สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 12:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะการตลาดสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

1.1 แบตเตอรี่ที่ผลิตจากลิเธียมเป็นสินค้าที่ยอดนิยมและสามารถใช้งานได้ในหลายอุตสาหกรรม บริษัท Mitsubishi Heavy Industries จึงลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมในจังหวัดนากาซากิ เพื่อใช้กับรถยนต์โดยสาร รถยก และอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมทั้งสามารถนำไปใช้สำรองไฟในบ้าน ร้านค้า และโรงงาน ทั้งนี้ลิเธียมแบตเตอรี่สามารถใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นบริษัทจึงได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายราย และคิดจะสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นอีก โดยจะลงทุนถึง 20 พันล้านเยน และจะเริ่มผลิตในปี 2013 เช่นเดียวกันบริษัท Sanyo Electric ประกาศว่าได้รับการติดต่อจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่รักษาสภาวะแวดล้อม “ Green Car” จำนวน 6 ราย รวมทั้งบริษัท Volkswagen ของเยอรมนี และบริษัท Suzuki Motor โดยจะใช้ลิเธียมแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้บริษัทจะพัฒนาให้แบตเตอรี่สามารถเก็บกำลังไฟได้เป็นจำนวนมาก โดยจะสามารถแก้ไขภาวะไฟตก และคาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด บริษัทฯตั้งเป้าว่าจะครองตลาดแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้ร้อยละ 40 ในเดือนกรกฎาคมจึงได้ตั้งโรงงานที่จังหวัดเฮียวโกะ สามารถผลิตได้เดือนละ 1.3-1.4 ล้านยูนิต/เดือน

1.2 การแข่งขันในตลาดโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคา บริษัท Acer Japan เตรียมจะออกคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ในเดือนธันวาคม โดยเป็นรุ่น 3 มิติ แต่จำหน่ายในราคาเพียง 99,800 เยน ถูกกว่าของคู่แข่งในตลาดถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งปรกติแล้วราคาขาย โน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์จะอยู่ที่ประมาณ 200,000 เยน และจะมีระบบภาพ และเสียงที่ดีกว่า โดยผู้ใช้ต้องใช้แว่นตาพิเศษที่จะมองภาพ 3 มิติ โดย Acer จะมีโปรแกรมของตนเองที่จะเปลี่ยนจากระบบ 2 มิติเป็น 3 มิติได้

1.3 บริษัท Big Camera ร้านค้าปลีกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเตรียมจะเปิดร้านค้าย่อย 2-3 แห่งต่อปีเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ตกรุ่น หรือสินค้าตัวโชว์ในราคาลดพิเศษ 10-50 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นผลจากความสำเร็จในการเปิดร้านขายสินค้าเก่าแห่งแรกในย่าน อิเคบุขุโระ กรุงโตเกียว โดยจะเน้นเปิดในย่านชานเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตัวเมือง และคาดว่าจะมียอดขายถึง 20 พันล้านเยนภายในปี 2014 ขณะนี้ Big Camera เริ่มขยายไปตั้งบริเวณชานเมืองใกล้กับศูนย์การค้าซึ่งแต่เดิมจะเป็นตลาดของคู่แข่งเช่น Yamada Denki โดยร้านค้าย่อยจะมีขนาด 1,000 ตารางเมตร มีพนักงานไม่กี่ราย และต้นทุนต่ำ

2. ภาวะการจำหน่ายสินค้า อิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ชั้นนำ 8 รายในญี่ปุ่น มีกำไรรวมแล้วกว่า 400 พันล้านเยน

ในปีงบประมาณญี่ปุ่น 6 เดือนแรก คือในระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2553 จากเดิมที่ขาดทุนถึง 350 พันล้านเยนในปี 2552 เนื่องจากบริษัทแต่ละแห่งได้มีการปรับตัวเพื่อรับกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ อาทิเช่น บริษัทโตชิบาตัดลดค่าใช้จ่ายในส่วนของ R&D และโซนี่ มีการรวมการผลิตโทรทัศน์ และสินค้าอื่นๆไว้ที่ศูนย์เดียวกัน

ทั้งนี้ โตชิบา มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยทำกำไรสูงสุดเกิน 100 พันล้านเยนในรอบ 10 ปีเป็นผลมาจากยอดขายของ flash memory ที่ใช้ในสมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ

ส่วน ฮิตาชิ และ มิตซูบิชิ มีกำไรจากการขายเครื่องมือการผลิต อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานในประเทศจีน และจากการที่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมิตซูบิชิมีผลประกอบการกำไร 112.9 พันล้านเยน และจากการที่รัฐบาลมีนโยบาย “eco-point” และอุณหภูมิในฤดูร้อนที่พุ่งสูง ทำให้ยอดขายโทรทัศน์ และเครื่องปรับอากาศของบริษัทพานาโซนิกส์ และบริษัทอื่นๆเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่กระนั้นก็ตามคาดว่ายอดขายใน 6 เดือนหลังของปีงบประมาณญี่ปุ่น (ตุลาคม-มีนาคม) จะมีการขยายตัวลดลง เนื่องจากการแข่งขันในเรื่องราคาในตลาดสหรัฐอเมริกา และค่าเงินเยนที่แข็งตัว

3. ความเคลื่อนไหวของบริษัท

3.1 บริษัทฮิตาชิ จะผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศที่ประเทศบราซิลเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐบาลบราซิลที่ให้บริษัทต่างชาติผลิตสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณการผลิตเครื่องปรับอากาศเป็น 2 เท่าในโรงงานที่รัฐคุชราช ประเทศอินเดีย จำนวน 500,000 ยูนิตต่อปี และจะเพิ่มเป็น 4 รุ่น จำหน่ายในราคา 30,000-54,000 รูปี โดยคาดว่าจะมียอดจำหน่ายในต่างประเทศร้อยละ 50 ของยอดจำหน่ายทั้งหมด

3.2 บริษัท Kyocera Mita จะพัฒนา toner ที่ใช้ใน printer จากวัสดุเหลือใช้จากพืช เช่น แกลบข้าว และกะลาจากต้นปาล์ม จะเริ่มจำหน่ายต้นปี 2011 โดยมุ่งจำหน่ายไปยังบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าราคาจะสูงกว่า toner ปรกติ แต่บริษัทฯคาดว่าจะมียอดขายสูง โดยภายใน 2-3 ปี toner ที่ผลิตจากพืชจะมีส่วนแบ่งร้อยละ 10

3.3 บริษัท Hitachi Zosen Corp บริษัท Miura และบริษัทญี่ปุ่นอื่นรวม 10 บริษัท เตรียมจะทำการตลาดสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์สินค้า เช่นอุปกรณ์ทำความเย็นที่ประหยัดพลังงาน รวมทั้งระบบที่ช่วยให้ร้านค้า ตึกสูงสามารถประหยัดค่าใช้ไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และจะจัดกิจกรรมเช่นนี้อีกหลายครั้งในประเทศไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ