รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ระหว่างวันที่ 1-15 มิ.ย. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ

ชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 537.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 100.34 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-เมษายน 2553 ซึ่งมีมูลค่า 411.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 87.26

1.2 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- เมษายน 2553ได้แก่

  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 129.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 40.74 (มกราคม-เมษายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.34) สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากคือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.47 เครื่องซักผ้า ร้อยละ 12.30 ผลิตภัณฑ์ยางร้อยละ 51.37 เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบเพิ่มขึ้นร้อยละ 221.62 สินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดนี้ได้ลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกลลดลงร้อยละ -31.29 ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ร้อยละ -28.97 รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ —66.47 ผลิตภัณฑ์พลาสติก ลดลงร้อยละ -5.20 ผ้าผืนลดลงร้อยละ -38.02 เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ลดลงร้อยละ -38.02
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 107.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 202.67 (เดือนมกราคม — เมษายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 165.68) สินค้าที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นมากได้แก่ รถยนต์ เพิ่มร้อยละ 426.67 เครื่องซักผ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.60 ตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.52 ผลิตภัณฑ์ยางร้อยละ 92.60 เม็ดพลาสติกร้อยละ 186 ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 554.60 เครื่องยนต์สันดาปภายในเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,933.89 เครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 198.04 สินค้าที่ส่งออกได้ลดลง ได้แก่ เตาอบไมโครเวฟลดลงร้อยละ -24.62 หลอดไฟฟ้า ลดลงร้อยละ -27.32
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 109.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 15.93 (มกราคม —เมษายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.79) สินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.19 เครื่องยนต์สันดาปภายในเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.62 เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนร้อยละ 17.06 ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.03 สินค้าที่ส่งออกได้ลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกลลดลงร้อยละ —27 ผลิตภัณฑ์ยางลดลงร้อยละ —8.47 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลดลงร้อยละ —10.44 เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆลดลงร้อยละ —11.69

1.3 ตลาดที่สภาวะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2553 มีอัตราเพิ่มขึ้นที่ต่ำกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม-เมษายน 2553 ได้แก่

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 190.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 313.64 (มกราคม - เมษายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 322.19) สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากคือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,720.95 เครื่องซักผ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.94 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.80 ปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58 ผลิตภัณฑ์พลาสติกร้อยละ 113.34 เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,566.80 ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.97 ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 580.64 ตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,060.12 สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกล ลดลงร้อยละ —0.62 ผลไม้กระป๋องและแปรรูปลดลงร้อยละ —10.80 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ -31.44 เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ลดลงร้อยละ —71.61 เม็ดพลาสติกลดลงร้อยละ —14.56
2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 ภาวะการนำเข้าจากประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 5 เดือนแรกของปีนี้ เปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลา 4 เดือนแรกของปีนี้ โดยรวม 4 ตลาด มีอัตราเพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่สูงขึ้น โดยมีสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และชิ้นส่วน เป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะเป็นสินค้าที่นำเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งในทุกตลาด และมีอัตราขยายตัวจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนในทุกตลาด ทั้งนี้ ภาวะการนำเข้ารถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะจากไทยสูงขึ้นมาก และตลาดชิลีเริ่มมีการนำเข้ารถยนต์นั่งบุคคลจากไทย (ฮอนด้า) ซึ่งเดิมยังไม่มีการนำเข้ามากนัก โดยคาดว่าจะยังคงนำเข้าในอัตราที่สูงอยู่อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ภาวะการนำเข้าจากไทยโดยรวมเพิ่มขึ้น (เริ่มมีการ Order สินค้ารถยนต์กระบะจากไทยในปลายส.ค. 52 เมื่อสต๊อคเริ่มงวดลงมาก ผลิตเสร็จและเริ่มส่งออกสินค้า Shipment ใหม่ไปตลาดในช่วง ธ.ค. 52 ถึงต้นปี 2553 และยังส่งออกมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน) ในส่วนของสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ สคร. ได้มีโอกาสสอบถามความเห็นของผู้นำเข้าชิลีและผู้ส่งออกไทยบางราย เห็นว่าตลาดในปีนี้จะยังคงดีต่อไป

2.2 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของชิลีและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยได้แก่

2.1.1 ธนาคารกลางชิลีเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของชิลีในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวร้อยละ 4.6 สูงกว่าอัตราขยายตัวในเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และเป็นอัตราการขยายตัวรายเดือนที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา โดยสาขาที่มีการขยายตัวมาก ได้แก่ สาขาไฟฟ้า แก๊ส ประปา การคมนาคม และการก่อสร้าง และนอกจากนี้ ค่าตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (IMACEC) ของชิลี ในเดือนเมษายน 2553 ยังขยายตัวถึงร้อยละ 8 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของชิลีฟื้นตัวจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 แล้ว ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของชิลียังได้แถลงว่า เป็นที่เชื่อได้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างมากต่อไป

2.1.2 จากการที่ U.S. Environmental Protection Agency ได้แถลงว่า ทองแดงมีคุณสมบัติในการต้านจุลชีพที่เป็นบักเตรีต่างๆ ทำให้ปัจจุบันทองแดงมีคุณค่าสูงขึ้นในการนำไปใช้เป็นวัสดุส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกันบักเตรี อันจะทำให้ชิลีมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกทองแดง เนื่องจากทองแดงที่ส่งออกจากชิลีคิดเป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดส่งออกทองแดงของโลก

2.1.3 สถาบันสถิติแห่งชาติชิลีเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของชิลีในช่วง กุมภาพันธ์ — เมษายน 2553 ลดลงร้อยละ 0.4 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.6 แม้จะมีอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ก็ตาม โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าจำนวน 420,180 อัตรา สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ สาขาก่อสร้าง การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ การศึกษา ซึ่งรัฐมนตรีคลังของชิลีได้ให้ทรรศนะต่อเรื่องนี้ว่า เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และนักวิชาการยังให้ทรรศนะว่าวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชิลีได้มากเท่าปัญหาวิกฤติ subprime mortgage situation ที่เกิดในปี 2009

2.1.4 Chilean Chamber of Commerce เปิดเผยว่า อุบัติภัยแผ่นดินไหวในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อันยังผลให้มีบ้านถูกทำลายเสียหาย 400,000 หลังคาเรือน ทำให้ในช่วงเดือนมีนาคมมีธุรกรรมการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2010 สูงกว่าในเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4

2.1.5 IMF พยากรณ์ว่า ในปี 2011 ชิลีและเปรู จะเป็นประเทศระดับนำในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคละตินอเมริกา โดยคาดว่า ทั้งสองประเทศจะมีอัตราความเจริญเติบโตประมาณร้อยละ 6 โดยธนาคาร Deutsche Bank ก็ได้ให้ความเห็นด้วยกับการพยากรณ์ของ IMF ว่ามีสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจของชิลีมีทิศทางไปในทางบวก โดยจะมีแรงเหวี่ยงที่แรงขึ้นในปีหน้า สำหรับในปี 2010 IMF คาดว่าเปรูจะเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคโดยอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.8

2.1.6 Association of Industrial Fishing ของชิลี เปิดเผยว่า อุบัติภัยแผ่นดินไหวยังผลเสียหายทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมการประมงของชิลีสูญเสียรายได้ไปร้อยละ 46.4 จากปีก่อน โดยลดลงจาก 412 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 221 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสาเหตุมาจากการที่มีการผลิตลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าปลาแช่แข็งและแปรรูปกระป๋อง ปลาป่น และน้ำมันปลา ยังผลให้สินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ ยังมิอาจทราบได้ว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่สำหรับ บริษัทต่างๆที่มีโรงงานผลิตอยู่บนภาคพื้นแผ่นดินตามชายฝั่งทะเลที่โดนคลื่นยักษ์ซึนามิทำลาย จะต้องใช้เวลาในการบูรณะใหม่ถึง 2 ปี

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 มิ.ย. 53

สคร. ณ กรุงซานติอาโก ดำเนินการ

1. ประสานงานผู้นำเข้า 2 ราย เรื่องการจัดคณะผู้แทนการค้ามาเยือนงานแสดงสินค้า Thaifex 2010

2. ประสานงานผู้นำเข้า 2 ราย เรื่องขอผลการซื้อสินค้าจากผู้แสดงสินค้าในงาน BIG+BIH 2010 และผู้ส่งออกไทยทั่วไป แล้วรายงานสรุปผลการจัดคณะผู้แทนการค้ามาเยือนงาน BIG + BIH April 2010

3. สรุปผลการจัดคณะผู้แทนการค้ามาเยือนงาน BIFF & BIL 2010

4. เชิญผู้นำเข้า 1 ราย มาเยือนงานแสดงสินค้าต่างๆของกรมฯ ส่วนที่เหลือในช่วงปลายปี 2010

5. รายงานการเชิญชวนเข้าร่วมกระบวนการลงทะเบียนผู้มีคุณสมบัติในการรับงานจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการ PHAM

6. รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ตลาดชิลี เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์ ช่วง 1-15 พ.ค. 2553

7. รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ตลาดชิลี เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์ ช่วง 16-31 พ.ค. 2553

8. ประสานงานผู้นำเข้า 1 ราย เรื่องข้อมูลประกอบการเยือนงานแสดงสินค้าไทยที่จัดโดย BITEC

9. เชิญผู้นำเข้าเพิ่มเติม 2 ราย มาเยือนงานแสดงสินค้า Thaifex 2010

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ