Share โลกเศรษฐกิจ: จาก Green สู่ Blue Economy...อีกหนึ่งกลไกสร้างโลกที่ยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 3, 2024 14:23 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าทั่วโลกจริงจังกับการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน สะท้อนได้จาก Net Zero Tracker ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford พบว่ามีกว่า 150 ประเทศทั่วโลกตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ระดับโลก (Forbes Global 2000) ที่ตั้งเป้าดังกล่าวถึงกว่า 1,000 แห่ง (ตุลาคม 2566) เพิ่มขึ้นจากราว 700 แห่งในเดือน มิถุนายน 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในระยะเวลาเพียง 16 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแนวทางหลักที่หลายภาคส่วนนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งกลไกที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก และคาดว่าจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นคือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งมีความน่าสนใจในหลายประเด็น ดังนี้

  • Blue Economy สำคัญอย่างไร หากสีเขียวทำให้เรานึกถึงผืนป่า สีน้ำเงินก็คงทำให้เรานึกถึงผืนน้ำและมหาสมุทร ในเบื้องต้น Blue Economy มีหลักการคล้ายกับ Green Economy แต่จะเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเป็นหลัก ซึ่งมหาสมุทรถือเป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก โดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของโลกจะสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังพบว่ามหาสมุทรช่วยผลิตก๊าซออกซิเจนบนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% อีกทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซ CO2 กว่า 25% อีกด้วย เหตุผลดังกล่าวทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกลายเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (SDG) ลำดับที่ 14 (Life Below Water) ของ UN
  • ทำอย่างไรถึงจะผลักดัน Blue Economy นอกจากจะต้อง ?ลงแรง? ช่วยกันรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ ?เงินทุน? เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร อย่างไรก็ตาม มีการประเมินจาก OECD พบว่าเป้าหมาย SDG ที่ 14 เกี่ยวโยงโดยตรงกับ Blue Economy และเป็นเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนน้อยที่สุดในบรรดา 17 เป้าหมาย โดย World Economic Forum (2022) คาดว่าหากจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ 14 ในปี 2573 ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ามี Gap มากถึงเกือบ 165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP ไทยเลยทีเดียว
  • Blue Bond ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยปิด Gap ดังกล่าว ปัจจุบันจากงานวิจัยของ Columbia University พบว่าแม้อัตราการขยายตัวของ Blue Bond ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) จะขยายตัวถึง 92% ต่อปี (CAGR) แต่หากพิจารณาในแง่มูลค่าตลาดที่ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทั้งหมด ถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับ Green Bond ที่มีส่วนแบ่งกว่า 50% ทั้งนี้ ตั้งแต่สาธารณรัฐเซเชลส์ออก Blue Bond ครั้งแรกปี 2561 ก็มีการออก Blue Bond ในโลกเพียง 26 ฉบับ (ข้อมูลจาก Columbia University ณ สิ้นปี 2565) จนหลายคนกล่าวว่า ปัจจุบันตลาด Blue Bond ยังอยู่ในระดับเดียวกับตลาด Green Bond เมื่อ 10 ปีก่อนเท่านั้น โดยที่ผ่านมาสาเหตุที่ Blue Bond ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก อาจเป็นเพราะยังไม่มีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ International Finance Corporation (IFC) ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจัดทำ Guidelines for Blue Finance ขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มเห็นผู้เล่นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากก่อนนี้กว่าครึ่งของ Blue Bond เป็นการออกโดยองค์กรระหว่างประเทศหรือรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่
  • ไทยจำเป็นต้องพัฒนา Blue Economy หรือไม่ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ไม่น้อย จากรายงาน National State of Oceans and Coasts ปี 2563 พบว่า Blue Economy ของไทยมีสัดส่วนถึงราว 30% ต่อ GDP และจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวม โดยหลายธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับ Blue Economy ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประมง การท่องเที่ยว การขนส่งทางทะเล พลังงาน ตลอดจนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย หรือแม้แต่โครงการแลนด์บริดจ์ ก็ล้วนเกี่ยวโยงกับ Blue Economy แทบทั้งสิ้น

คงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างการรับรู้และพัฒนา Blue Economy ให้ผสานไปกับการขับเคลื่อน Green Economy ที่มีอยู่เดิมอย่างไร้รอยต่อ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีทรัพยากรที่มีคุณค่าส่งมอบให้คนรุ่นหลังต่อไป และช่วยขับเคลื่อนประเทศบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้เร็วยิ่งขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ