รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาค ละตินอเมริกา (16-28 ก.พ. 54)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 12:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ

ชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 16-28 ก.พ. 54

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม 2554 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 105.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 98.68 แต่เป็นการเพิ่มที่ชะลอตัวลงจากการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีมูลค่า 115.34 ล้านเหรียญสหรัฐ

1.2 ทุกตลาดมีสถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม 2554 ที่ชะลอตัวลงจากการส่งออกในช่วงธันวาคม 2553 ดังนี้

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 39.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอตัวลงจากช่วงเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ -5.70
  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 26.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอตัวลงจากช่วงเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ -6.27
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 20.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอตัวลงจากช่วงเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ -0.92
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 19.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอตัวลงจากช่วงเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ -20.23

1.3 ในเดือนมกราคม 2554 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นลำดับ 1 ไปยังทุกตลาด การส่งออกไปชิลีขยายตัวจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 242% ไปเปรูขยายตัว 157% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 99% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 56% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า การส่งออกจากไทยไปชิลีหดตัว -43% ไปเปรูขยายตัว 22% ไปโคลัมเบีย หดตัว -6% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 580% ไปเปรูขยายตัว 55% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 83% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 20% เครื่องยนต์สันดาปภายใน การส่งออกจากไทยไปชิลีหดตัว -29% ไปเปรูขยายตัว 15% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 99% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 113% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 61% ไปเปรูหดตัว -14% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 85% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 54% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ การส่งออกจากไทยไปชิลีหดตัว -3% ไปเปรูขยายตัว 159% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 155% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 95% เม็ดพลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 241% ไปโคลัมเบียขยายตัว 95% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 1,761% ไปเปรูขยายตัว 3,778% ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 147% ไปโคลัมเบียขยายตัว 20% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 35% ผลไม้กระป๋อง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 234% ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ การส่งออกจากไทยไปโคลัมเบียลดลง -24% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 84% ไปเปรูขยายตัว 1% (- = ลดลง หรือ หดตัว)

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 หลังจากที่การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ซึ่งมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงปี 2553 มี Momentum อ่อนตัวลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัว การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวรายการสำคัญๆ รวมทั้งสินค้าในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ จึงค่อยๆชะลอตัวลง ตามที่สำนักงานฯได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ยกเว้นสินค้ารายการเม็ดพลาสติกซึ่งตลาดเปรูกำลังมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อขยายการผลิตสินค้าที่ใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัสดุในการผลิตในประเทศเปรู อย่างต่อเนื่อง และสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและผลไม้กระป๋องซึ่งตลาดชิลีมีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมเชิญคณะผู้แทนการค้าระดับ VIP จากชิลีเป็นจำนวนกว่าสิบรายมาเยือนงาน Thaifex 2010 ยังผลให้การนำเข้าจากไทยขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดเงินของชิลีอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 470 เปโซของชิลี อ่อนตัวลงจาก 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 499 เปโซชิลี ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2554 ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาก ดังนั้น หากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก วิกฤติการเรื่องการอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังชิลีมากนัก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งตลาดมีความต้องการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารซึ่งชิลีนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าอาหารในตลาดชิลีกำลังสูงขึ้น

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากจนเกินไป และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด การจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย การจัดกิจกรรมผลักดันส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาด ได้แก่ การจัด In-coming Mission และ Out-going Mission ในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ไปเจาะและขยายตลาดละตินอเมริกา

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ได้แก่

2.5.1 แม้ว่าธนาคารกลางชิลี จะยังคงดำเนินการตามแผนการใช้เงินสำรองเป็นเงินเปโซชิลีซึ่งมีมูลค่าประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนดึงให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อ 499 เปโซ ในช่วงสัปดาห์แรกที่เข้าแทรกแซง แต่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ปรากฏว่าค่าของเงินเหรียญสหรัฐกลับอ่อนตัวลงไปอีก จนมาอยู่ที่อัตรา 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อ 470 เปโซ ซึ่งสูงงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนก่อนทำการแทรกแซงเพียง 4 เปโซ ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ นักการเงินยังคาดการณ์ว่า ค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐอาจหล่นไปอยู่ในระดับก่อนการแทรกแซงดังกล่าว โดยวิจารณ์ว่าการแทรกแซงของธนาคารกลางไม่ได้ผล แต่ธนาคารกลางได้แย้งว่า หากไม่ทำการแทรกแซงใดๆ ค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐจะยิ่งอ่อนตัวลงไปกว่านี้อีกประมาณ 40-60 เปโซ ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของประเทศเป็นอย่างมาก

2.5.2 ธนาคารกลางชิลีเปิดเผยข้อมูลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ว่า ในปี 2010 จีนได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของชิลี แทนที่สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล สินค้าที่ชิลีนำเข้าจากจีนรายการสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ (สัดส่วนร้อยละ 72 ของการนำเข้าจากทุกแหล่งรวมกัน) เครื่องโทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 57) จอมอนิเตอร์ LCD กล้องถ่ายภาพดิจิตอล เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-28 ก.พ. 54

1. ประสานงานกับส่วนกลาง จัดคณะผู้แทนการค้าระดับ VIP จากชิลี จำนวน 17 ราย เดินทางมาเยือนงานแสดงสินค้า 47th Bangkok Gems & Jewelry Fair

2. จัดหาข้อมูลประกอบการดำเนินการโครงการคณะผู้แทนการค้าสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนกส์ อาหาร อาหารสัตว์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เยือนลาตินอเมริกา ให้สำนักส่งเสริมสินค้าส่งออก

3. จัดทำรายงานข้อมูลสถานการณ์การค้าในภาพรวมกลุ่มสินค้าสำคัญ 10 รายงาน ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 รายงานประธานกลุ่มสินค้า

4. รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริกา ระหว่างวันที่ 16-28 กุมภาพันธ์ 2554

5. ประสานงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เรื่องกำหนดการของนาย Jorge Bunster, Vice Minister for Commerce of the Republic of Chile ในการขอเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

6. ประสานงานสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เรื่องการเทียบตำแหน่งของนาย Jorge Bunster, Vice Minister for Commerce of the Republic of Chile และผู้แทนระดับสูงของชิลี ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ไทย —ชิลี เพื่อแจ้งให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศทราบและพิจารณาใช้ประกอบการประสานงานในการเจรจาระหว่างกันต่อไป

7. จัดทำนัดหมายการเจรจาธุรกิจให้ผู้แทนการค้าไทย รายบริษัท Thai Nippon Rubber Co., Ltd. ที่จะเดินทางไปเจรจาเจาะขยายตลาดถุงยางอนามัย ในตลาดชิลี เปรู และเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นตลาดดูแลของสำนักงานฯ

8. ให้บริการนักธุรกิจชิลีที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้า สินค้า Moulding

9. ให้บริการนักธุรกิจไทยที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้า สินค้าปลาแมคเคอเรลกระป๋อง

10. แสวงหาลูกค้าใหม่สินค้าถุงยางอนามัย 9 ราย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ