ชี้ช่องรวยเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์เมืองโรตี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 11:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่เฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของโลก (ติดกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก ๑๔ ประเทศ) เนื่องจากอินเดียมีคนชั้นกลางมากถึง ๔๐๐ ล้านคน ขณะที่กำลังซื้อก็เพิ่มสูงขึ้น ตามอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้าน IT และยานยนต์ ส่งผลให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีมีมากขึ้นและมีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์มากขึ้นเช่นกัน

มูลค่าตลาดเฟอร์นิเจอร์อินเดียมีสัดส่วน ๐.๕% ของ GDP แม้ว่าการผลิตในประเทศจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นก็เป็นการผลิตแบบชาวบ้าน (un-organized sector) ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของตลาดอินเดีย จึงต้องพึ่งพาการนำเข้ามาก

ข้อมูลตลาดที่สำคัญ

  • มูลค่าตลาด ๘ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • มีสัดส่วน ๐.๕% ของ GDP
  • เป็นแหล่งจ้างงานกว่า ๓ แสนคน
  • อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์แบ่งเป็นการดำเนินการแบบชาวบ้าน (unorganized sector) เป็นส่วนใหญ่ (ส่วนการดำเนินการเชิงอุตสาหกรรมหรือ organized sector มีเพียง ๑๕% ของตลาด)
  • ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เชิงอุตสาหกรรมเติบโตปีละ ๓๐%
  • ผู้ประกอบการเชิงอุตสาหรรมมีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
  • มีผู้ผลิตในประเทศราว ๕,๐๐๐ ราย และบริษัทนำเข้า ๑๐,๕๐๐ ราย
  • การจัดกลุ่มจำแนกตามวัสดุที่ใช้และกลุ่มผู้ซื้อ
  • เฟอร์นิเจอร์ไม้มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด
  • โรงงานส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐ Gujarat, UP, Punjab, Kerela, Andra Pradesh, West Bengal
  • `เฟอร์นิเจอร์ในครัวเรือนต้องคำนึงถึงรสนิยมของแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยตลาดอินเดียนิยมซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ในช่วงปลายปี ถึง ต้นปีที่มีเทศกาลใหญ่ๆ เป็นจำนวนมาก

การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์

  • มีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ประมาณ ปีละ ๓๒๖ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ๖๐% ต่อปี
  • ผู้มีรายได้สูง ธุรกิจขนาดใหญ่และโรงแรมชั้นนำเป็นผู้บริโภคสำคัญของเฟอร์นิเจอร์นำเข้า
  • มีการนำเข้าเพิ่มสูงสำหหรับกลุ่มผู้ซื้อในเขตเมือง โรงแรม ร้านอาหาร และผู้มีฐานะดี
  • ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจาก จีน เยอรมนี มาเลเซีย อิตาลี และประเทศไทย

การนำเข้าจากไทย

ในปี ๒๐๑๐ มีการนำเข้าจากไทย ๘.๒๗๙ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ๑๖๔% แบ่งเป็น ม้านั่ง/เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ (ยกเว้นม้านั่ง/เก้าอี้) โคมไฟ เครื่องนอน เคหะสิ่งทอ

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เชิงอุตสาหกรรมกิจในอินเดีย

การดำเนินธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียมีมูลค่าประมาณ ๘ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการเติบโตปีละ ๓๐% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์นำเข้า มีเป็นส่วนน้อยที่ผลิตในประเทศ โดยผู้ผลิตอินเดียมีส่วนแบ่งตลาด ๒๐% ส่วนใหญ่จะเน้นไปผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับสำนักงาน ร้อยละ ๒๗ ของเฟอร์นิเจอร์สำนักงานเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงเนื่องมาจากการเติบโตของธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยว/โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือคนอายุต่ำกว่า ๒๕ ปีของอินเดียมีมากประมาณ ๕๐% ของประชากร (๔๔% อายุต่ำกว่า ๑๙ ปี) ซึ่งผู้เริ่มทำงานใหม่นิยมทำงานในบริษัท IT มีรายได้สูง และไม่ชอบเฟอร์นิเจอร์แบบโบราณรุ่นคุณปู่อีกต่อ นอกจากนั้ยยังมีปัจจัยที่มีผลสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน คือสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์และ Internet ที่คนอินเดียสามารถเข้าถึง trend ใหม่ๆ ของเฟอริ์นิเจอร์ได้ง่ายเนื่องจากส่วนใหญ่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ แต่ปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือการเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้คึกคักมากในปัจจุบัน ดังนั้นการเลือกใช้สื่อที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีจึงเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดอินเดีย

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แบบชาวบ้าน

ร้อยละ ๘๕ ของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เป็นการดำเนินการธุรกิจแบบชาวบ้าน ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย (เช่น โรงงานห้องแถว และร้านค้ารายย่อย) ในส่วนธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เชิงอุตสาหกรรมมีส่วนแบ่งตลาด ๑๕% ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้านำเข้า บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของอินเดียซึ่งต่างนิยมร่วมทุนกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันยี่ห้อชั้นนำของอินเดีย ได้แก่ Godrej & Boyce Manufacturing Co. Ltd., Furniturewala, Zuari, Yantra, Renaissance, N R Jasani & Company, Furniture Concepts, Durian, Kian, Millenium Lifestyles, Truzo, PSL Modular Furniture, BP Ergo, Tangent, Featherlite , Odd life (ร่วมทุนกับจีน) และ Haworth

ปัจจัยด้านอุปสงค์

การขยายตัวของตลาดบ้านพักอาศัยและสำนักงาน

  • การเติบโตของธุรกิจก่อสร้างมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  • การก่อสร้างด้านที่พักอาศัยและสำนักงานเติบโตอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินในเมืองสำคัญ ๆ เพิ่มสูงขึ้นปีละกว่า ๒๕% ในไฮเดอราบัดเพิ่มสูงถึงปีละ ๔๕%

การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว/โรงแรม

  • มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นจากต่างประเทศและในประเทศ
  • ความต้องการห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น

กำลังซื้อคนอินเดียสูงขึ้น

  • คนอินเดียมีรายได้เพิ่มขึ้น
  • มีแนวโน้มเป็นบริโภคนิยมมากขึ้น นิยมสินค้าที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ด้วย

ช่องทางการจัดจำหน่าย

ช่องทางการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นการจัดจำหน่ายผ่านผู้ค้าส่งไปยังร้านค้าปลีก ตลาดส่วนใหญ่ยังนิยมสินค้าราคาถูก (ซึ่งเป็นตลาดของ Unorganized sector) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไฟเบอร์บอร์ดหรือไม้อัด ส่วนสินค้าราคาสูงส่วนใหญ่จะเป็นช่องทางในหัวเมืองใหญ่ๆ ห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ ได้แก่ BIG Bazar, Pantaloon, Shopper’s stop, Trent, RPG, VISHAL Retail, Reliance และ TATA group ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ เน้นการนำเข้าเป็นหลัก ได้แก่ Godrej & Boyce Manufacturing Co. Ltd., Furniturewala, Zuari, Yantra, Renaissance, Featherline, Harworth, Style spa, Yantra, Renaissance, Millennium Lifestyle, Durian, Kian, Tangent, V3 Engineers, N R Jasani & Company, Furniture Concepts, Durian, Kian, Millenium Lifestyles, Truzo, PSL Modular Furniture, BP Ergo, Tangent, Featherlite , Odd life และ Haworth ร้านค้าลักษณะแฟรนส์ไชส์ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน เช่น ร้าน Nitra เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ได้มีคณะผู้ผลิตไม้ยางพาราของไทยเยือนเจนไนเมื่อวันที่ ๒๘ — ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ และได้พบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าอินเดีย สามารถสร้างยอดขายได้ ๓๔๐ ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการไม้คุณภาพสำหรับการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียมีสูงมาก อีกทั้งโอกาสในการการเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ในอินเดียมีสูงมากเช่นกัน สาเหตุที่ความนิยมเฟอร์จิเจอร์ไม้ยังมีมาก อาจเป็นเพราะอินเดียมีช่างไม้ ช่างแกะสลักฝีมือดีเป็นจำนวนมาก และค่าแรงยังถูก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรังสรรค์งานเฟอร์นิเจอร์เป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ความสามารถในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ด้วยวัสดุอย่างอื่นยังมีจำกัด เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย (โรงงานผลิตส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องผลิตที่ทันสมัย และมาตรฐานการทำงานยังต่ำ ) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ก็มีการปรับตัวให้ทันสมัยพอควร โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น มุมไบ เจนไน บังกะลอร์ และ กรุงนิวเดลีก็มีเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหราทันสมัยไม่แพ้เมืองไทยเรา สื่อประชาสัมพันธ์

ปัจจัยเรื่องราคายังเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้สื่อโฆษณา สื่อที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ได้แก่ แผ่นป้ายโฆษณา และการโฆษณาในโรงภาพยนต์ (คนอินเดียนิยมชมภาพยนต์ในโรงภาพยนต์มากกว่าประเทศอื่นๆ ) รองลงมาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และการโฆษณาทางโทรทัศน์ โดยเราจะได้เห็นโฆษณาของ Godrej และ Nilkamal ในสื่อดังกล่าวบ่อยครั้ง สำหรับ Hypermart และร้าน Chain store มักจะนิยมแจกแผ่นพับ และป้ายโฆษณาลดแลกแจกแถมในช่วงปลายปี — ต้นปี เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ ๑) คนอินเดียนิยมแต่งงานช่วงดังกล่าว ๒) มีเทศกาลต่างๆ มากมาย ซึ่งคนอินเดียนิยมเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์เพื่อความเป็นศิริมงคลของชีวติ และครอบครัว

นโยบายการนำเข้า

อินเดียเปิดเสรีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่เดือนเมษายน ๑๙๘๘ ผู้นำเข้าอินเดียไม่ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า และไม่ต้องขอใบอนุญาตก่อนการนำเข้า แต่ผู้นำเข้าควรมีเลขประจำตัวผู้นำเข้า (IEC code — Import Export Code) โดยขอรับได้ที่ Directorate General of Foreign Trade

การตรวจปล่อยของศุลกากร

ขั้นตอนไม่แตกต่างจากการนำเข้าสินค้าอื่นๆ ทั่วไป โดยผู้นำเข้าจะต้องแสดงเอกสาร เช่น เอกสารต้นฉบับ Commercial Invoice, Packing list, C/O และ B/L ต่อศุลกากร

อัตราภาษีศุลกากร

Basic Custom Duty (๑๕%) + ๑๒% Education Cess

บรรจุภัณฑ์

ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Import Policy Provisions ตามระเบียบ the Policy Circular 44 (RE- 2000 ) /1997 -2002 DT 24th November 2000 และบนบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นจะต้องมีข้อมูลต่อไปนี้พิมพ์กำกับไว้ด้วย

  • ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า
  • ชื่อของสินค้า
  • ปริมาณสุทธิ ทั้งน้ำหนักและขนาด
  • เดือนและปีที่ผลิต หรือบรรจุ

ศักยภาพในอนาคต

อินเดียมีการนำเข้าในปี ๒๕๕๓ มูลค่า ๓๒๖ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวปีล ๒๕% และตลาดยังเป็นตลาดของเฟอร์นิเจอร์นำเข้า นับเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย นอกจากนั้นคนชั้นกลาวที่มีมากถึง ๔๐๐ ล้านคนเป็นส่วนผลักดันให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์มีได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเศรษฐีและมัณฑนากรเช่นในอดีตอีกต่อไป คนชั้นกลางปัจจุบันต่างมองหาเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงกันมากยิ่งขี้น และนิยมตกแต่งบ้านรายวันด้วยตนเองเป็นงานอดิเรก นับเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้านของไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาด หลังจากที่ไม้ยางพาราของไทยได้เข้าไปบุกเบิกตลาดไว้แล้ว

สำหรับผู้สนใจเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์เมืองอินเดีย สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Thailand Trade Exhibition 2011 ระหว่างวันที่ ๑๙ — ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่เมืองเจนไน ซึ่งเป็นงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีผู้เข้าชมงานนับแสนคนในแต่ละปี โอกาสพิเศษนี้ท่านจะได้ทดสอบตลาดโดยการขายปลีกโดยตรง และท่านยังสามาถพบกับผู้นำเข้าอีกด้วยในเวลาเดียวกัน โดยท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร 02-507-8392,8394

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ