รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคละตินอเมริกา (1-15 ก.พ. 54)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 17:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า ระหว่างวันที่ 1-15 ก.พ. 54

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,518.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 133 เป็นอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,403 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 145

1.2 ทุกตลาดมีสถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-ธันวาคม 2553 ที่มีอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลงจากอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม — พฤศจิกายน 2553 ดังนี้

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 514 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 267 (มกราคม — พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 293)
  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 381 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 71 (มกราคม - พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 76)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 314 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 64 (มกราคม — พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 71)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 309 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 221 (เดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 253)

1.3 ในปี 2553 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นลำดับ 1 ไปยังทุกตลาด การส่งออกไปชิลีขยายตัว 780% ไปเปรูขยายตัว 418% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 115% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 77% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 60% ไปเปรูขยายตัว 43% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 18% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 23% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 218% ไปเปรูขยายตัว 56% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 55% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 67% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 147% ไปเปรูขยายตัว 231% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 166% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 28% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 52% ไปเปรูขยายตัว 63% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 51% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 19% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 19% ไปเปรูขยายตัว 103% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 3% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 22% เม็ดพลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 418% ไปโคลัมเบียขยายตัว 78% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 261% ไปเปรูขยายตัว 351% ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 94% ไปโคลัมเบียขยายตัว 24% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 24% ไปเปรูขยายตัว 8% ปูนซีเมนต์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 23% ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปโคลัมเบียลดลง -12% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 71% ไปเปรูขยายตัว 321% (- = ลดลง หรือ หดตัว)

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 หลังจากที่การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ซึ่งมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงต้นปี เมื่อ Momentum อ่อนตัวลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัว การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวรายการสำคัญๆ รวมทั้งสินค้าในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ จึงค่อยๆชะลอตัวลง ตามที่สำนักงานฯได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ยกเว้นสินค้ารายการปูนซีเมนต์ในตลาดชิลียังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากชิลียังคงมีความต้องการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อใช้ในการบูรณะฟื้นฟูประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตามที่สำนักงานฯ ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว สินค้ารายการเม็ดพลาสติกซึ่งตลาดเปรูกำลังมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อขยายการผลิตสินค้าที่ใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัสดุในการผลิตในประเทศเปรู อย่างต่อเนื่อง และสินค้าอาหารทะเลกระป๋องซึ่งตลาดชิลีมีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมเชิญคณะผู้แทนการค้าระดับ VIP จากชิลีเป็นจำนวนกว่าสิบรายมาเยือนงาน Thaifex 2010 ยังผลให้การนำเข้าจากไทยขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดเงินของชิลีอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 480 เปโซของชิลี อ่อนตัวลงจาก 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 483.3 เปโซชิลี ในวันที่ 31 มกราคม 2554 ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาก เนื่องจากการแทรกแซงดังกล่าวยังไม่ถึงกับจะทำให้ค่าของเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเช่นในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤติสงครามการเงินของโลก ดังนั้น หากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก วิกฤติการเรื่องการอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังชิลีมากนัก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งตลาดมีความต้องการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารซึ่งชิลีนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าอาหารในตลาดชิลีกำลังสูงขึ้น

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากจนเกินไป และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด การจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย การจัดกิจกรรมผลักดันส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาด ได้แก่ การจัด In-coming Mission และ Out-going Mission ในกลุ่มสินค้าอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ไปเจาะและขยายตลาดละตินอเมริกา

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ได้แก่

2.5.1 ชิลียืดเวลาแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อทำให้เงินตราสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าลงต่อไป

ธนาคารกลางชิลี ประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ว่า ธนาคารกลาง จะยังคงดำเนินการตามแผนการใช้เงินสำรองเป็นเงินเปโซชิลีซึ่งมีมูลค่าประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศภายในประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปในช่วงระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ — 8 มีนาคม 2554 เพื่อทำให้ค่าของเงินเปโซชิลีอ่อนค่าลงจากปกติ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จักได้นำเงินตราสกุลท้องถิ่นเข้ามาช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐออกไปจากตลาดวันละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวัน เพื่อนำเข้าไปเก็บไว้เป็นเงินสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ชิลีมีเงินสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 17 ของ GDP

เป้าหมายสำคัญในการแทรกแซงดังกล่าวคือ เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้และเยื่อไม้ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ในเรื่องความคุ้มทุนและความสามารถทางการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี วงการที่เกี่ยวข้อง คาดว่า ในอนาคตต่อไปธนาคารกลางชิลี อาจจะเพิ่มวงเงินช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐ เป็นวันละ 75 — 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการแทรกแซงในปัจจุบัน ยังไม่เป็นผลมากนัก เพราะราคาทองแดงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของชิลี ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดเวลา และมีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศมาก ซึ่งฉุดให้อัตราดอกเบี้ยในชิลีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เงินเปโซชิลียังคงแข็งค่ามาก

2.5.2 ราคาอาหารในชิลีจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2011

ธนาคารกลางของชิลี คาดการณ์ว่า รายจ่ายค่าอาหารในส่วนครัวเรือนของชิลีในปี 2011 จะสูงขึ้นจากปี 2010 อย่างน้อยร้อยละ 5 และอาจสูงขึ้นได้ถึงร้อยละ 10 โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ น้ำตาล ข้าวโพด ผัก ผลไม้ และข้าวเจ้า

ปัจจุบัน รายจ่ายเป็นค่าอาหารคิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในชิลี ซึ่งเป็นที่คาดว่า ในปี 2011 ครัวเรือนในชิลีขนาด 4 คน จะต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้นเดือนละ 24 — 48 เหรียญสหรัฐ

Antonio Walker ประธาน Chile’s National Fruit Producers’ Federation คาดการณ์ว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นสืบเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรภายในประเทศ อันเป็นผลมาจากสภาพความแห้งแล้งทางภูมิอากาศ ยังผลให้ผลผลิตในประเทศลดลง โดยในบางภูมิภาคของประเทศมีผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 10 — 50 และนอกจากนี้ ระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกก็สูงขึ้นหลายรายการ ได้แก่ ข้าวสาลี น้ำตาล ข้าวโพด และข้าวเจ้า เนื่องจากมีอุปสงค์ในตลาดจีนและอินเดียเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ผลผลิตทางการเกษตรของโลกลดลง

Fernando de la Fuente ประธาน Chilean Cuisine Association คาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าว จะกระทบให้ระดับราคาอาหารที่จำหน่ายในตามภัตตาคารต่างๆ ในชิลี ในปี 2011 จะต้องปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2010 อีกประมาณร้อยละ 8 — 12 โดยภัตตาคารต่างๆ จะต้องลดรายการอาหารในเมนูลง และเน้นให้บริการเฉพาะรายการอาหารที่เป็นที่นิยมไม่กี่รายการ เพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ดี ทางสมาคมคาดการณ์ว่า ในปี 2011 ยอดขายของภัตตาคารร้านอาหารต่างๆในชิลี จะขยายตัวขึ้นจากปี 2010 อีกร้อยละ 3.4

ทั้งนี้ สำนักงานฯ เห็นว่าปรากฎการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยขยายตัวมากขึ้น และข้อมูลดังกล่าวจักเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยไปสู่ตลาดนี้ และผู้ที่สนใจจักไปดำเนินธุรกิจบริการร้านอาหารในชิลี

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 ก.พ. 54 (ไม่รวมงานด้านบุคลากร งานการเงิน ของสำนักงานฯ)

1. ขออนุมัติกรมฯ จัดคณะผู้แทนการค้าระดับ VIP จากชิลี จำนวน 17 ราย เดินทางมาเยือนงานแสดงสินค้า 47th Bangkok Gems & Jewelry Fair

2. ประสานงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการต้อนรับคณะผู้แทนระดับสูงนำโดยฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2554

3. ประสานงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ในการจัดทำนัดหมายขอเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชิลี (รับผิดชอบด้านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี) และรัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู ตามลำดับ ให้คณะผู้แทนระดับสูงภาครัฐและเอกชนของไทยนำโดย ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2554 รวมทั้งประสานงานเตรียมการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจให้คณะภาคเอกชน

4. ประสานงานกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เรื่องการนัดหมายเยี่ยมคารวะและหารือกับ Undersecretary of Foreign Affairs ของชิลี

5. ประสานงานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเรื่อง คณะผู้แทนระดับสูงนำโดยฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2554 ขอเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไป

6. ประสานงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ในการแจ้งเรื่องคณะผู้แทนระดับสูงนำโดยฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2554 ขอเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปก่อน เพื่อยกเลิกการนัดหมายขอเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชิลี (รับผิดชอบด้านการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศ) และรัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู ตามลำดับ

7. เข้าร่วมกิจกรรมจัดสาธิตการประกอบอาหารไทยและเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานเลี้ยงรับรองพบปะนักธุรกิจ สมาคมการค้าภาคเอกชน และบุคคลสำคัญภาครัฐ เทศบาลท้องถิ่น ของนครบัลปาไรย์โซ และนครบิญา เดล มาร์ ที่ภัตตาคาร Gusta ที่นครบิญา เดล มาร์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553

8. เดินทางไปเยี่ยมพบผู้นำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยรายสำคัญ คือบริษัท E. Kovacs ที่นครบิญา เดล มาร์

9. จับคู่เจรจาธุรกิจให้นักธุรกิจผู้นำเข้ายางรถยนต์ในชิลี รายบริษัท Hertz Chile ให้ติดต่อเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ส่งออกไทย 3 ราย คือ Vee Rubber Co., Ltd.; V.S. Industry Tyres Co., Ltd. และ Deestone Ltd.

10. จัดส่งรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ระหว่างวันที่ 1 — 15 กุมภาพันธ์ 2554

11. ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก ในการติดต่อขอร่างสนธิสัญญาความตกลงการค้าเสรีที่ชิลีกระทำกับต่างประเทศ ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อใช้ศึกษาเป็นแนวทางการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีของฝ่ายไทยกับชิลี

12. ประสานงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการประทับตราวีซ่าให้นักธุรกิจที่จะเดินทางไปเยือนงานแสดงสินค้า 47th Bangkok Gems & Jewelry Fair

13. ให้บริการนักธุรกิจชิลีที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้า สินค้า ปูนซีเมนต์

14. ให้บริการนักธุรกิจไทยที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้า สินค้าเครื่องประดับเงิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ