รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคละตินอเมริกา (1-15 ธ.ค. 53)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 13:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-15 ธ.ค. 53

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,403 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 145 เป็นอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,268 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 150

1.2 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- ตุลาคม 2553 ได้แก่

  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 351 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 76 (มกราคม-ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 71)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 293 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 71 (มกราคม —ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 69)

1.3 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- ตุลาคม 2553 ได้แก่

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 472 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 293 (มกราคม — ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 330)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 285 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 253 (เดือนมกราคม — ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 294)

1.4 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นลำดับ 1 ไปยังทุกตลาด การส่งออกไปชิลีขยายตัว 932 % ไปเปรูขยายตัว 556% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 128% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 88% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 72% ไปเปรูขยายตัว 46% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 20% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 24% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 277% ไปเปรูขยายตัว 45% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 47% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 61% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 130% ไปเปรูขยายตัว 256% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 173% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 38% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 51% ไปเปรูขยายตัว 64% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 48% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 25% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีลดลง -2% ไปเปรูขยายตัว 102% ไปโคลัมเบีย ลดลง -0.17% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 15% เม็ดพลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 404% ไปโคลัมเบียขยายตัว 76% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 249% ไปเปรูขยายตัว 293% ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 94% ไปโคลัมเบียขยายตัว 25% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 33% ไปเปรูขยายตัว 2% ปูนซีเมนต์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 20% ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปโคลัมเบียลดลง -6% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 66% ไปเปรูขยายตัว 376% (- = ลดลง หรือ หดตัว)

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 หลังจากที่การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ซึ่งมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงต้นปี เมื่อ Momentum อ่อนตัวลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัว การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวจึงค่อยๆชะลอตัวลง ตามที่สำนักงานฯได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลีอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 465 เปโซของชิลี ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าของเงินเปโซของชิลีแข็งค่าขึ้นไปอีกประมาณร้อยละ 7 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อมากขึ้น ดังนั้น หากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก วิกฤตการเรื่องการอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังชิลีมากนัก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งตลาดมีความต้องการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.5.1 นาย Dominique Strauss-kahn กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ศกนี้ โดยชี้ว่าไม่มีความเป็นไปได้ใดๆในอันที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นคำรบที่สอง แม้เขาจะเตือนให้ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ระยะฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้ให้ระวังว่ายังมีท่าทางว่ายังมีความเสี่ยงต่อการที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะตกลงไปอีกเป็นการตบท้าย และให้ทรรศนะว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่บอบบางและไม่ราบเรียบ อย่างไรก็ดี เขาเน้นว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิล ชิลี เปรู อเมริกาใต้ เอเซีย และบางประเทศในอัฟริกา เป็นไปด้วยดี ทั้งนี้ IMF พร้อมที่จะช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหาในรูปแบบ การสนับสนุนทางด้านเทคนิคและทางการเงิน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไอร์แลนด์ก็เป็นประเทศที่สองในยุโรปที่ต้องการความช่วยเหลือเนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจพังทลายลงมา อันเนื่องมาจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในสาขาการธนาคารซึ่งมีหนี้สินมาก เขายังได้เน้นอีกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปยังคงเป็นไปอย่างเงื่องหงอย และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในเรื่องหนี้สินที่บางประเทศในยุโรปยังจะต้องประสบ ทั้งนี้ ประเทศในยุโรปทั้งมวล ควรที่จะพยายามทำให้ฐานะทางการคลังของตนเข้มแข็งขึ้น และจำเป็นจักต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นในฐานะการคลังสาธารณะของตนเอง เขายังเน้นถึงความจำเป็นที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจักต้องขยายตัวให้เร็วและมีท่วงท่าที่แข็งขันขึ้น มิฉะนั้น ผลที่จะเกิดจะกลายเป็นความเลื่อนลอย เพราะถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐเกิดติดหล่มเสียการทรงตัว ก็จะส่งผลผตามมาต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างใหญ่หลวง

2.5.2 ในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม ศกนี้ กลุ่มวุฒิสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากสาขาการเกษตรของประเทศชิลี ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารกลางชิลี และประธานาธิปดีแห่งสาธารณรัฐชิลี อย่างรุนแรง ถึงการที่ไม่พยายามช่วยเหลือภาคเกษตรเพื่อการส่งออกของประเทศที่กำลังประสบปัญหากดดันอย่างรุนแรงจากการที่ค่าของเงินชิลีเปโซแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ โดยมาแตะระดับที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 470 เปโซชิลี ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม ศกนี้ ทั้งนี้ วุฒิสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อหนุนให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐในตลาดชิลีสูงค่าขึ้นบ้าง โดยให้เหตุผลว่า ผลกำไรจากอุตสาหกรรมการเกษตรส่วนใหญ่จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ต่างจากผลกำไรจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงของประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติจะถูกหมุนเวียนนำออกไปนอกประเทศ ทั้งนี้ นาย Jose de Gregorio ประธานธนาคารกลางชิลีได้ให้เหตุผลโต้กลับว่า ธนาคารกลางไม่สามารถวางหลักเกณฑ์อย่างปราศจากเหตุผลในอันที่จะดำเนินมาตรการเพื่อค้ำยันค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดชิลี และยังขอให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้หันไปพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถทนต่อวิกฤตทางการเงินของโลกที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ได้ดีกว่าหลายๆภูมิภาคของโลก อีกทั้งยังพยากรณ์ได้ว่า ในปี 2011 เศรษฐกิจของชีลีจะมีความเจริญเติบโตได้ถึงร้อยละ 5-7

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 ธ.ค. 53

1. เชิญนักธุกิจผู้นำเข้าสินค้าจากไทยรายสำคัญ บุคคลสำคัญภาครัฐและสถาบันทางการค้าภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงานฯ เข้าร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก

2. จัดทำรายงานข้อมูลการสนับสนุนด้านการเงินแก่นักลงทุนในการลงทุนในต่างประเทศของประเทศชิลี

3. จัดทำรายงานข้อมูลเชิงลึกในการสนับสนุนการลงทุนที่ประเทศชิลีให้การสนับสนุนนักลงทุนของประเทศตนเอง

4. จัดทำรายงานข้อมูลเชิงลึกในการสนับสนุนการลงทุนที่ประเทศเปรูให้การสนับสนุนนักลงทุนของประเทศตนเอง

5. ดำเนินการให้บริการนักธุรกิจไทยและชิลีที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้าจากสำนักงานฯ

6. แจ้งตัวอย่างรายชื่อผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของชิลี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ