รายงานภาวะการค้าต่างประเทศในปี 2553 ของไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 14:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปริมาณการค้ารวม

ในปี 2553 การค้าต่างประเทศของไต้หวันคิดเป็นมูลค่ารวม 526,037.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 39.1 โดยไต้หวันส่งออกคิดเป็นมูลค่า 274,642.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 และนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 251,395.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.2 ทำให้ในปี 2553 ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ารวม 23,247.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.7 จากปีก่อนหน้า (รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 1.1) โดยคู่ค้าอันดับหนึ่งของไต้หวันได้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วยมูลค่าการค้ารวม 112,894.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาได้แก่ญี่ปุ่น (มูลค่า 69,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9 สัดส่วนร้อยละ 13.3) สหรัฐฯ (มูลค่า 56,842.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 สัดส่วนร้อยละ 10.8) ฮ่องกง (มูลค่า 39,433.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 สัดส่วนร้อยละ 6.9) และเกาหลีใต้ (มูลค่า 26,741.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.2 สัดส่วนร้อยละ 5.1) ตามลำดับ

การนำเข้า

สินค้านำเข้า

สินค้าสำคัญที่ไต้หวันนำเข้าในปี 2553 ได้แก่สินค้าในหมวด Machinery and Electrical Equipment โดยมีมูลค่าการนำเข้า 86,525.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.6 จากปี 2552 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.4 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด (โดยในหมวดนี้สินค้าที่นำเข้ามากที่สุดคือ Electronic Products มูลค่า 42,727.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 สัดส่วนร้อยละ 17.0 ถัดมาได้แก่ Machinery มูลค่า 26,317.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5 และ Electrical Machinery Products มูลค่า 6,933.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.4 จากปี 2552 สัดส่วนร้อยละ 2.8) ถัดมาคือสินค้าหมวด Minerals ด้วยมูลค่านำเข้า 55,438.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 22.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9) สินค้าในหมวด Chemical Products มีมูลค่าการนำเข้า 29,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.7 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 11.7 และสินค้าหมวด Basic Metals and Articles thereof มูลค่า 24,368.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.4 สัดส่วนร้อยละ 9.7) รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 4

ตลาดนำเข้า

แหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไต้หวันในปี 2553 คือญี่ปุ่น ซึ่งไต้หวันนำเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งด้วยมูลค่า 51,930.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.4 จากปี 2552 รองลงมาได้แก่จีน (มูลค่า 35,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 14.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2) สหรัฐฯ (มูลค่า 25,373.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 10.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8) ซาอุดิอาระเบีย (มูลค่า 11,882.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 4.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2) และเกาหลีใต้ (มูลค่า 13,183.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0) รายละเอียดเพิ่มเติมตามตารางที่ 2

การส่งออก

สินค้าส่งออก

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไต้หวันในปี 2553 คือสินค้าในหมวด Machinery and Electrical Equipment คิดเป็นมูลค่า 131,320.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37.9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (ในหมวดนี้สินค้าที่ส่งออกมากที่สุดคือ Electronic Products ด้วยมูลค่า 77,345.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 28.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 และ Machineries มูลค่า 16,725.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.2) รองลงมาได้แก่สินค้าในหมวด Basic Metals and Articles Thereof ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 25,887.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 9.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7) และสินค้าหมวด Precision Instruments ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 23,625.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 3

ตลาดส่งออก

ในปี 2553 ไต้หวันส่งออกสินค้าไปยังจีนมากเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นมูลค่า 76,940.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 จากปี 2552 รองลงมาคือ ฮ่องกง (มูลค่า 37,806.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 13.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4) สหรัฐอเมริกา (มูลค่า 31,469.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 11.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6) ตามด้วยญี่ปุ่น (มูลค่า 18,023.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 6.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3) และสิงคโปร์ (มูลค่า 12,096.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4) รายละเอียดเพิ่มเติมตามตารางที่ 2

การค้าไต้หวัน-ไทยในปี 2553

ในช่วงปี 2553 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของไต้หวันโดยมีมูลค่าการค้ารวม 9,119.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 จากปี 2552

การส่งออกไปไทย

ไต้หวันส่งออกไปไทยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2553 คิดเป็นมูลค่า 445.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออกของไต้หวันทั้งหมดในเดือนธันวาคม 2553 โดยมูลค่าส่งออกรวมในปี 2553 จากไต้หวันที่ส่งออกไปไทยคิดเป็นมูลค่า 5,287.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 38.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออกของไต้หวันทั้งหมดเช่นเดียวกัน โดยไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 11 ของไต้หวัน

ทั้งนี้จากสถิติในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 สินค้าที่ไต้หวันส่งออกไปไทยมากที่สุดคือแผงวงจรรวม (HS-Code: 8542) ด้วยมูลค่า 640.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.15) รองลงมาได้แก่สื่อบันทึกข้อมูล (HS-Code:8523 มูลค่า 197.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.60) แผงวงจรพิมพ์ (HS-Code:8534 มูลค่า 129.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.04) ปลาแช่แข็ง (HS-Code:0303 มูลค่า 124.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.43) และแผ่นเหล็กรีด (HS-Code:7210 มูลค่า 103.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ28.35)

การนำเข้าจากไทย

ในเดือนธันวาคม 2553 ไต้หวันนำเข้าจากไทย คิดเป็นมูลค่า 366.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไต้หวันในเดือนธันวาคม 2553 โดยในปี 2553 ไต้หวันนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 3,831.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 12 ของไต้หวันครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.5 ไต้หวันเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าไทยคิดเป็นมูลค่า 1,455.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 รายละเอียดเพิ่มเติมดังตารางที่ 2

สำหรับสินค้าสำคัญที่ไต้หวันนำเข้าจากไทย 10 อันดับแรกในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 ได้แก่ แผงวงจรรวม (HS-Code:8542 มูลค่า 588.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.44) คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน (HS-Code:8471 มูลค่า 273.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.40) ไดโอดและทรานซิสเตอร์ (HS-Code:8541 มูลค่า 102.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.24) ยางธรรมชาติ (HS-Code:4001 มูลค่า 97.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.55) แป้งมันสำปะหลัง (HS-Code:1108 มูลค่า 95.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.42) ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน (HS-Code:2902 มูลค่า 86.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 125.30) เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (HS-Code:8415 มูลค่า 80.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.39) ตัวเก็บประจุไฟฟ้า (HS-Code:8532 มูลค่า 74.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.77) โพลีอะซีตัล (HS-Code:3907 มูลค่า 71.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.93) และเครื่องยนต์สันดาปภายใน (HS-Code:8407 มูลค่า 63.60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 659.36)

ภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน

ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2553 ที่ผ่านมากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินได้สำเร็จ จนส่งให้เศรษฐกิจโลกกลับมาอยู่ในภาวะคึกคักอีกครั้ง แม้ว่าช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีจะเกิดการชะลอตัวขึ้น อันเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จนส่งให้การฟื้นคืนของเศรษฐกิจไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง ประกอบกับการเสียสมดุลย์ของระบบการเงินที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นอย่างที่คาดหวัง ทำให้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีแรงกดดันจากสภาพคล่องทางการเงินของประเทศและตัวเลขอัตราการว่างงานที่ลดลงไม่มากนัก จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมเกิดการชะลอตัวขึ้น

และจากการคาดการณ์ของ Global Insight ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะเติบโตขึ้นร้อยละ 4.0 จากปีก่อนหน้า ปรับเพิ่มจากตัวเลขคาดการณ์ที่ประกาศในเดือนสิงหาคม 2553 เป็นอัตราร้อยละ 0.3 และปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2554 เหลือเพียงร้อยละ 3.3 ลดลงจากตัวเลขเดิมที่ประกาศในเดือนสิงหาคมในอัตราร้อยละ 0.1

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไต้หวันนั้น สำนักสถิติแห่งชาติของไต้หวันได้คาดการณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมาว่า แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ดีอย่างที่คิด หากแต่ในส่วนของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่แล้ว ปริมาณความต้องการบริโภคยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่ จนส่งผลดีต่อความต้องการสินค้า ICT ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ประกอบกับการที่ไต้หวันและจีนได้ลงนามในกรอบความตกลงร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (ECFA) ในช่วงกลางปี 2553 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2554 คาดว่าจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศของไต้หวันได้ไม่น้อย จึงคาดว่าในปี 2554 มูลค่าส่งออกของไต้หวันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.20 และมูลค่านำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.44

สำหรับในส่วนของการใช้จ่ายภาคเอกชนนั้น จากการที่ตัวเลขอัตราการว่างงานลดจากร้อยละ 6.13 ในเดือนสิงหาคม 2552 เหลือเพียงร้อยละ 5.05 ในเดือนกันยายน 2553 สามารถสร้างความมั่นใจในการบริโภคของประชาชนได้ไม่น้อย ประกอบกับการที่ภาวะการซื้อขายสินค้า Consumer Electronic ในไต้หวันเริ่มกลับมาคึกคักและกลุ่มผู้บริโภคมีการขยายตัวมากขึ้น คาดว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 2554 จะเพิ่มร้อยละ 3.51

ในด้านการลงทุนนั้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่งให้อัตราการเดินเครื่องจักรผลิตสินค้ากลับมาอยู่ในระดับสูงแล้ว แต่จากการที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศหันกลับมาสั่งซื้อสินค้าจากไต้หวันเพิ่มขึ้นอีก ประกอบกับการที่ต้นทุนด้านแรงงานของจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันหันกลับมาขยายการลงทุนในไต้หวันมากขึ้นในปี 2553 จนทำให้อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในไต้หวันในปี 2553 สูงถึงร้อยละ 31.91 (สูงที่สุดนับแต่ปี 1966 เป็นต้นมา) สำหรับในปี 2554 ด้วยความที่ฐานตัวเลขในปี 2553 อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วจึงคาดว่าอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในปี 2554 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.76

สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น จากการที่ราคาน้ำมันดิบและสินค้าเกษตรในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่จากการที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ต่างก็พากันปรับนโยบายค่าเงินเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ น่าจะส่งให้ราคาน้ำมันดิบและสินค้าเกษตรไม่เพิ่มสูงมากนัก อีกทั้งการที่ค่าเงินเหรียญไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นก็มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นได้บ้าง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2554 ของไต้หวันจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.85

ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้สำนักสถิติแห่งชาติไต้หวันคาดการณ์ว่าในปี 2554 ไต้หวันจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51 และคาดว่าประชากรไต้หวันจะมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 23,320 เหรียญสหรัฐฯ

E-Mail : thaicom.taipei@msa.hinet.net

Tel : (886 2) 2723-1800

Fax : (886 2) 2723-1821

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป ไต้หวัน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ