“Street Fashion” ในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 24, 2011 14:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ชาวญี่ปุ่นมีสัมผัสของแฟชั่นสูง และแม้ว่าญี่ปุ่นจะรับเอาแฟชั่นของยุโรป อเมริกา เข้าไปจำนวนมาก แต่ญี่ปุ่นก็จะมีความเป็นตัวตนที่แสดงออกด้วยสไตล์แบบญี่ปุ่นสูง มีแทรนด์แฟชั่นของตนเอง บริษัทผู้ผลิตสินค้าแบรนด์รายใหญ่ๆของโลก แม้แต่ Louis Vuitton, Gucci และยี่ห้อดังอื่นๆ ยังยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว ถึงกับยินยอมผลิตสินค้าที่นำเอาความเป็นญี่ปุ่นแทรกเข้าไปในดีไซด์เพื่อเอาใจผู้ซื้อในตลาดนี้ เช่น เพ้นท์ลายดอกซากุระบนกระเป๋าสำหรับคอลเล็คชั้นฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นก็มีดีไซดืใหม่ๆ ที่มีความเป็นญี่ปุ่นออกขายเพิ่มขึ้น สินค้าดังกล่าวเป็นจุดขายที่ได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่น และในตลาดเอเชีย

ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการมีเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ผู้บริโภคญี่ปุ่นจึงเพลิดเพลินและสนุกกับการเลือกสไตล์ที่ตนเองชอบ ขณะที่ผู้ขายก็สนุกกับการสร้างสรรค์เทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ และสร้างสไตล์เพื่อเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละแหล่ง เช่น Shibuya style, Harajuku style, Shinjuku, Akihabara, Roppongi ซึ่งพัฒนาจากการเป็นแหล่งรวมของร้านค้า และห้องเสื้อเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าแฟชั่นเฉพาะกลุ่มสร้างเทรนด์และสไตล์ของตนเอง ที่เรียกกันว่า “Street Fashion” คำว่า Street Fashion จึงเกิดจากการผสมผสานแนวคิดของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเข้าด้วยกัน ผู้ขายจะศึกษาเทรนด์ของผู้ซื้อว่าเปลี่ยนไปทิศทางไหน ต้องการอะไร แล้วนำไปพัฒนารูปแบบ ออกเป็นเทรนด์ใหม่ของย่านการค้านั้น ขณะที่ผู้ซื้อก็มามองหาสินค้าใหม่ๆ และปรับสไตล์ของตนให้เข้ากับเทรนด์ที่กำลังนิยม นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ของญี่ปุ่น ถือว่าผู้ซื้อเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างเทรนด์แฟชั่น เพราะสินค้าดียวกัน เมื่อซื้อจากร้านไปแล้ว ก็อาจจะนำไป Mix & Match ตามสไตล์ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ถนนที่เป็นย่านการค้า หรือ ‘Street Fashion’ จึงเป็นแหล่งรวมคนขายและคนซื้อที่ชอบสไตล์คล้ายๆกัน สินค้าที่จำหน่ายในย่านที่เป็น ‘Street Fashion’ จึงถูกเรียกว่าเป็น ‘Real Fashion’ ซึ่งหมายถึง แฟชั่นที่วางขายและสวมใส่กันจริงๆ

การเกิดขึ้นของ Street Fashion นอกจากจะเป็นแหล่งซื้อ-ขายสินค้า ยังเป็นแหล่งรวม ที่เกิดของแฟชั่นใหม่ๆ และเป็นที่ที่นักออกแบบรุ่นใหม่ได้นำสินค้าที่ตนเองพัฒนามาทดลองขาย บางรายประสบความสำเร็จไปสู่การเป็นเจ้าของห้องเสื้อ และนักออกแบบอาชีพ ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ สนุกกับการเป็นผู้นำและติดตามแฟชั่น เมื่อผนวกกับสภาะเศรษฐกิจถดถอยตลาด Street Fashion จึงขยายตัว และเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า ผลที่ตามมา คือ ทำให้เกิดการพัฒนา อย่างไม่หยุดนิ่ง การเกิดของ Street Fashion ยังชักจูงนักท่องเที่ยว ร้านค้าสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ชาวญี่ปุ่นสนุกและเพลิดเพลินกับ Real Fashion การได้เห็นสไตล์ที่หลากหลายจึงกระตุ้นให้มีพัฒนาการใหม่ๆ Street Fashion ในญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว เมื่อประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นที่มีรสนิยมบริโภคสินค้าและบริการตามฤดูกาล Street Fashion จึงมีความเป็น Dynamic คือเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จนถูกเรียกขานด้วยคำที่ให้ภาพแสดงความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ว่า ‘Fast Fashion”

จุดขายสำคัญของสินค้าที่เป็น Street Fashion หรือ Fast Fashion คือ Trendy ราคาไม่แพง มีสไตล์เฉพาะคำอธิบายนี้อาจจะเข้าใจยาก แต่หากศึกษาข้อมูลของย่านแฟชั่นฮาราจุกุ (Harajuku Style) ก็อาจจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น

Harajuku District

ถนนแฟชั่นชื่อดังของญี่ปุ่นที่รู้จักกันดีในกลุ่มชาวต่างชาติว่าเป็นแหล่งรวม Fast Fashion หรือแฟชั่นล่าสุดของกลุ่มวัยรุ่นและเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวที่เมื่อไปถึงญี่ปุ่นแล้วควรต้องไปเยี่ยมชม ตั้งอยู่ในเขตชิบูย่า บริเวณเชื่อมต่อระหว่างถนนเมจิ (Meiji dori) กับ Omotesando Avenue (ปัจจุบันถนนนี้เป็นที่ตั้งของร้านสินค้าแบรนด์ชื่อดังจากทั่วโลกร้านอาหารและแหล่งซื้อสินค้าแฟชั่นล่าสุด คุณภาพดี)

ฮาราจุกุเริ่มพัฒนาขึ้นจากการผสมผสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับอเมริกัน ตั้งแต่ยุค ทศวรรษ ๑๙๖๐ และ ๑๙๗๐ ซึ่งมีชาวอเมริกันอาศัยบริเวณนี้จำนวนมาก ฮาราจุกุ จึงเป็นที่พบกันของวัยรุ่น ที่ต้องการแสดงออกในเชิงศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ อาร์ต รวมไปถึงแฟชั่นเสื้อผ้า เป็นสถานที่ที่กลุ่มคนวัยรุ่นที่นิยมชมชอบสินค้าหรือสไตล์คล้ายกันมาพบสังสรร อัพเดทข้อมูล และเป็นสถานที่ขายศิลปะ ฮาราจุกุเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในทศวรรษ ๑๙๘๐ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นได้เข้ามาสนับสนุน เช่น การประชาสัมพันธ์ถนนแฟชั่นให้เป็นที่รู้จัก การปิดถนนในวันหยุดให้ผู้คนเดินชมเลือกซื้อสินค้าได้สะดวก ถนนบริเวณ Takeshita-dori ของฮาราจุกุจึงพัฒนาเป็นถนนแฟชั่น ประกอบด้วยร้านบูติกเล็กๆ จำนวนมากรู้จักกันทั่วไปว่า Takenoko-zoku (TakenokoTribe) จากนั้นก็พัฒนามาเป็น Harajuku’s Casual Street-Style Fashion ขยายพื้นที่ครอบคลุมบริเวณกว้างขึ้นเรื่อยๆ Harajuku จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของ street fashion ที่ประสบความสำเร็จ

การเป็นเมืองใหญ่และมีย่านธุรกิจมากมายของกรุงโตเกียว ได้สร้างโอกาสให้เกิดย่านแฟชั่นอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น Shibuya style, Akihabara Style ที่ผสมแฟชั่นเข้ากับการพักผ่อน ดนตรี และไลฟ์สไตล์ มีการจัดแฟชั่นโชว์ของแต่ละพื้นที่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ และพัฒนาไปสู่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายขนาดใหญ่ ในลักษณะกิจกรรมบันเทิงและพักผ่อน ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และแพร่กระจายออกไปในต่างประเทศ เช่น Tokyo Girls Collection และ Harajuku Collection

ข้อแนะนำการเข้าตลาดสินค้าแฟชั่นในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่ ที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้แต่ละตลาด ก็มีความเป็นเอกลักษณ์ค่อนข้างสูง สินค้าแบรนด์ราคาแพง สินค้าคุณภาพและราคาปานกลางของห้องเสื้อต่างๆ รวมทั้งสินค้า Street Fashion จึงเติบโตและอยู่ร่วมกันได้ เพราะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน ผู้ค้าใช้กลยุทธ์ไม่เหมือนกันในการเข้าถึงและดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ สิ่งสำคัญที่จะทำให้แฟชั่นไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นได้ คือ การมีสไตล์ที่เป็นของตนเองชัดเจน ชาวญี่ปุ่นมีบ้านขนาดเล็ก เมื่อจะซื้อเสื้อผ้าก็จะคำนึงถึงการนำไปสวมใส่ผสมกับเสื้อผ้าที่มีอยู่ นักออกแบบญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญต่อการ เรื่อง Mix & Match อย่างมาก

อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย แม้จะ ได้พัฒนาจนเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศ แต่ภาพของประเทศไทยก็ยังเป็นแหล่งรับจ้างผลิต เมื่อประกอบกับอุปนิสัยผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มักจะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองรู้จักผู้ซื้อดีกว่าผู้ผลิต จึงพึงพอใจกับการว่าจ้างผลิตตามแบบที่ต้องการ ขณะที่ผู้ขายหรือผู้ส่งออกก็รู้สึกสะดวกเพราะง่ายต่อการผลิต อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยได้รับความสนใจติดตามจากผู้ค้าในญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ยังมีอย่างจำกัดและไม่ชัดเจน แม้กระนั้นก็เริ่มมีการนำเข้าเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายแบรนด์ของไทยเข้าไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งช่องทาง จำหน่ายก็มีทั้งการนำเข้าไปจำหน่ายตามบูติกในห้างสรรพสินค้า และการขายใน Web-Boutique

ญี่ปุ่นมองว่าผู้ผลิตและนักออกแบบไทยมีศักยภาพสูง สร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ และสามารถพัฒนาเป็นผู้สร้างเทรนด์แฟชั่นของภูมิภาคได้และพร้อมจะเข้ามาร่วมมือกับไทยพัฒนาต่อยอด สิ่งที่ควรจะพัฒนาให้มีขึ้นเพื่อไปสู่การ ทำให้ไทยเป็น Trend Setter ได้แก่ การนำ Stylist มืออาชีพเข้ามาร่วมงานด้านการออกแบบ และทำให้ Stylist ให้เป็นสาขาอาชีพหนึ่งในธุรกิจแฟชั่น การนำเสนอแฟชั่นไทยที่แสดงออกถึงจุดเด่นของ Life Style แบบไทยที่เป็นสากล การส่งเสริมอาชีพนักออกแบบ รวมถึง การมีย่านการค้าที่เป็น Street Fashion และการสนับสนุนให้นักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีโอกาสแสดงผลงานโดยร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วม Harajuka Collection หรือ Tokyo Girls Collection (เป็นการจัดแฟชั่นโชว์สินค้าของห้องเสื้อต่างๆ พร้อมกิจกรรมบันเทิง ดนตรี และเปิดขายปลีก ผ่านการขายทางเวปไซด์ และการสางซื้อทางโทรศัพท์มือถือ)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา - 1. Nagoya ‘Tokyo Girls Collection’ set to target cash-flush women; The Daily Yumiuri

shimbun; 29 January 2011.

2. Trendy Harajuku draws crowds : Ground zero for fashion-conscious youths has evolved into

a major tourist destination, The Daily Yumiuri Shimbun, Feb. 1, 201

3. http://www.japaneselifestyle.com.au/tokyo/harajuku_fashion.htm

4. http://www.harajukustyle.net/

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ