นโยบายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 20, 2011 11:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กรอบนโยบาย

นโยบายหลักของสหพันธรัฐเยอรมันเป็นไปตามกรอบนโยบายของสหภาพยุโรป สำหรับในด้านของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนสหภาพยุโรปได้ออกกรอบนโยบายในด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามจำแนกได้ดังนี้

1. Ecodesign

2. Corporate Social Responsibility (CSR)

3. Action plan for sustainable consumption and production (SCP) and sustainable industrial policy (SIP)

4. Eco-industries

5. Climate change

6. Environmental management

7. External dimension

8. Enteprise policy integration

นโยบายของเยอรมนีในด้านการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้แก่

1. นโยบาย Ecodesign กำกับควบคุมผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ต้องใช้พลังงาน (energy related products) ให้เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดค่ามาตรฐานด้านประสิทธิภาพขั้นสูงสุดและต่ำสุดของสินค้า วัตถุประสงค์หลักในการออกนโยบายดังกล่าวของสหภาพยุโรปเป็นไปเพื่อให้กฎระเบียบของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นการกำจัดสินค้าด้อยประสิทธิภาพออกจากสหภาพยุโรปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและกิจการต่างๆ กล่าวได้ว่า Ecodesign จัดเป็นกรอบพื้นฐานของมาตรการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

สินค้าที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • Energy using products (EUPs) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ถ่ายโอน หรือตรวจวัดพลังงานทุกประเภท (ไฟฟ้า แก๊ส พลังงานถ่านหิน) เช่น เครื่องต้ม คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ พัดลมอุตสาหกรรม หม้อแปลง เป็นต้น
  • Other energy related products (ERPs) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้พลังงานโดยตรงแต่ส่งผลกระทบต่อพลังงานและสามารถประหยัดพลังงานได้ เช่น หน้าต่าง ฝ้า/ฉนวน ท่อน้ำ ฝักบัว เป็นต้น

แนวความคิดสำคัญของรัฐบาลเยอรมันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามหลักการ Top Runner ซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้สินค้าที่ดีที่สุดในท้องตลาดเป็นบรรทัดฐานของสินค้าอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน สินค้าที่ด้อยกว่ามาตรฐานต้องปรับปรุงคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์บรรทัดฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะไม่สามารถออกวางจำหน่ายได้อีกต่อไป หลักการ Top Runner ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้สินค้าที่มีคุณภาพและประหยัดพลังงานมากที่สุดสามารถเจาะตลาดได้รวดเร็วที่สุด หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงสิ่งแวดล้อม การรักษาธรรมชาติและความปลอดภัยด้านกัมมันตรังสี

มาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1.1 มาตรฐานขั้นต่ำด้านประสิทธิภาพตามนโยบาย Ecodesign ของสหภาพยุโรป กำหนดให้สินค้าต้องอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐานจึงจะวางจำหน่ายได้ เน้นการส่งเสริมสินค้าที่มีคุณภาพสูงและประหยัดพลังงาน

1.2 ป้ายแสดงปริมาณการใช้พลังงานตามตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพลังงานต้องติดป้ายแสดงปริมาณการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปเป็นประเด็นเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าใดๆ ก็ตาม นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นผู้ผลิตให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถเจาะตลาดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

1.3 หลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดซื้อ/จัดจ้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะ เป็นมาตรการสำคัญอีกมาตรการหนึ่งของรัฐ กำหนดให้การจัดซื้อ/จัดจ้างของสหพันธ์ รัฐและชุมชนต่างๆต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้บริโภคทั่วไป นอกจากนี้การเพิ่มอุปทานในตลาดผ่านหน่วยงานต่างๆ ยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต/ผู้วิจัยได้คิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

2. นโยบายด้าน CSR นอกเหนือจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการแล้ว การให้ความสำคัญกับปัจจัยทางด้านสังคมก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีการในการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน โดยสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่ต่างๆ เช่น สัญญาจ้างงาน สภาพแวดล้อมของที่ทำงาน การแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ต่อบริษัทคู่ค้า เป็นต้น

มาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

2.1 กฏหมายประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างทำประกันสังคมที่ครอบคุมการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ การป้องกัน ดูแลสุขภาพ ตลอดจนการประกันกรณีทุพลภาพจากการทำงานและการเกษียณอายุการทำงาน

2.2 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

2.3 การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช้แรงงานเด็กการออกกฏเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยเป็นระยะๆ เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมีกระทรวงแรงงานฯและกระทรวงเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนั้นยังมีองค์กรอิสระต่างๆ ตลอดจนสมาคมและสถาบันอิสระคอยสอดส่องดูแล ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ รวมทั้งการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

เครื่องหมายรับรองที่เกี่ยวข้อง

1. “Blue Engel” เครื่องหมายรับรองสำหรับสินค้าและบริการอันแรกของโลกและเก่าแก่ที่สุดในโลก ริเริ่มในปี 1978 โดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ ของเยอรมนี ถือเป็นกลไกสำคัญสำหรับมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเยอรมันที่จะประชาสัมพันธ์และปลุกจิตสำนึกผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยผู้ผลิตสินค้า (ที่ไม่ใช่สินค้าอาหาร) และผู้ให้บริการสามารถยื่นขอใช้ฉลากนี้ได้ตามความสมัครใจกับคณะกรรมการซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ประกอบด้วยสมาชิกกิตติมศักดิ์จากสมาคมสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภค สมาพันธ์ กลุ่มอุตสาหกรรม สื่อ โบสถ์ ชุมชนและตัวแทนจากรัฐบาลท้องถิ่น 2 รัฐหมุนเวียนกันไป เกณฑ์การพิจารณาครอบคลุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในองค์รวม ตั้งแต่การจัดหา/ใช้ทรัพยากรในการผลิตไปจนถึงการดูแลรักษา อายุการใช้งานและการทำลาย นอกจากนี้ยังรวมถึงเกณฑ์การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักการของ CSR อีกด้วย จุดมุ่งหมายสำคัญของเครื่องหมายดังกล่าวคือการส่งสาร

2. “EU-Ecolabel” เครื่องหมายรับรองสำหรับสินค้าและบริการของสหภาพยุโรป เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1992 โดยจำแนกสินค้าและบริการออกเป็น 24 ประเภท (สำหรับสินค้าอาหารกำลังอยู่ในช่วงทำการวิจัย) เป้าหมายสำคัญเพื่อรองรับและสนับสนุนการซื้อขายสินค้าและบริการภายในสหภาพยุโรปให้สะดวกยิ่งขึ้น โดยบริษัทที่มีธุรกิจภายในสหภาพยุโรปสามารถใช้ตรารับรองเพียงตราเดียวโดยไม่ต้องใช้เครื่องหมายของแต่ละประเทศอีกให้เป็นการซ้ำซ้อน เกณฑ์การพิจารณาเน้นการรับรองสินค้าและบริการซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(ตลอดอายุการใช้งาน)น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปของสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาด ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมถึงมาตรฐาน CSR ต่างๆ ในปี 2009 สหภาพยุโรปได้ออกกฎเกี่ยวกับเครื่องหมายรับรองนี้ใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการขอใช้ได้ง่ายข ธรรมเนียมถูกลง นอกจากนั้นยังได้ปรับกฎเกณฑ์ให้เข้ากับเครื่องหมายรับรองของแต่ละประเทศมากขึ้นอีกด้วย จากสถิติการสำรวจของสหภาพยุโรป เครื่องหมายนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2009 มีผู้บริโภครู้จักเครื่องหมายมากขึ้นกว่าปี 2006 ถึงร้อยละ 40

3. “Fairtrade” หรือสัญลักษณ์การค้าเพื่อความเป็นธรรม เป็นเครื่องหมายรับรองจากองค์กร FLO (Fairtrade Labelling Organisations International) โดยมีหลักเกณฑ์หลายประการ อาทิ การซื้อสินค้าโดยตรงในราคาที่สูงกว่าและเป็นธรรม การจัดสวัสดิการแก่พนักงานอย่างเหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม การงดใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการช่วยเหลือพนักงานเกษตรกรในการพัฒนาการผลิต การจัดการและการจำหน่าย ปัจจุบันผู้บริโภคเยอรมันและยุโรปเริ่มให้ความสำคัญกับมาตรฐานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิต หลายรายหันมาปรับกลยุทธทางการตลาดด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง Fairtrade เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าของตน (value added)

4. มาตรฐาน SA8000 (Social Accountability 8000) เป็นระบบการจัดการที่เป็นที่รู้จักและได้รับการ ยอมรับมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความรับผิดชอบทางสังคม ก่อตั้งโดยองค์กร Social Accountability International (SAI) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับลูกจ้างและคนทำงานทั่วโลก อย่างไรก็ตามหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐาน SA8000 ได้แก่ IQNet Ltd. ซึ่งมีเครือข่ายในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

หลักเกณฑ์สำคัญของ SA8000 เป็นไปตามหลักการมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสถานที่ทำงานตามข้อตกลงของ ILO (International Labour Organisation) กฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติและข้อตกลงว่าด้วย สิทธิของเด็ก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้บริษัทและองค์กรปรับปรุงและพิสูจน์ให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่ของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวกับการทำงาน

นับเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดขององค์กร ISO ที่เพิ่งแล้วเสร็จในปี 2010 ระบุหลักการ ตัวชี้วัดในด้านความรับผิดชอบด้านสังคม และหลักเกณฑ์ในการนำไปบังคับใช้สำหรับหน่วยงานและองค์กรโดยทั่วไป ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย

  • พัฒนาคำจำกัดความและความหมายสากลของ SR และข้อกำหนด/กฎระเบียบต่างๆ
  • ระบุหลักการและกฎเกณฑ์มาตรฐาน SR ที่เกี่ยวข้อง
  • ให้คำแนะนำในการนำกฎไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

การสนับสนุนของภาครัฐ

นอกเหนือจากมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและนโยบายด้านสังคมที่กล่าวข้างต้นแล้ว รัฐบาลเยอรมันโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศตามโครงการส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย กล่าวคือ

1. การสนับสนุนภายในประเทศ โดยการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งนำมาใช้ในเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรูปของการลดดอกเบี้ยเงินกู้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME bank) หรือการร่วมลงทุนในโครงการนั้นๆ โดยเน้นโครงการด้านการรักษาชั้นบรรยากาศโลก การใช้พลังงานทางเลือกและการพัฒนาประสิทธิภาพของสินค้า ขอบข่ายสำคัญ ได้แก่ การรักษาทรัพยากรน้ำ-อากาศ การกำจัดขยะ และการลดมลภาวะทางเสียง

2. การสนับสนุนต่างประเทศ โดยเน้นเฉพาะโครงการในต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศเยอรมนีหรือการถ่ายโอนองค์ความรู้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี

ผู้สนใจสามารถรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.foerderdatenbank.de

องค์กร/สมาคมอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

1. Oko-Institut e.V. องค์กรอิสระของเยอรมันที่ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อตั้งในปี 1977 และเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับทั่วยุโรป ปัจจุบันมี 3 สาขาในเยอรมนี ได้แก่ เมืองฟรายบวร์ก เมืองดาร์มชตัดท์ และกรุงเบอร์ลิน ประกอบด้วยพนักงาน 125 คน เป็นนักวิชาการกว่า 85 คน เป้าหมายหลักเพื่อการวางกรอบและยุทธศาสตร์การดำเนินการต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านโครงการกว่า 200 โครงการต่อปี ทั้งที่เป็นโครงการของเยอรมนีเองและของนานาชาติ โดยครอบคลุมเนื้อหาดังนี้

  • การจัดการเคมีภัณฑ์และเทคโนโลยี
  • พลังงานและสภาพภูมิอากาศ
  • การป้องกันมลพิษและสารกัมมันตรังสี
  • ความหลากหลายทางชีวภาพและการเกษตร
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนในแง่ของการบริโภค การเคลื่อนย้าย การประหยัดทรัพยากรและดำเนินธุรกิจ
  • เทคโนโลยีนิวเคลียร์
  • หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และการปกครอง

สถาบัน Oko-Institut e.V. ดำเนินการด้วยเงินบริจาคจากสมาชิกกว่า 2,500 รายและจากเงินโครงการด้วย งบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวง รัฐบาลของรัฐ ธุรกิจเอกชน และสหภาพยุโรป ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ ของเยอรมนี เช่น โครงการ Eco Top Ten ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับสถาบันเพื่อการวิจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ (Institut fur sozial-okologisch Forschung: ISOE) ในการทำวิจัยและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อมและเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านเวบไซด์ www.ecotopten.de

2. Institut fur sozial-okologisch Forschung (ISOE) หรือสถาบันเพื่อการวิจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นสถาบันเพื่อการวิจัยและให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อตั้งมากว่า 20 ปี ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ปัจจุบันมีพนักงาน 27 คน เป็นนักวิชาการ 18 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่สังคมศาสตร์ โภชนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ไปจนถึงชีววิทยา ขอบเขตโครงการที่สำคัญเน้นการรักษาทรัพยากรน้ำ การพัฒนาพื้นที่ Lifestyle และประชากรศาสตร์ โดยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐสังคมเป็นหลัก

3. Business Social Compliance Initiative (BSCI) เป็นความคิดริเริ่มของผู้ประกอบการในยุโรป ก่อตั้งโดยองค์กร Foreign Trade Association (FTA) ในปี 2002 ที่กรุง รัสเซลส์ สมาชิกประกอบ วยบริษัทภาคเอกชนกว่า 600 ราย เป้าหมายสำคัญเพื่อการตรวจสอบและพัฒนาจิตสำนึกด้านสังคมในรูปของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัทต่างๆ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยประมวลองค์ความรู้ วิธีการและประสบการณ์เกี่ยวกับระบบการดำเนินงานและการตรวจสอบของบริษัทสมาชิกต่างๆ และพัฒนาจนได้เป็นกรอบพื้นฐานของระบบการดำเนินงานและการตรวจสอบดังกล่าว ซึ่งและมีการตรวจสอบปัจจัยด้านสังคมเป็นมาตรการสำคัญ

เวบไซด์ที่น่าสนใจ

1. European Commission: sustainable and responsible business

http://ec.europa.eu/enterprise/policies/sustainable-business/index_en.htm

2. กระทรวงสิ่งแวดล้อม การรักษาธรรมชาติและความปลอดภัยด้านกัมมันตรังสี

www.bmu.de

3. เครื่องหมาย “Blue Engel”

www.blauer-engel.de

4. เครื่องหมาย “EU-Ecolabel” ของสหภาพยุโรป

http://www.ecolabel.be/spip.php?article90

5. Fairtrade Labelling Organisations International

www.fairtrade.net

6. Social Accountability International

www.sa-intl.org

7. International Organisation for Standardization

www.iso.org

8. สถาบัน Oko-Institut e.V.

www.oeko.de / www.ecotopten.de

9. Institut fur sozial-okologisch Forschung

www.isoe.de

10. Business Social Compliance Initiative (BSCI)

http://www.bsci-intl.org/

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตและนครเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ