รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคละตินอเมริกา (1-15 ต.ค. 53)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 11:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า ระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค. 53

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,157 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 154 เป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,003 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 148

1.2 เกือบทุกตลาด สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-กันยายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- สิงหาคม 2553 กล่าวคือ

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 391 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 375 (มกราคม — สิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 373)
  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 292 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 67 (มกราคม-สิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 66)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 233 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 315.07 (เดือนมกราคม — สิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 315.56)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 239 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 68 (มกราคม —สิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 57)

1.3 สินค้าที่ตลาดนำเข้ารายการสำคัญจากไทยมีมูลค่าการนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ดังนี้

1.3.1 ตลาดชิลี ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 292 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 412
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 29
  • ปูนซีเมนต์ นำเข้า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 54
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 108
  • อาหารทะเลกระป๋อง นำเข้า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 54

1.3.2 ตลาดเปรู ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 147
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 49
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 84

1.3.3 ตลาดเอกวาดอร์ ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 187 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 38
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 27
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 194
  • ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ นำเข้า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 53

1.3.4 ตลาดโคลัมเบีย ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 188 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 100
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 38
  • ผลิตภัณฑ์ยาง นำเข้า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 69
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 33

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ยังมี Momentum ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงขยายตัว หลังจากนั้น อาจจะค่อยๆชะลอตัวลงเมื่อตลาดอิ่มตัว

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ อาทิเช่น ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลี ในช่วงประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 15 และค่าของเงินสกุลโซลเลสของเปรู ในช่วงประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 6 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อพอสมควรหากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิตซึ่งตลาดมีความจำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรมภายในตลาดทั้งสี่ที่กำลังขยายตัว

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.5.1 นาย Luis Alberto Moreno ประธานธนาคาร Inter-American Development Bank (IDB) แถลงเมื่อต้นเดือนตุลาคม ศกนี้ ว่า เศรษฐกิจของละตินอเมริกาในปี 2010 จะขยายตัวถึงร้อยละ 5.5 - 6 อันเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าพืชผลต่างๆ สามารถจำหน่ายได้สูงขึ้น ผลิตภาพทางการผลิตสูงขึ้น และตลาดขยายตัวใหญ่ขึ้น

2.5.2 IMF คาดการณ์ผ่านทางจุลสาร Regional Economic Outlook สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม ศกนี้ ว่า เศรษฐกิจของละตินอเมริกาจะฟื้นฟูขึ้นอย่างเข้มแข็ง แต่จักต้องวางนโยบายให้ดี เช่น การควบคุมเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เพื่อเป็นหลักประกันว่าอุปสงค์ในตลาดท้องถิ่นจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่แรงนัก เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจมิให้อยู่ในสภาพที่เครื่องร้อนจนเกินไปจนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคจะอยู่ที่ร้อยละ 7 และคาดว่าโดยรวมแล้วเศรษฐกิจของภูมิภาคจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค. 53

1. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก ในการจัดการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐชิลีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 13-18 ตุลาคม 2553

2. จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าของตลาดในเขตดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก (ชิลี เปรู เอกวาดอร์ โคลัมเบีย) สำหรับใช้ในการประชุมหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2553

3. เชิญผู้นำเข้า 14 ราย เยือนงานแสดงสินค้า BIG & BIH 2010

4. แก้ไขปัญหาผู้ซื้อชิลีราย Mr. Juan Pablo Philippi ซึ่งเป็นบุตรชายนาย Cristobal Philippi เลขาธิการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมของชิลี ซื้อสินค้าเครื่องประดับจากผู้จำหน่ายในประเทศไทยรายหนึ่ง ซึ่งร้องเรียนว่าผู้จำหน่ายรายนี้ขายสินค้าที่มีคุณภาพต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาที่ซื้อมาโดยผู้จำหน่ายแจ้งต่อผู้ซื้อว่าเป็นสินค้าคุณภาพสูง ภายหลังผู้จำหน่ายในประเทศไทยรายนี้ยินยอมคืนเงินค่าซื้อสินค้าให้ผู้ซื้อชิลี

5. ให้บริการตอบข้อสนเทศทางการค้าแก่ผู้นำเข้าชิลี และผู้ส่งออกไทย

6. ประชุมหารือกับบริษัท Nissan Marubeni, Chile ผู้นำเข้ารถยนต์กระบะนิสสันจากไทยรายใหญ่ในตลาดชิลี เรื่อง ผลกระทบต่อการนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทย จากการที่ชิลีจะประกาศใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ระดับเทียบเท่า EURO IV และ EURO V ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ