ผักสดในสิงคโปร์มีราคาสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 16:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สืบเนื่องจากการเกิดน้ำท่วมฉับพลันในประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้) และมาเลเซีย (ภาคเหนือ) ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกผักได้รับความเสียหายอย่างมาก ผลผลิตสูญเสียไปกับน้ำ ปริมาณสินค้าส่งออกน้อยลง ส่งผลให้ราคาจำหน่ายในตลาดสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ได้เคยประสบในทุกๆปีที่ราคาจะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลเดือนธันวาคม-มกราคม ทั้งนี้ ผักที่ได้รับผลเสียหายมาก ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือยาว และมะเขือเทศ

ตลาด Pasir Panjang ซึ่งเป็นตลาดขายส่งผัก (รวมผลไม้ และอาหารแห้ง) การจำหน่ายผักบางชนิดมีราคาสูงขึ้นถึง 2 เท่า ของราคาเดิมในเดือนที่ผ่านมา โดยราคาของผักหลายชนิด ทั้งจากประเทศไทยและมาเลเซีย เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ได้มีราคาสูงขึ้น และผู้นำเข้าเตือนว่า ราคาคงจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน เนื่องจากสินค้านำเข้ามีปริมาณน้อย และผู้บริโภคมีความต้องการผักมากในช่วงเทศกาล คริสมาสต์ ปีใหม่ และตรุษจีน

แม้ว่า ปัจจุบันราคาขายส่งได้เพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50 แต่ราคาขายปลีกที่ตลาดสดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะพ่อค้าที่ตลาดสดรับภาระราคาที่สูงขึ้นไว้เองส่วนหนึ่ง เนื่องจากเกรงว่า จะแข่งขันราคากับซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ ส่วนราคาที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ได้แก่ FairPrice, Sheng Siong, Cold Storage และ Jasons Market Place เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้นำเข้าจากไทยและมาเลเซียเท่านั้น ยังมีนโยบายพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตอืนๆทั่วโลก รวมถึงจีนด้วย

ผักจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ มะเขือเทศ-มะเขือยาวจากมาเลเซีย และหน่อไม้ฝรั่ง-พริกขี้หนูจากประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของการนำเข้าผักรวม 250 ชนิดที่จำหน่าย ณ ซุปเปอร์ฯ ส่วนที่ Cold Storage และ Jasons (มีสัญญาความร่วมมือกับฟาร์มผักในต่างประเทศ) ผักที่จำหน่ายประมาณ 500 ชนิด ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผักชี มะเขือเทศ และหน่อไม้ฝรั่ง ผู้บริหารฯ คาดว่า ราคาจะคงที่อยู่ในระดับสูงต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน เนื่องจากช่วงฤดูฝน และผู้บริโภคมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาล

รองประธาน Singapore Fruits and Vegetables Importers & Exporters Association (Mr. Tan Chin Hian) กล่าวว่า ในปีนี้ ราคาผักจะคงอยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นจนถึงหลังตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ทั้งๆที่ทุกปี ราคาผักจะสูงขึ้นระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ครั้งนี้ การขึ้นราคามาเร็วกว่าที่เคยประสบซึ่งสืบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน

ในส่วนของผู้บริโภค ราคาผักที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีการบริโภค โดยหันไปซื้อผักใบเขียวที่มีราคาถูกกว่า เช่น ผักขม ผักกวางตุ้งและผักบุ้ง ถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงขึ้นกว่า เดิม แต่ไม่มากนัก และผู้บริโภคบางรายจะลดปริมาณการบริโภคผักให้น้อยลงในช่วงระยะเวลาที่ผักมีราคาสูง

ราคาผักจำหน่ายปลีก (ที่มีราคาเพิ่มขึ้น) ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553

จากมาเลเซีย

-แตงกวา ราคา กก.ละ 1.80 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมราคา 1.20 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 50

-มะเขือเทศ ราคา กก.ละ 2.50 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมราคา 2.00 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25

-มะเขือยาว ราคา กก.ละ 4.00 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมราคา 3.00 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33

-ถั่วฝักยาว ราคา กก.ละ 3.00 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมราคา 1.80 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 66

จากประเทศไทย

-หน่อไม้ฝรั่ง ราคา กก.ละ 2.50 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมราคา 2.00 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25

-เผือก ราคา 30 เหรียญสิงคโปร์/กล่องน้ำหนัก 10 กก. (เดิมราคา 25.00 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

-แตงกวา ราคา กก.ละ 1.80 เหรียญสิงคโปร์ (เดิมราคา 1.20 เหรียญฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 50

การนำเข้าผัก

ในปี 2552 สิงคโปร์ นำเข้าผักปริมาณ 467,937 ตัน ซึ่งผักจากมาเลเซียและไทย คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการนำเข้ารวม โดยการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 5 มูลค่า 27.19 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.92 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.65

ผลผลิตผักในประเทศ

จากสถิติของหน่วยงานควบคุมสินค้าอาหาร Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) ของสิงคโปร์ ปรากฏผลผลิตผักในสิงคโปร์ประมาณปีละ 20,000 ตัน โดยมีฟาร์มปลูกผักจำนวน 67 แห่ง (กค. 52) รวมพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ปลูกผักใบเขียว (เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม ผักชี และ Aromatic Herbs : Basil, Chives, Oregano, Thyme) และถั่วงอก ซึ่งร้อยละ 80 จะปลูกโดยใช้ดิน และที่เหลือปลูกโดยใช้ระบบ Hydroponic มีตาข่ายปกคลุมเพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากและมีคุณภาพดี ผลผลิตของผักและถั่วงอกมีมูลค่าประมาณปีละ 143 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งใช้บริโภคภายในประเทศเท่านั้น โดยแต่ละฟาร์มสามารถเก็บผักจำหน่ายได้ประมาณวันละ 500 กิโลกรัม — 5 ตัน ฟาร์มผักสำคัญๆ ได้แก่ Kok Fah Technology, Quan FA Vegetarian Farm, Oh Chin Huat Hydroponic Farm, Tropical Aeroponics Pte. Ltd., Yili Vegeterian & Trading Pte. Ltd., Wong Joon Tay’s Farm, Wong Koh Fah & Kwee Tay’s Farm

สินค้าผักจากฟาร์มในสิงคโปร์ ส่วนใหญ่ส่งไปจำหน่ายยังซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ Cold Storage, FairPrice, Sheng Siong ซึ่งมีรายการผักประมาณ 17 ประเภท และการจำหน่ายมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ต่อปี ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายสินค้านำเข้าแตกต่างกับราคาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพียงร้อยละ 10

ข้อสังเกต

(1) แม้ว่าสิงคโปร์จะมีการผลิตผักในประเทศ และผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน เนื่องจากมีความกังวลเรื่องสารพิษเจือปนในสินค้านำเข้า แต่ปริมาณการผลิตฯไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภครวมภายในประเทศ ดังนั้น สิงคโปร์ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกือบทุกชนิดจากต่างประเทศต่อไป โดยมีนโยบายจัดหาจากแหล่งผลิตต่างๆทั่วโลก

(2) สินค้าที่ผู้ผลิตไทยมีโอกาสคือ ผัก Organic ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความระมัดระวังในเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น และจะเลือกซื้อผักที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย แม้ราคาจะสูงกว่าผักธรรมดาก็ตาม

(3) ในขณะนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ต FairPrice มี Contract Farm ในประเทศไทยที่จังหวัดลพบุรี และเพชรบูรณ์ปลูกผัก Organic เป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดของ AVA ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวสู่ตลาดสิงคโปร์เป็นไปอย่างราบรื่น

ที่มา : International Enterprise Singapore, Agri-Food and Veterinary Authority, The Straits Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ