ตลาดสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 19, 2010 17:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในสภาวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราต่ำและเข้าสู่สภาวะ Deflation ครัวเรือนส่วนใหญ่ตัดทอนการใช้จ่ายลง ทั้งการซื้ออาหาร ของใช้ส่วนตัว และของใช้ในครัวเรือน แต่กลับพบว่ามูลค่าตลาด และการใช้จ่ายเงิน เพื่อซื้อสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงไม่เคยถดถอยแม้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงของครัวเรือน เฉลี่ยต่อปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,000 เยนต่อครัวเรือน ต่อปีเมื่อปี 2536 เป็นมากกว่า 15,000 เยน ในปี 2546 และเพิ่มเป็น 18,323 เยนในการสำรวจครั้งสุดท้ายในปี 2552

หากเราติดตามสถิติประชากรในญี่ปุ่น จะพบว่ามีตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งขึ้น กล่าวคือ ญี่ปุ่นมีประชากรจำนวน 127.07 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรเด็ก หรือผู้มีอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 17.14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.4 (การสำรวจของ Japan Pet Food Association วันที่ 1 เมษายน 2552) แต่มีจำนวนสุนัขและแมวมากถึง 26.83 ล้านตัว (ข้อมูลเมื่อปลายปี 2551) ชาวญี่ปุ่นมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา จึงรักและดูแลอย่างดีเหมือนเป็นสมาชิกสำคัญในครอบครัว จึงเลือกสรรอาหารและของใช้สำหรับสัตว์ที่เลี้ยงอย่างดี ทั้งคุณภาพ ความสวยงามและตามแฟชั่นนิยม ยินยอมจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อซื้ออาหารคุณภาพดีโดยคำนึงถึงอายุ และสุขภาพของสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงของใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง(Pet Cosmetic) การประกันสุขภาพสัตว์ และค่ารักษาพยาบาล ตลาดสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นจึงมีมูลค่าสูงกว่า 1,200 พันล้านเยน ต่อปี (ประมาณ 445 พันล้านบาท) ประมาณร้อยละ 35 เป็นกลุ่มสินค้าอาหาร ที่เหลือเป็นตลาดของใช้และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

การสำรวจยังพบว่า กลุ่มผู้เลี้ยงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่เอาใจใส่ ดูแลสัตว์เลี้ยงของตนมากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่นโดยจะใช้จ่ายเงินเฉลี่ยถึง 28,951 เยนต่อปี สูงเป็น 4.7 เท่าของกลุ่มผู้เลี้ยงที่อายุ 30’s ปี ผู้เลี้ยงที่เป็นสตรีอายุ 35 — 59 ปี และอาศัยลำพังคนเดียวเป็นอีกกลุ่มที่นิยมมีสัตว์เลี้ยง และใช้เงินเฉลี่ย 20,752 เยนต่อปีเพื่อสัตว์เลี้ยงของตน ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นจึงน่าสนใจ และการแข่งขันก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ผู้ค้ารายใหญ่ในตลาด เช่น Mitsui Food Co., บริษัทค้าส่งอาหารใหญ่อันดับ 6 ของญี่ปุ่น ก็เริ่มเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงโดยจะเข้าบริหารธุรกิจในเขต Kanto, Kyushu และ Okinawa จาก Nihon Penet ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันของ Mitsui & Co. เพื่อหวังขยายตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งในภูมิภาค

ในปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง (HS: 2309.10) มูลค่า 1,079.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และระหว่างมกราคม-กันยายน 2553 นำเข้า 855.2 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น 7.3 % แหล่งนำเข้าหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 292.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2553( มค.-กย.) มีส่วนแบ่ง 34.2 % รองลงมา ได้แก่ ไทย (มูลค่า 191.6 มีส่วนแบ่ง 22.4% จีน (98.9 ล้านดอลลาร์ ส่วนแบ่ง 9.5 %) ออสเตรเลีย (81.0 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแบ่ง 5.6 %) ในแง่การส่งออกของไทยแล้ว ญี่ปุ่น เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง โดยไทยส่งออกไปตลาดโลดรวม 593.4 ล้านดอลลาร์เป็นการส่งไปญี่ปุ่น 182.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2553 (มค.-กย.) คิดเป็นร้อยละ 30.8 % ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ตลาดอื่นๆ ของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ อิตาลี กัมพูชา มาเลเชีย และออสเตรเลีย ตามลำดับ

ประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นเป็นกลุ่มสินค้าอาหาร หรือมีมูลค่า 420 พันล้านเยนต่อปี ประเทศไทยครองส่วนแบ่งเฉลี่ย ที่ร้อยละ 22-24 ของมูลค่าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ญี่ปุ่นนำเข้า การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดมีลู่ทางอีกมาก ไม่เฉพาะกลุ่มอาหารแต่ตลาดยังสามารถขยายไปสู่สินค้าอื่นๆ เช่นเดียวกับตลาดสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ได้แก่ อาหารสำหรับสัตว์สูงอายุ อาหารสุขภาพ อาหารที่มีสารบำรุงพิเศษ เช่น มีส่วนผสมของ Glucosamine และ Chondroitin ซึ่งช่วยบำรุงขนและเพิ่มการดูดซับและการย่อย ที่นอนและของใช้และเครื่องประดับต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น

ตลาดสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงขยายตัวต่อเนื่องกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงมีผู้ค้ารายย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก การเข้าตลาด อาจเริ่มด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศในตลาดเป้าหมาย ในกลุ่มของสินค้า Gift หรือ Lifestyle สิ่งสำคัญ คือ ต้องพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ