม่มากนัก แต่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจความยั่งยืน ซึ่งผู้ผลิตก็ตอบรับกระแสดังกล่าว และพยายามออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าใช้ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่หันมาใช้เพิ่มขึ้น

กระแสตื่นตัวเรื่องความยั่งยืน ทั้งในหมู่ผู้บริโภคที่มีความตระหนักและเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของตนเองให้ยั่งยืนขึ้น และในหมู่ผู้ประกอบการที่ต่างเร่งปรับการดำเนินธุรกิจของตนเองให้สอดคล้องกับแนวทางของความยั่งยืน กำลังบีบให้ธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนเหลือพื้นที่ลดลงเรื่อย ๆ ในชั่วโมงนี้ความยั่งยืนจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ได้ก่อนจะไม่เหลือที่ยืนในใจผู้บริโภค

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2565


แท็ก PM 2.5  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ