รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคละตินอเมริกา (1-15 พ.ย. 53)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 11:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-15 พ.ย. 53

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,268 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 150 เป็นอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลงจากสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-กันยายน 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,157 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 154

1.2 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- กันยายน 2553 ได้แก่

  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 320 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 71 (มกราคม-กันยายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 67)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 262 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 69 (มกราคม —กันยายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 68) ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2553 มีอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- กันยายน 2553 ได้แก่
  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 427 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 330 (มกราคม — กันยายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 375)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 259 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 294 (เดือนมกราคม — กันยายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 315)

1.3 สินค้าที่ตลาดนำเข้ารายการสำคัญจากไทยมีมูลค่าการนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ดังนี้

1.3.1 ตลาดชิลี ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 324 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 442
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 37
  • ปูนซีเมนต์ นำเข้า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 55
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 97
  • อาหารทะเลกระป๋อง นำเข้า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 39

1.3.2 ตลาดเปรู ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 188 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 147
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 47
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 75
  • ผลิตภัณฑ์ยาง นำเข้า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 48
  • พลาสติก นำเข้า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 99

1.3.3 ตลาดเอกวาดอร์ ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 204 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 87
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 20
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 87
  • ผลิตภัณฑ์ยาง นำเข้า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 26

1.3.4 ตลาดโคลัมเบีย ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 224 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 110
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 54
  • ผลิตภัณฑ์ยาง นำเข้า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 64
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 50

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ยังมี Momentum ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงขยายตัว หลังจากนั้น จะค่อยๆชะลอตัวลงเมื่อตลาดอิ่มตัว

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด ยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลี ในช่วงประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 15 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อพอสมควรหากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิตซึ่งตลาดมีความจำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรมภายในตลาดทั้งสี่ที่กำลังขยายตัว

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.5.1 นาย Juan Manuel Santos ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโคลอมเบีย และนาย Juan Carlos Echeverry รัฐมนตรีคลังของโคลอมเบีย ได้ลงนามในกฤษฎีกาที่เปิดให้มีการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตลาดหุ้นชิลี โคลอมเบีย และเปรู ทั้งนี้ ในวันที่ 9 และ 10 พฤศจิกายน ศกนี้ ผู้แทนจากตลาดหุ้นทั้งสาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจากทั้งสามฝ่าย ประชุมหารือกันที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู เพื่อออกประกาศอย่างเป็นทางการถึงการรวมตลาดหุ้นทั้งสามตลาดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นให้ความเห็นในที่ประชุมจัดโดยธนาคาร BBVA ที่กรุงโบโกต้า นครหลวงของประเทศโคลอมเบีย ว่า การรวมตลาดหุ้นดังกล่าว จะช่วยให้ปริมาณหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นดังกล่าว ขยายตัวอีก 4-5 เท่าตัว โดยจะทำให้ตลาดหุ้นแห่งนี้เป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคละตินอเมริกา รองจากตลาดหุ้น BOVESPA ของประเทศบราซิล ซึ่งการรวมตัวของตลาดหุ้นในระดับนานาชาติที่ผ่านมา ล้วนประสบผลดี เช่น การรวมตลาดหุ้นในยุโรปและในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ล้วนทำให้กิจกรรมการซื้อขายหุ้นในตลาดขยายตัวได้ถึง 5 เท่า ในระยะเวลา 9 ปี และ 4 เท่า ในระยะเวลา 6 ปี ตามลำดับ ซึ่งในกรณีของการรวมตลาดหุ้นของโคลอมเบีย เปรู และชิลี ดังกล่าว ธนาคาร BBVA คาดว่าระดับการซื้อขายหุ้นในตลาดดังกล่าว จะเพิ่มขึ้น 4 เท่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ต่อเรื่องนี้ สำนักงานฯ เห็นว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสและความสะดวกต่อนักธุรกิจไทยที่สนใจในการทำธุรกรรม Internationalization ในตลาดชิลี เปรู และโคลอมเบีย ทั้งในรูปแบบการลงทุนตรง หรือการลงทุนซื้อหุ้นต่างๆ

2.5.2 ทุกช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ ผู้บริโภคชาวชิเลียน จะซื้อเครื่องแต่งกายลำลองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการซื้อหารองเท้าคู่ใหม่ ปัจจุบัน รองเท้าของชาวชิเลียน 9 ใน 10 คู่ เป็นรองเท้าที่ผลิตจากเอเซีย จากสถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ชิลีบริโภครองเท้าปีละ 68 ล้านคู่ หรือ 4 คู่ ต่อประชากร 1 คน ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ที่ผ่านมา มีการนำเข้ารองเท้า 21.1 ล้านคู่ โดยจีนเป็นผู้ส่งออกรองเท้ามาตลาดชิลีรายใหญ่ที่สุด ซึ่งร้อยละ 88 ของปริมาณรองเท้าที่นำเข้า 21.1 ล้านคู่ ดังกล่าว เป็นรองเท้าที่นำเข้าจากจีน ประเทศผู้ส่งออกมาตลาดชิลีอื่นๆได้แก่ เวียดนาม บราซิล และอินเดีย ปัจจัยสำคัญที่สินค้าจีนขายได้ดีก็เนื่องมาจากราคารองเท้าจากจีนราคาคู่ละ 6.56 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่รองเท้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ราคาคู่ละ 7.72 เหรียญสหรัฐ ในระยะต่อไป เป็นที่คาดว่า การนำเข้าจากอินเดียและเวียดนาม จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากราคามีแนวโน้มลดลง จากการให้สัมภาษณ์ของนาย Sebastian Pinera ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี ระบุว่า รัฐบาลชิลีมีวัตถุประสงค์หลักคือ เอาชนะปัญหาความยากจนและปัญหาความด้อยพัฒนา และเพื่อให้บรรลุตามนี้ ชีลีเห็นว่า ควรเพิ่มการค้ากับจีนให้มากยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน จีนเข้ามาแทนที่สหรัฐ ในฐานะคู่ค้าใหญ่ที่สุดของชิลี โดยการที่เข้ามาทำการลงทุนขนานใหญ่ในชิลีในด้านสินค้าอุตสาหกรรม

2.5.3 นาย Luis Schmidt ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครรัฐทูตชิลีประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนคนใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนมีเป้าหมายหลักในการทำงานในการที่จะทุ่มความพยายามทั้งหมดไปที่ประเด็นของการลงทุนและการค้า ปัจจุบัน การค้าระหว่างจีนและชิลีร้อยละ 83 เป็นการค้าสินค้าในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในขณะที่การค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอาหาร มีสัดส่วนเพียง 1% และ 3.8% ตามลำดับ จึงเห็นควรกระจายการส่งออกของชิลีไปจีน ให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น รวมทั้งพยายามที่จะให้จีนมาทำการลงทุนในชิลีเพิ่มขึ้น ในปี 2009 ชิลีทำการลงทุนในจีน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนมาทำการลงทุนในชิลีเพียง 85 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ตนจะพยายามส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของชิลีเข้าสู่ตลาดจีนได้ ทั้งนี้ ชิลีเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความตกลงค้าเสรีกับจีน ในปี 2000 ถึงปี 2009 การส่งออกและนำเข้าของชิลีกับจีนขยายตัวถึง 12 เท่า และ 8.5 เท่า ตามลำดับ

2.5.4 ท่ามกลางกระแสการนำเข้าสินค้าจากจีนดังกล่าว ในการประชุม World’s Eight’s International Foot Wear Congress ที่นคร Guanajuato ประเทศเม็กซิโก อุตสาหกรรมผู้ผลิตรองเท้าของลาตินอเมริกา ประกอบด้วย เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา โคลอมเบีย ชิลี อุรุกวัย เอกวาดอร์ ปารากวัย และสเปน กำลังหาทางรวมตัวกันเผชิญหน้ากับจีนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตนเอง โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่า จีนมีการทำการค้าแบบ disloyal trade practices โดยการใช้ประโยชน์จากการผลิตสินค้าภายใต้สภาพการทำงานและเงินเดือนที่น่าสังเวชเป็นข้อสนับสนุนในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งการทำการค้าโดยใช้ under-billing (บิลที่ไม่แสดงราคาจริงของสินค้า) ทั้งนี้ ปัจจุบัน สินค้ารองเท้าจากจีนใช้ปานามาเป็นฐานกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่ง ที่ประชุมดังกล่าวได้ชมเชยปานามาที่ใช้มาตรการบางอย่างในการชลอการกระจายรองเท้าที่นำเข้าจากจีนลงไปกว่าร้อยละ 70

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 พ.ย. 53

1. ส่งผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองฯ ประจำปีงบประมาณ 2553 ระดับสำนัก ของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก

2. การพิจารณาเสนอรายชื่อลูกจ้างชั่วคราวในต่างประเทศที่สมควรเลื่อนขั้นค่าจ้าง

3. ส่งแบบฟอร์มเสนอโครงการปีงบประมาณ 2555

4. ให้บริการตอบข้อสนเทศทางการค้าแก่ผู้นำเข้าชิลี และผู้ส่งออกไทย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ