ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 10:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมการลงทุน

สถาบันจัดอันดับความน่าลงทุนของต่างประเทศหลายราย เช่น S&P, MOODY'S, Standard and Poor’s และ FITCH Ratings จัดอันดับชิลีไว้ในลำดับสูง (ประมาณ A ถึง A1) และอยู่ในลำดับที่สูงสุดในภูมิภาคละตินอเมริกา เนื่องจากชิลีมีความสามารถที่จะฝ่าฟันวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญๆ รวมทั้ง อุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเป็นอันดับสองในประวัติสาสตร์ถึง 8.4 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีภาวะเงินเฟ้อที่ไม่รุนแรงและอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศต้องประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

จากปี ค.ศ. 1993 — 2009 รัฐบาลชิลีขายสัมปทานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ได้แก่ สัมปทานเหมืองแร่ทองแดง โครงการทางด่วน และท่าอากาศยาน ที่มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2009 มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมถึงกว่า 11.154 พันล้านเหรียญสหรัฐและในส่วนของการลงทุนตรงจากต่างประเทศผ่านช่องทางของกฤษฎีกา Decree Law 600 นับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ในปี 1974 มาจนถึงปี 2009 มีนักลงทุนต่างประเทศทำการลงทุนผ่านช่องทางของกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วคิดเป็นมูลค่า 75.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศสหรัฐ เป็นประเทศที่ทำการลงทุนโดยตรงในชิลีมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนจากสหรัฐถึงร้อยละ 26.4 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด ประเทศที่ลงทุนในชิลีมากลำดับรองลงมา ได้แก่ สเปน แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเม็กซิโก เป็นต้น

ในปี 2009 ธุรกรรมการลงทุนที่ดึงดูดความสนใจนักลงทุนต่างประเทศมากที่สุดคือ ธุรกิจค้าปลีกแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต เหมืองแร่ทองแดง การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ เป็นต้น

นโยบายการลงทุน

ปัจจุบันรัฐบาลชิลีมีนโยบายเปิดเสรีและส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในเกือบทุกสาขาการผลิตและบริการของประเทศ ไม่มีการจำกัดขอบเขตการถือหุ้นของนักธุรกิจต่างประเทศในกิจการการผลิตและบริการ กล่าวคือนักลงทุนต่างประเทศสามารถถือหุ้นได้ 100% และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาถือครองทรัพย์สิน ทั้งนี้ ยกเว้นเพียงบางธุรกรรมที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ ได้แก่ ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าชายฝั่ง การขนส่งทางอากาศ และการสื่อสารมวลชน อีกทั้งธุรกรรมการทำการประมงซึ่งมีกฎข้อบังคับที่เป็นไปตามกฎข้อบังคับแบบต่างตอบแทนกับต่างประเทศ (Reciprocity) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี กล่าวได้ว่าชิลีไม่มีนโยบายให้สิ่งจูงใจพิเศษโดยตรงแก่นักลงทุนจากต่างประเทศที่แตกต่างไปจากนักลงทุนในประเทศ แต่ชิลีเพียงให้ความคุ้มครองนักลงทุนจากกรณีพิพาทที่ใช้กำลังอาวุธ ให้กระบวนการระงับข้อขัดแย้งระหว่างนักลงทุนต่างประเทศและรัฐ และให้ผลประโยชน์ทั่วๆไปแก่นักลงทุนผ่านทางกระบวนการของกฎหมายต่างๆหรือการทำข้อตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน เป็นต้น โดยจะปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างประเทศจากทุกประเทศอย่างเสมอเหมือนกันเยี่ยงคนชาติ (National treatment)

โดยทั่วไปแล้ว ชิลีเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคละตินอเมริกาในการที่ต่างประเทศจะพัฒนาขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของตนเข้าไปประกอบการและขายในตลาดละตินอเมริกา เนื่องจากกฎระเบียบสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศมีความโปร่งใสและค่อนข้างคงที่ไม่ผันเปลี่ยนง่าย เพราะเป็นกฎระเบียบที่มีลักษณะที่ชัดเจนไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีการบังคับใช้โดยเท่าเทียมกันกับนักลงทุนในประเทศ โดยหลักการเหล่านี้ มีที่มาจากรัฐธรรมนูญของประเทศฉบับปี 1980 และกฎหมายต่างๆของประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่รัฐบัญญัติไว้เกี่ยวกับการลงทุนของต่างประเทศที่มีชื่อว่า กฤษฎีกา Decree Law 600 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1974 โดยนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้มาจนถึงปี 2009 มีนักลงทุนต่างประเทศทำการลงทุนผ่านช่องทางของกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วคิดเป็นมูลค่า 11.154 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำแนกเป็นกิจการสาขาต่างๆตามลำดับมูลค่าการลงทุน ได้แก่ สาขาการเหมืองแร่ ร้อยละ 27.6 สาขาธุรกิจบริการ ร้อยละ 33.3 สาขาบริการไฟฟ้า แก๊สและน้ำประปา ร้อยละ 14 สาขาอุตสาหกรรมการผลิต ร้อยละ 12.5 สาขาการขนส่งและการโทรคมนาคม ร้อยละ 10.5 และสาขาอื่นๆร้อยละ 2.1

หน่วยงานที่ดูแลการลงทุนที่สำคัญได้แก่

1. Chile Foreign Investment Committee

Address: Ahumada 11, 12th Floor, Santiago, Chile

Tel: (56-2) 698-4254/ 697-3805

Fax: (56-2) 698-9476

E-mail: chileinvestment@inversionextranjera.cl

Web page: www.foreigninvestment.cl

Contact Person: Mr. matias Mori Arellano, Executive Vice President, Foreign Investment Committee

มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นตัวแทนรัฐบาลชิลีในการเจรจากับนักลงทุนที่เลือกที่จะใช้ Foreign Investment Statute (D.L. 600) เป็นกลไกกฎหมายในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ Foreign Investment Committee ประกอบด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ รัฐมนตรีการคลัง รัฐมนตรีความสัมพันธ์ต่างประเทศ และประธานธนาคารกลางของชิลี

2. Chilean Economic Development Agency (CORFO)

Address: Moneda 921, Santiago, Chile

Tel: 56 2 6318403

Contact Person: Mr. Juan Antonio Figueroa

E-mail: jafigueroa@corfo.cl

Phone: 56 2 31 8622

Website: http://www.investchile.com

เป็นองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกนักลงทุนด้านข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน การจัดตั้งกิจการ และการทำกิจกรรมการลงทุน อีกทั้งยังพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่กิจการต่างๆผ่านทางสถาบันการเงินภาคเอกชน และให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมการค้นคิดนวัตกรรมใหม่ โดยเน้นให้การสนับสนุนแก่กิจการที่เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ การผลิตที่ปลอดมลภาวะ และกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและที่เกี่ยวกับการส่งออกที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชิลี

CORFO ให้สิทธิประโยชน์พิเศษจูงใจ Additional Incentives ให้แก่นักลงทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมการลงทุนต่างๆ ดังต่อไปนี้

การให้เครดิตแก่ ธุรกรรม Non-Conventional Renewable Energy

สำหรับธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการโดยมีรายได้ไปจนถึงปีละ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้เครดิตขั้นสูง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ระยะเวลาชำระคืนได้ถึง 12 ปี โดยมี grace period ได้นานถึง 36 เดือน และ 30% ของเงินที่ให้กู้สามารถใช้เป็น working capital

การให้เครดิตแก่ธุรกรรมเกี่ยวกับ Environmental

สำหรับธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีรายได้ไปจนถึงปีละ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้เครดิตขั้นสูงถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ระยะเวลาชำระคืน3-12 โดยมี grace period ได้นานถึง 30 เดือน และ 40% ของเงินที่ให้กู้สามารถใช้เป็น working capital (แต่ธุรกิจนั้น จะต้องบริจาคให้สังคมอย่างต่ำ 15% ของการลงทุนที่ต้องการ)

การให้เครดิตแก่ธุรกรรมลงทุนของ Small, medium-sized and emerging businesses

ให้แก่ธุรกิจที่มีรายได้ไปจนถึงปีละ 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะให้การค้ำประกันที่ครอบคลุมความเสี่ยงของเงินกู้ที่ยังไม่ได้ชำระ (ให้สูงถึง 70% ของยอดเงินกู้ที่ยังไม่ได้ชำระ โดยประมาณไม่เกิน 190,000 เหรียญสหรัฐ

การ Coverage สินเชื่อธนาคารให้ผู้ส่งออก

ให้แก่ธุรกิจส่งออกเอกชนที่มียอดขายในประเทศและส่งออกไปจนถึงปีละ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะให้การค้ำประกันที่ครอบคลุมความเสี่ยงของเงินกู้ที่ยังไม่ได้ชำระ (ให้สูงถึง 50% ของยอดเงินกู้ที่ยังไม่ได้ชำระ โดยประมาณไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

การใช้คืน Reimbursement สำหรับ Capital Goods ในการลงทุนใน Special Economic Zones

ให้แก่โครงการลงทุนที่มีรายได้น้อยกว่าปีละ 800,000 เหรียญสหรัฐ และโครงการใหม่ๆที่มีการลงทุนไม่เกิน 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ จ่ายให้ไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่ใช้ไปในการลงทุนที่ลงไปในรูปสินค้าประเภททุน

การให้เงินอุดหนุน International Centres of Excellence

ให้แก่ International Centres of Excellence ทางด้าน technology transfer และดำเนินการร่วมกับ national research and development organization โดยให้การอุดหนุนสูงไปจนถึง 50% ของโครงการสำหรับ 3 ปีแรก แต่ไม่เกินปีละ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ และโดยให้การอุดหนุนสูงไปจนถึง 35% ของโครงการสำหรับ 7 ปีต่อไป แต่ไม่เกินปีละ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

การให้สิ่งจูงใจทางภาษีแก่ธุรกรรม R & D

ให้แก่ผู้เสียภาษีที่จะต้องชำระภาษีเงินได้ประเภทที่ (First — Category Tax หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล) ของกฎหมายภาษีสามัญของชิลี ที่มีสัญญาการจัดทำกิจกรรม R&D ในมูลค่าที่เกินกว่าเดือนละ 100 UTM (หน่วยมูลค่าทางภาษีรายเดือนที่ใช้ในชิลี) ลงทะเบียนไว้กับศูนย์วิจัยของ CORFO โดยให้การอุดหนุน 35% ของค่าใช้จ่ายสำหรับสัญญาการจัดทำ R&D ที่ได้รับการรับรองจาก CORFO และมีการลดภาษีให้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลืออีก 65%

การให้เงินอุดหนุน Technology Missions

ให้แก่ คณะผู้แทนไปต่างประเทศ (international mission) ขนาด 5-15 ราย จากบริษัทเอกชน ศูนย์เทคโนโลยี และสมาคมการค้า ต่างๆ ที่แต่ละรายไม่เกี่ยวดองกัน โดยรายที่มีรายได้น้อยกว่าประมาณปีละ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถรับเงินอุดหนุนได้ถึง 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนรายที่มีรายได้สูงกว่านี้จะสามารถรับเงินอุดหนุนได้ถึง 50% ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ เงินอุดหนุนดังกล่าวจะให้ไม่เกิน 80,000 เหรียญสหรัฐ แต่ในกรณีแวดล้อมพิเศษอาจให้เงินอุดหนุนสูงกว่านี้ได้

การให้เงินอุดหนุนแก่การฝึกงานทางเทคโนโลยี (Technology Internships Subsidy)

ให้เงินอุดหนุนในการฝึกงาน สำหรับบริษัทเอกชนที่ผลิตสินค้าหรือบริการ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี โดยรายที่มีรายได้น้อยกว่าประมาณปีละ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถรับเงินอุดหนุนได้ถึง 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนรายที่มีรายได้สูงกว่านี้จะสามารถรับเงินอุดหนุนได้ถึง 50% ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ เงินอุดหนุนดังกล่าวจะให้ไม่เกิน 30,000 เหรียญสหรัฐ

การให้เงินอุดหนุนการจ้างที่ปรึกษาพิเศษ (Specialized Consulting Subsidy)

ให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการทำสัญญาว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ โดยให้แก่บริษัทเอกชนที่ผลิตสินค้าหรือบริการ ศูนย์เทคโนโลยี และสมาคมการค้า ต่างๆ ซึ่งรายที่มีรายได้น้อยกว่าประมาณปีละ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถรับเงินอุดหนุนได้ถึง 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนรายที่มีรายได้สูงกว่านี้จะสามารถรับเงินอุดหนุนได้ถึง 50% ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ เงินอุดหนุนดังกล่าวจะให้ไม่เกิน 55,000 เหรียญสหรัฐ

การให้เงินอุดหนุนธุรกิจเอกชนในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (Individual Business Subsidy)

ให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในเรื่องของสินค้า บริการ กระบวนการ การจัดองค์การ หรือวิธีการค้า ต่างๆ โดยให้เงินอุดหนุนได้ถึง 50% ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ เงินอุดหนุนดังกล่าวจะให้สูงสุดประมาณ 730,000 เหรียญสหรัฐ

สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ได้แก่

1. ภายใต้ Decree Law 600 นักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งชาวชิลีที่มีถิ่นฐานอยู่ในต่างประเทศ สามารถทำสัญญาผูกพันกับรัฐบาลชิลีโดยสัญญาดังกล่าวจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฝ่ายเดียวจากทางรัฐบาลชิลีได้ แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถยื่นคำร้องขอให้มีการแก้ไขสัญญาได้ ในกรณีที่จะขอเพิ่มมูลค่าการลงทุน หรือมอบหมายสิทธิของตนให้นักลงทุนต่างประเทศรายอื่น

2. Decree Law 600 ให้ประกันว่า นักลงทุนต่างประเทศจะสามารถนำทุนกลับประเทศตนได้หลังจากที่เข้ามาลงทุนได้ 1 ปี และสามารถจะนำกำไรกลับประเทศเมื่อไรก็ได้ ถ้าได้ชำระเงินค่าภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การนำทุนกลับจะไม่ต้องเสียภาษีใดๆภายในวงจำนวนเงินที่นำไปลงทุนตอนแรก เฉพาะแต่ Capital Gains ที่มากกว่าจำนวนเงินที่นำไปลงทุนตอนแรกเท่านั้นที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

3. ชิลีไม่มีการให้ tax breaks หรือ tax holidays เหมือนดังเช่นการส่งเสริมการลงทุนในหลายๆประเทศ ภายใต้กฎหมายภาษีสามัญของชิลี นิติบุคคลในชิลีจะต้องชำระภาษีเงินได้ประเภทที่หนึ่ง (First-Category Tax)หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 17 และต้องชำระภาษีอีกร้อยละ 35 สำหรับผลกำไรที่จัดสรร รวมทั้งมีการเก็บภาษีร้อยละ 35 จากดอกเบี้ยที่จ่ายให้ผู้ที่มิได้มีถิ่นฐานในประเทศ (non-residents) (หรือร้อยละ 4 ในกรณีที่เป็นดอกเบี้ยที่จ่ายโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างประเทศ) แต่ภายใต้ Decree Law 600 จะให้ขอบเขตภาษีที่แน่นอน (stable tax horizon) เพื่อเป็นการประกันในเรื่องภาษีแก่นักลงทุนต่างประเทศโดยให้ทางเลือกในการเสียภาษีหลายทางเลือก ซึ่งโดยพื้นฐานทั่วไป จะให้นักลงทุนต่างประเทศเลือกผูกพันกับวิธีการเสียภาษีวิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งเห็นว่าดี ณ ขณะที่ทำการลงทุน เช่น สามารถเลือกผูกพันกับทางเลือกที่จะเสียภาษีรวมสำหรับรายได้พึงประเมิน ณ อัตราร้อยละ 42 เป็นระยะเวลา 10 ปี หรือภายใต้มาตรา 11 ทวิ สามารถผูกพันได้นานถึง 20 ปี ในกรณีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนตั้งแต่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับเอกสิทธิคุ้มกันจากการขึ้นภาษีตามกฎหมายภาษีสามัญที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลานั้น ทั้งนี้ การผูกพันดังกล่าวจะสามารถขอสละสิทธิได้ แต่ไม่สามารถจะขอกลับไปผูกพันได้อีกในภายหลัง

4. ตามกฎหมาย Decree Law 600 การลงทุนจากต่างประเทศที่มีการนำเข้าประเทศชิลีในรูปแบบของทรัพย์สินที่จับต้องได้จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม (ปัจจุบัน VAT (food, non-food) อยู่ที่ร้อยละ 19) และภาษีนำเข้า แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างประเทศสามารถทำอนุมาตราในสัญญาที่จะใช้กฎระเบียบที่กำหนดให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภททุนที่จะนำเข้าไปใช้ในโครงการลงทุนไว้ ณ อัตราในวันที่มีการลงทุนได้ นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าประเภททุนบางชนิดที่ไม่มีการผลิตในชิลีและที่มีระบุอยู่ในบัญชีที่ประกาศโดยกระทรวงเศรษฐกิจชิลี เช่น accounting and data processing machines, TV cameras, lasers, magnetic resonance imaging diagnostic equipment (MRI) เป็นต้น จะได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

5. มีการให้หักค่าเสื่อมราคาแบบอัตราเร่ง Accelerated Depreciation เพื่อวัตถุประสงค์ในทางเสียภาษี

6. มีการเก็บภาษีจากกำไรสะสมจาก First Category Income Tax

7. ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษเล็กน้อยในกรณีทำการลงทุนในพื้นที่ธุรกันดารห่างไกลในภูมิภาคเหนือสุดและใต้สุดของประเทศ

ขั้นตอนการลงทุน

1. การลงทุนจากต่างประเทศต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอเข้าสู่ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราทางการเพื่อใช้ในการส่งเงินทุนและผลกำไรเข้าออกประเทศชิลีต่อไป และในกรณีที่เปิดกิจการใหม่ต้องไปจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อเสียภาษี

2. สามารถจดทะเบียนเป็น Incorporated Company, Corporation, Joint Stock Company, บริษัทจำกัด สำนักงานตัวแทน เอเย่นต์ สาขา ห้างหุ้นส่วนจำกัด และธุรกิจแฟรนไชส์

3. กรณีการจัดตั้งภัตตาคารในชิลีสามารถกระทำได้ทั้งการจัดตั้งภัตตาคารใหม่หรือซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว

ข้อแนะจาก สคร.

1. นักลงทุนไทยที่สนใจจะประกอบธุรกิจในชิลีควรเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนด้วยตนเองที่ประเทศชิลีและแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดูแลเรื่องที่จะต้องจัดการตามกฎหมายท้องถิ่น ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดการเกี่ยวกับลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม เป็นต้น

2. ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยต้องตระหนักว่าในปัจจุบันผู้บริโภคชิลีให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา

3. กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดชิลีที่ดีที่สุดคือ การกำหนดวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ของตนในตลาดชิลีให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะโดดเด่นและเป็นประโยชน์ (unique and beneficial) เพื่อดึงดูดให้ผู้นำเข้าสำคัญและห้างสรรพสินค้าหลักในท้องถิ่นซื้อและแนะนำสินค้าดังกล่าวสู่ตลาดโดยตรงต่อไป

4. ปัจจุบันผู้บริโภคชิลีหันเหความสนใจจากการภักดีต่อตราสินค้าไปสู่การให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรที่จะตรวจสอบแนวโน้มผู้บริโภคในชิลี แล้วพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้สามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวชิลี

5. ความสำเร็จของผู้ส่งออกสินค้าไทยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการจัดจำหน่ายผ่านบริษัทนำเข้าในท้องถิ่นที่เข้มแข็งที่สามารถบริหารจัดการภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายทางห้างสรรพสินค้า Super Store และ Chain Store ใหญ่ๆ

อุตสาหกรรม/สินค้าของไทยที่มีศักยภาพ

สินค้า 5 อันดับแรกที่สคต. ณ กรุงซานติอาโก เห็นว่าไทยมีศักยภาพในตลาดชิลี ได้แก่

1. สินค้ายานยนต์และชิ้นสวนอะไหล่ยานยนต์ (ผลิตหรือจำหน่ายหรือบริการหลังการขาย)

2. สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ วัสดุไฟฟ้า

3. สินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง

4. สินค้าประเภท Home products ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ของใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

5. สินค้ากลุ่มแฟชั่น ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี เครื่องประดับ

ภาษีและต้นทุนทางธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 17

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (food และ non-food) ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 19

3. ภาษีนำเข้าร้อยละ 6 ทุกสาขา ยกเว้นน้ำตาล ข้าวสาลีและน้ำมันสำหรับการบริโภคเป็นอาหาร

4. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราก้าวหน้า ร้อยละ 0-40

5. ภาษีอื่นๆ ได้แก่ อากรแสตมป์สรรพสามิต ภาษีของขวัญ ภาษีมรดก ภาษีบ้านที่ดิน ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงและยาสูบ

6. ต้นทุนทางธุรกิจอื่นๆ

6.1 ในปี 2009 ค่าแรงขั้นต่ำในชิลี เดือนละ 165,000 ชิเลียนเปโซ หรือประมาณ 350 เหรียญสหรัฐ (ในเดือนพฤศจิกายน 2553 อัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 เหรียญสหรัฐแลกได้ประมาณ 470 เปโซชิลี)

6.2 ค่าไฟฟ้า เก็บเป็นอัตราก้าวหน้า ค่าเฉลี่ยประมาณ 10,050 ชิเลียนเปโซ ต่อ 1 กิโลวัตต์

6.3 ค่าน้ำประปา เก็บเป็นอัตราก้าวหน้า ค่าเฉลี่ยประมาณ 32,245 ชิเลียนเปโซ ต่อ 1 ลูกบาศ์กเมตร

6.4 ค่าแก๊ซ เก็บเป็นอัตราก้าวหน้า ค่าเฉลี่ยประมาณ 59,740 ชิเลียนเปโซ ต่อ 1 กิโลลูกบาศ์กเมตร

ความตกลงสำคัญด้านการค้าและการลงทุน

สิทธิต่างๆของนักลงทุนต่างประเทศยังได้รับความคุ้มครองโดยกฎระเบียบต่างๆดังต่อไปนี้

1. สนธิสัญญาการลงทุนแบบทวิภาคี (Bilateral Investment Treaties — BITs) ซึ่งในปี 2006 ชิลีได้ทำสนธิสัญญาดังกล่าวกับต่างประเทศจำนวน 51 ฉบับ โดยสนธิสัญญาดังกล่าวจำนวน 37 ฉบับ มีผลบังคับใช้ทันทีในตอนที่ลงนาม ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ทำสนธิสัญญานี้กับชิลี ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

2. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ยังมิได้กระทำกับประเทศไทย แต่ชิลีทำความตกลงนี้กับประเทศอื่นหลายประเทศ ประเทศในเอเชียที่ผลบังคับใช้แล้วที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้

3. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement for the Promotion and Protection of Investment : APPI) ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนในเรื่องข้อมูลในการลงทุนและช่วยให้การอรรถาธิบายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือนักลงทุน ชิลีได้ให้สัตยาบันนี้ต่อประเทศต่างๆแล้ว 38 ประเทศ ในเอเชียที่สำคัญได้แก่ จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

4. ความตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Commercial Aviation Agreements

5. ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ (Free Trade Agreements) ที่กระทำกับแคนาดา เม็กซิโก เกาหลีใต้ สหรัฐ เป็นต้น

6. ความตกลงกับ NAFTA, EU และประเทศในทวีปอมริกาใต้ที่เหลือ เป็นต้น

7. ความตกลงแบบพหุภาคี ได้แก่ APEC, MERCOSUR (associate member), ANCOM (Andean Common Market), LAIA (Latin American Integration Association)

ปัญหาการลงทุนในชิลี

ถึง ณ ปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ชิลีไม่มีปัญหาอุปสรรคที่โดดเด่นใดๆเป็นพิเศษสำหรับนักลงทุนจากประเทศที่พัฒนา (เช่น สหรัฐ ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆในภูมิภาคละตินอเมริกา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงปัญหาของนักลงทุนในส่วนที่เป็นปัญหาของนักลงทุนเอง เช่น การบริหารจัดการ การผลิต และการตลาด แต่ในส่วนของนักลงทุนไทย สคร. เห็นว่ามีข้อควรคำนึงคือ ประเด็นเรื่อง ต้นทุนด้านแรงงาน เนื่องจากสวัสดิการด้านแรงงานในชิลีมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานสวัสดิการของแรงงานไทยมากพอสมควร

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ