รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ระหว่างวันที่ 1-15 ก.ย. 53

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ

ชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 839 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 130 เป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2553 ซึ่งมีมูลค่า 676 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 111

1.2 ในทุกตลาด สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- มิถุนายน 2553กล่าวคือ

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 289 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 355 (มกราคม — มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 327)
  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 207 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 54 (มกราคม-มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 166 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 280 (เดือนมกราคม — มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 247)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 176 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 44 (มกราคม —มิถุนายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26)

1.3 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ การส่งออกไปชิลีขยายตัว 2,455 % ไปเปรูขยายตัว 697% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 89% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 53% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 74% ไปเปรูขยายตัว 517% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 4% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 159% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 198% ไปเปรูขยายตัว 86% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 32% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 62% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 273% ไปเปรูขยายตัว 1,331% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 199% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 27% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 33% ไปเปรูขยายตัว 56% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 56% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 22% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีลดลง -13% ไปเปรูขยายตัว 136% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว -63% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว -5% (- = ลดลง หรือ หดตัว)

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ยังมี Momentum ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงขยายตัว หลังจากนั้น อาจจะค่อยๆชะลอตัวลงเมื่อตลาดอิ่มตัว

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ อาทิเช่น ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลี ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 15 และค่าของเงินสกุลโซลเลสของเปรู ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 6 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อพอสมควรหากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.5.1 ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2553 ค่าของเงินเปโซชิลี แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับประมาณ 500 เปโซชิลี อันเป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมในจีนขยายตัวมากทำให้มีการนำเข้าทองแดงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของชิลีมาก ทำให้ชิลีมีรายได้จากการนี้เข้าประเทศมาก เฉพาะในเดือนสิงหาคม 2553 เงินเปโซแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ในตลาดนิวยอร์ค ราคาทองแดงส่งมอบเมื่อปลายปีที่แล้วสูงขึ้นถึงร้อยละ 2 นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางชิลี เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ การที่นักเศรษฐศาสตร์พากันคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของชิลีจะมีการขยายตัวในเชิงบวก การที่ตลาดหุ้นในชิลีมีผลประกอบการออกมาดี รวมทั้งการที่ทางการชิลี นำเงินสำรองเป็นเงินเหรียญสหรัฐออกมาใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลให้ค่าของเงินเปโซแข็งขึ้นมาก

2.5.2 ทั้งนี้ ค่าของเงินเปโซชิลี สูงขึ้นมากเป็นลำดับ 5 ของโลก ในบรรดาเงินสกุลต่างๆ ที่สูงค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกในประเทศ ร้องขอให้ธนาคารกลางของชิลีเข้าแทรกแซง แต่นาย Jose de Gregorio ประธานธนาคารกลางชิลี ยังเห็นว่าระดับการแข็งค่าขึ้นของเงินเปโซ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ ธนาคารกลางชิลีอยู่ในขั้นเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ อันอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 ก.ย. 53

1. จัดทำและประสานงาน นัดหมาย กำหนดการเยี่ยมคารวะและพบปะ สถาบันทางการค้า การลงทุน และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในเปรูและชิลี รวมทั้งจัดการต้อนรับอำนวยความสะดวก คณะผู้แทนระดับสูงภาครัฐและเอกชน นำโดย ฯพณฯ รมช. พณ. ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติราชการเยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ 4 — 7 กันยายน 2553 เพื่อเจรจาขยายตลาดและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า แสวงหาลู่ทางการลงทุนและการกระจายสินค้า ตลอดจนแสวงหาพันธมิตรทางการค้า และติดตามผลการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี โดยได้ประสานงานจัดการต้อนรับร่วมกับ สอท. ณ กรุงลิมา และสอท. ณ กรุงซันติอาโก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสอท. ทั้งสองแห่ง ด้วยดียิ่ง

2. จัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางมาเยือนงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 46 (The 46th Bangkok Gems & Jewelry Fair) ระหว่างวันที่ 7 — 11 กันยายน 2553 จำนวน 14 ราย ประกอบด้วยแขกระดับ VIP จำนวน 11 ราย และคณะผู้แทนการค้าธรรมดาจำนวน 3 ราย

3. จัดทำรายงานผลกระทบของกรณีค่าเงินบาทแข็งค่าที่มีต่อตลาดชิลีและตลาดอื่นๆที่เป็นเขตพื้นที่ดูแลของสำนักงานฯ

4. ดำเนินการให้บริการนักธุรกิจไทยและชิลีที่ติดต่อขอรับบริการจากสำนักงานฯ

5. ประสานงานให้บริษัท Hertz ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่ารถรายใหญ่ที่สุดในชิลี ที่กำลังวางแผนธุรกิจที่จะเดินทางมาซื้ออะไหล่ซ่อมบำรุงรถในเครือข่ายการให้บริการของบริษัทฯ ที่ประเทศไทย ให้ได้เดินทางมาพบปะเจรจาธุรกิจ กับผู้ส่งออกไทย รายบริษัท Fortune Parts Co., Ltd. ในเดือนตุลาคม 2553

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ