ข้อมูลสรุปการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในประเทศสหรัฐฯและการสนับสนุนการลงทุนของสหรัฐฯในต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 16:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. กฎระเบียบการลงทุนในประเทศสหรัฐ

สหรัฐฯเป็นประเทศเปิดเสรีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ มีกฎระเบียบควบคุมในระดับต่ำกว่าหลายๆประเทศ ทั้งนี้ยกเว้นในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมบางภาคที่มีความเกี่ยวข้องระดับสูงกับเรื่องความปลอดภัยของประเทศที่จะมีข้อจำกัดจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสัญชาติของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และ/หรือจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษภายใต้กฎระเบียบและกฎหมายหลากหลายทั้งในระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯและรัฐบาลมลรัฐ นอกเหนือไปจากกฎหมายในระดับรัฐบาลกลางที่ควบคุมการลงทุนของต่างชาติแล้วรัฐบาลมลรัฐและระดับท้องถิ่นต่างๆมีสิทธิกำหนดกฎหมายและกฎระเบียบปลีกย่อยของตนเพิ่มเติม กฎหมายและกฎระเบียบของรัฐบาลระดับมลรัฐและระดับท้องถิ่นนี้จะมีผลกระทบ สูงสุดต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ

1.1 การสื่อสารและการออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบการ (license) จาก Federal Communications Commission (FCC) ไม่อนุญาตให้รัฐบาลต่างชาติหรือตัวแทนเข้าไปมีส่วนหรือทำธุรกิจนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้น และมีสิทธิออกเสียงได้ไม่เกินร้อยละ 20

1.2 กิจการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภายในประเทศจำกัดเฉพาะอากาศยานที่จดทะเบียนของสหรัฐฯเท่านั้น เจ้าของอากาศยานอาจจะเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ผู้มีถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ หุ้นส่วนจำกัดที่หุ้นส่วนทุกคนเป็นพลเมืองสหรัฐฯ หรือบริษัทที่จัดตั้งในสหรัฐฯที่ประธานบริษัทและสองในสามของผู้บริหารระดับสูงเป็นพลเมืองสหรัฐฯและร้อยละ 75 ของหุ้นลงทุนถือครองโดยพลเมืองสหรัฐฯ บริษัทต่างชาติที่จัดตั้งอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯและประกอบธุรกิจในสหรัฐฯอาจจะได้รับใบอนุญาตประกอบการถ้าอากาศยานนั้นมีฐานที่ตั้งในสหรัฐฯและถูกใช้อยู่ในประเทศสหรัฐฯเท่านั้น

1.3 การขนส่งทางทะเลระหว่างเมืองท่าต่างๆและน่านน้ำภายในประเทศสหรัฐฯ เรือลากจูงหรือเรือประมงที่ปฏิบัติการภายในน่านน้ำสหรัฐฯ สงวนไว้เฉพาะเรือที่จดทะเบียนในสหรัฐฯและที่เจ้าของเป็นคนสัญชาติอเมริกันเท่านั้น บริษัทต่างชาติจะมีคุณสมบัติเป็นสัญชาติอเมริกันก็ต่อเมื่อเป็นบริษัทที่จัดตั้งอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ มีพนักงานบริหารระดับสูงส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกัน และคนอเมริกันถือครองร้อยละ 75 ของหุ้น

1.4 การธนาคาร ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากทั้งรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลกลางสหรัฐฯจะต้องได้รับอนุมัติจาก U.S. Federal Reserve Board ในการจัดตั้ง ธนาคารต่างชาติ สามารถไปเปิดให้บริการในสหรัฐฯได้แต่จะต้องเลือกว่าจะทำนิติกรรมการเงินประเภทใด ซึ่งจะมีกฎระเบียบควบคุมที่แตกต่างกันออกไป

1.5 ธุรกิจประกันภัยอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดในระดับมลรัฐ ที่รวมถึงข้อบังคับให้เปิดเผยสถานะภาพทางการเงิน ต้องได้รับการอนุมัติจาก insurance commissioner ของรัฐ บางรัฐกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงสุดเป็นบุคคลสัญญาชาติอเมริกันหรือพลเมืองที่มีถิ่นถาวรในสหรัฐฯเท่านั้น

1.6 การเช่าสิทธิทำเหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร

1.6.1 แหล่งพลังงาน ควบคุมโดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ

1.6.2 การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ครอบครองของรัฐบาลกลาง เปิดให้เฉพาะพลเมืองสหรัฐฯ และอาจจะให้แก่บริษัทต่างชาติที่มีคนต่างชาติถือครองหุ้นไม่เกินร้อยละ 10

1.7 การสร้างพลังงานและสาธารณูปโภค

1.7.1 โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานที่มาจากความร้อนใต้ดิน (geothermal steam) จำกัดสิทธิเฉพาะคนอเมริกันเท่านั้น

1.7.2 โรงงานพลังงานกระแสไฟฟ้าจากน้ำอาจจะอนุญาติให้แก่บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในสหรัฐฯประกอบการได้ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละมลรัฐฯ

1.7.3 บริการส่งกระแสไฟฟ้าและแก๊สธรรมชาติข้ามรัฐอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯและจะต้องมีการแจ้งข้อมูลเรื่องของสัญชาติ บริษัทประกอบการ เจ้าของและการถือครองธุรกิจต่อ Federal Energy Regulatory Commission เป็นประจำทุกปี

1.8 อสังหาริมทรัพย์ หลายๆมลรัฐในสหรัฐฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งมลรัฐที่มีพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมากมีกฏหมายและกฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติที่อาจจะเป็นในส่วนของการถือครองหรือการถ่ายทอดมรดกของคนต่างชาติ

1.9 อุตสาหกรรมและธุรกิจใดๆที่เกี่ยวข้องกับระบบการป้องกันความปลอดภัยของประเทศ การปกป้องเทคโนโลยี่ระดับสูง การเข้าถึงข้อมูลลับ ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ “Exon-Florio” และ USA Patriot Act และหน่วยงาน Department of Homeland Security, U.S. Department of Defense

2. กฎหมายรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐบางมลรัฐอาจจะมีข้อกำหนดเรื่องการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในบางภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศต้นสังกัดของนักลงทุนต่างชาติยอมให้นักลงทุนสหรัฐฯดำเนินกิจการเดียวกันในประเทศนั้นได้ (reciprocity requirements)

3. โดยทั่วไปแล้วการลงทุนในประเทศสหรัฐฯของนักลงทุนต่างชาติไม่จำเป็นต้องมีการยื่นจดใบอนุญาตประกอบการ (licensing) ทั้งนี้ยกเว้นบางประเทศที่จะต้องยื่นจดใบอนุญาต นักลงทุนจากบางประเทศซึ่งสหรัฐฯถือว่าเป็นศัตรูตามกฎหมาย Foreign Assets Control Regulations (Trading with the Enemy Act) จะต้องขอและได้รับใบอนุญาตการลงทุนจาก U.S. Treasury Department รายชื่อประเทศเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในปัจจุบันได้แก่ คิวบา อิหร่าน อิรัค ลิเบีย เกาหลีเหนือ และซูดาน

4. กฎหมายกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติที่ทำการลงทุนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯและการถ่ายโอนเงินข้ามประเทศจำนวนมากจะต้องรายงานให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี

5. การรายงานการสำรวจการลงทุนต่างชาติที่นักลงทุนต่างชาติต้องกระทำ

5.1 Direct Investment

5.1.1 กระทำภายใน 45 วันหลังจากการลงทุนส่งให้แก่ Bureau of EconomicAnalysis, U.S. Commerce Department

5.1.2 รายงานประจำปี ค่าใช้จ่ายและรายได้

5.1.3 รายงานทุกไตรมาส การโอนถ่ายเงินไปยังบริษัทแม่

5.2 Survey report ส่งให้แก่ Bureau of Economic Analysis, U.S. Commerce Departmentหรือ Treasury Department

5.3 Portfolio Investment ส่งให้แก่ U.S. Treasury Department

5.4 Agricultural Land Investment ส่งให้แก่ Agricultural Stabilization and Conservation Service, U.S. Agricultural Department

6. แจ้งสถานะภาพการเป็นเจ้าของกิจการที่ลงทุนในใบแจ้งเสียภาษี

7. แจ้งการโอนถ่ายเงินระหว่างประเทศภายใต้กฎหมาย Bank Secrecy Act

8. รายงานการทำข้อตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศ (international commercial dealings) ตามที่เกี่ยวข้อง

9. บริษัทลงทุนต่างชาติที่ทำธุรกิจกับภาครัฐบาลจะต้องใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นของสหรัฐฯ เท่านั้นภายใต้กฎหมาย Buy America Act ทั้งนี้ยกเว้นในบางกรณีที่กฎหมายยกเว้น

10. หลายมลรัฐมีกฎหมายที่จำกัดการถือครองการลงทุนในประเทศสหรัฐฯของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นการโอนถ่ายทางมรดก

11. กฎหมายอื่นๆเช่น ห้ามนักลงทุนต่างชาติให้เงินสนุบสุนการรณรงค์หาเสียงของนักการเมืองสหรัฐฯ นักลงทุนต่างชาติไม่มีสิทธิในสิทธิประโยชน์บางประการที่รัฐบาลสหรัฐฯมีให้ การจำกัดจำนวนผู้บริหารที่เป็นคนต่างชาติ การกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงสุดต้องเป็นคนสัญญาติอเมริกัน เท่านั้น

12. โดยปกติแล้วนักลงทุนต่างชาติจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับเดียวกันกับพลเมืองสหรัฐฯ เช่น

12.1 การจัดตั้งบริษัทสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากผู้มีอำนาจทางการเงิน

12.2 เกือบจะไม่มีการควบคุมในเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตรา

12.3 มีอิสระที่จะทำธุรกรรมด้านการเงินที่เป็นการสนับสนุนกิจการของตนในสหรัฐฯ โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนการลงทุนที่เป็นเงินลงทุนจากต่างชาติหรือการกู้ยืมเงินใดๆ

12.4 สามารถตั้งอัตราดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม (royalty fee) ที่เก็บจากบริษัทสหรัฐฯได้อย่างเป็นอิสระแต่รายได้ดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบการเสียภาษีของสหรัฐฯ

12.5 ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนในการทำสัญญาโอนถ่ายเทคโนโลยี่

2. มาตรการเฉพาะ

2.1 Incentives ที่สหรัฐฯให้แก่บริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

2.1.1. การยกเว้นภาษี (tax exempt) ที่สำคัญที่สุดคือ ยอมให้ชะลอการจ่ายภาษีสำหรับรายได้ที่เป็น“active income” โดยปกติแล้วบริษัทอเมริกันต้องรับผิดชอบในการเสียภาษีรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯหรือประเทศใดๆทั่วโลก (double tax) แต่อัตราภาษี (corporate tax — ร้อยละ 35) จะไม่ถูกนำไปคิดกับรายได้ที่ได้รับในต่างประเทศที่มาจากการลงทุนผลิตสินค้า เป้าหมายก็เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นมีอำนาจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นโดยใช้เงินรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศไปขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น บริษัท อเมริกันที่เป็นบริษัทข้ามชาติหลายๆชาติจะถูกเก็บภาษีรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็ต่อเมื่อบริษัทเหล่านั้นส่งเงินรายได้ก้อนนั้นกลับคืนเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯ หมายเหตุ: ประธานาธิบดีโอบาม่ากำลังทำความพยายามที่จะยกเลิกนโยบายการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทอเมริกันที่เป็นการ outsourcing แรงงานและส่งผลกระทบในทางลบต่อตลาดแรงงานในประเทศ

2.1.2. การจัดทำโปรแกรม Bilateral Investment Treaty (BIT) เพื่อ (ก) คุ้มครองการลงทุนสหรัฐฯในประเทศที่สิทธิของนักลงทุนยังไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อตกลงใดๆ เช่น treaties of friendship/commerce/navigation หรือ free trade agreement(ข) สนับสนุนให้มีการใช้ นโยบายภายในประเทศที่เป็นด้านการตลาดที่ปฏิบัติต่อนักลงทุนอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเท่าเทียม (ค) สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับเป้าหมายในข้อ ก และ ข เงื่อนไขหลักของ BIT ในปัจจุบันจะรวมถึง

  • การให้ความเสมอภาคในทุกขั้นตอนของการลงทุน ทั้งนี้ยกเว้นในบางอุตสาหกรรม
  • ใช้มาตรฐานที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติขั้นต่ำที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศในการปฏิบัติต่อนักลงทุนที่เป็นไปอย่างยุติธรรมและที่ให้
ความคุ้มครองและความปลอดภัยอย่างเต็มที่ต่อการลงทุนในสหรัฐฯ
  • บังคับใช้เฉพาะในเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องของการจ่ายชำระเงินโดยทันที อย่างเหมาะสม และการจ่ายเงินชดเชยอย่างมีประสิทธิผล
  • ให้อิสสระในการโอนเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยไม่มีความล่าช้า ทั้งขาออกและขาเข้าพื้นที่การลงทุน
  • ให้อิสระในการจ้างบุคคลการชาติใดๆก็ได้สำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
  • มีความโปร่งใสเรื่องการออกกฎหมาย การประกาศใช้กฎหมายและกฎระเบียบ ต่างๆอย่างทันท่วงทีและให้โอกาสในการวิพากวิจารณ์

และเสนอข้อคิดเห็นในร่างกฎหมายและร่างกฎระเบียบต่างๆ

2.2 Incentives ที่สหรัฐฯให้แก่บริษัทต่างชาติที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ

2.2.1 การสนับสนุนในระดับรัฐบาลท้องถิ่นการให้ Incentives/credits แก่นักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯส่วน ใหญ่แล้วกำหนดโดยรัฐบาลท้องถิ่นมิใช่รัฐบาลกลาง (Incentives/credits ที่มาจากรัฐบาลกลางมีน้อยกว่า) ดังนั้น Incentives/credits เหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละมลรัฐหรือแต่ละ county และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆของรัฐในแต่ละช่วงเวลา นอกจากการให้ incentives/credits แล้ว บางมลรัฐอาจจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติไปจนถึงขั้น ออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์/เป้าหมายของบริษัทต่างชาติที่ต้องการไปลงทุนในรัฐนั้นๆหรือของแต่ละภาคอุตสาหกรรมที่รัฐนั้นๆต้องการให้เกิดการลงทุนภายในรัฐ

1. Incentives/credits ที่มลรัฐต่างๆให้แก่บริษัทลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของ tax incentives ซึ่งมีหลายรูปแบบเช่น การกำหนดวงเงิน (อาจจะรวมถึงระยะเวลา) ที่เป็น tax credit สำหรับการสร้างงาน แรงงานใหม่ๆ การซื้อที่ดินการปรับปรุงที่ดิน การสร้างโครงสร้างสาธารณะต่างๆ การสร้างสถานที่ฝึกแรงงานการปฏิบัติการ หรือภาษีการขาย เป็นต้น เงินทุนที่เป็น Incentives/credits ที่ให้กับบริษัทลงทุนต่างชาติมาจากรัฐบาลมลรัฐหรือรัฐบาลท้องถิ่นผ่านทางรูปแบบหลากหลายของระบบการเรียกเก็บภาษี ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน และกลไกอื่นๆที่จะให้ทุนสนับสนุนการลงทุน ดังนั้นการให้ incentives/credits ไม่ได้เป็นการให้แก่ทุกบริษัทโดยเท่าเทียมกันแต่เป็นการให้โดยพิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับจากแต่ละ

บริษัทเป็นสำคัญ ผลประโยชน์ในที่นี้หมายถึงการเปรียบเทียบจำนวนเงินลงทุนกับจำนวนแรงงานใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ระดับรายได้ของแรงงานใหม่ๆที่เกิดขึ้น การลงทุนของบริษัทใดที่จะให้ผลประโยชน์สูงสุดบริษัทนั้นจะได้ incentives/credits Incentives/credits สำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยปกติแล้วจะมีระยะเวลาคือเป็น “one-time” หรือ “ongoing” และอาจจะมาในรูปของ “hard dollar”(เช่น cash grants, subsidized real estate หรือการช่วยลดภาระด้านภาษี-การยกเว้นภาษีการค้าและภาษีการใช้- เป็นต้น)หรือ “soft dollars” (เช่น การให้ความช่วยเหลือครั้งเดียวในการจัดตั้งบริษัท เช่น การให้ความรวดเร็วเป็นพิเศษใน การเปลี่ยนโซน-พื้นที่ในประเทศสหรัฐฯแบ่งแยกออกเป็นโซนตามวัตถุประสงค์ในการใช้-ให้ การออกใบอนุญาตก่อสร้าง การสนับสนุนการแสวงหาแรงงาน ด้วยการพัฒนาโปรแกรมพิเศษที่ช่วยฝึกฝนแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น ) ก็ได้

เนื่องจาก incentives/credits ต่างๆที่แต่ละมลรัฐ/แต่ละท้องถิ่นมีให้แก่นักลงทุนต่างชาติถูกกำหนดขึ้นมาเป็นกฎระเบียบตามกฎหมายดังนั้นจึงมีเงื่อนไขต่างๆมากมายที่กำหนดคุณสมบัติของนักลงทุนต่างชาติที่จะได้รับ incentives/creditsต่างๆเหล่านี้

2. การสร้างผลประโยชน์อื่นๆที่จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อัตคัตขัดสน โดยมลรัฐจะกำหนดพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นเขตพิเศษภายใต้ชื่อต่างๆเช่น “enterprise zones” “renewal zones” หรือ“ renaissance zones” เป็นต้น

2.2.2 การสนับสนุนในระดับรัฐบาลกลาง

1. การให้ Incentives/credits ในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เช่น รัฐบาลกลางกำหนดพื้นที่ที่เป็นเขตพิเศษสำหรับนักลงทุนในรัฐต่างๆ เช่น “empowerment zones” เงื่อนไขต่างๆที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ได้รับ credits อาจจะลดน้อยลงหรือถูกยกเลิกไปเลย ถ้ามีการลงทุน การสร้างงาน และอัตราค่าจ้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้

2. ในการจัดทำ Free Trade Agreement กับประเทศคู่ค้าต่างๆของสหรัฐฯ จะบรรจุเงื่อนไขต่างๆที่สหรัฐฯให้แก่นักลงทุนชาตินั้นๆไว้ด้วย เงื่อนไขที่ปรากฏใน Free Trade Agreement ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้แล้วข้างต้น (Incentives ที่สหรัฐฯให้แก่บริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ข้อ 2.1.2 )

3. ปัญหาที่นักลงทุนจะประสบในการเข้าไปลงทุนในประเทศสหรัฐฯ

1. การเลือกรูปแบบของธุรกิจที่จัดตั้ง และขบวนการจัดตั้งบริษัท รูปแบบของธุรกิจมีความผูกผันกับระบบการเก็บภาษีของสหรัฐฯ

2. การเลือกสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการประกอบธุรกิจ ข้อกำหนดต่างๆของแต่ละมลรัฐในการให้ incentives/credits แก่นักลงทุนต่างชาติและระบบการเก็บภาษีในแต่ละพื้นที่ เป็นเงื่อนไขสำคัญในเรื่องของการเลือกสถานที่ประกอบธุรกิจ

3. การวางแผนด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่ดีที่สุด

4. การแสวงหาแรงงานคุณภาพตามที่ต้องการในราคาที่เหมาะสม

5. การเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมาย กฎระเบียบ ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งในเรื่องการจ้างแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม การประกอบธุรกิจ ฯลฯ

6. การเรียนรู้และทำความเข้าใจระบบการเสียภาษี หมายเหตุ ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการใช้บริการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวที่รวมถึงนักกฎหมาย นักบัญชี และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายอาชีพ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ