ตลาดสินค้าอินทรีย์ (organic) ในสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 14:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาวะการณ์ทั่วไปของตลาดสินค้าอินทรีย์สหรัฐ

ในปี 2010 องค์กร Organic Trade Association ได้ทำการสำรวจอุตสาหกรรม organic ของสหรัฐในปี 2009 พบว่า ตลาดสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯมีมูลค่าประมาณ 26.6 พันล้านเหรียญฯ ขยายตัวจากปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 5.3 แบ่งแยกออกเป็น

1. ตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์สหรัฐฯมีมูลค่าประมาณ 24.8 พันล้านเหรียญฯ อัตราขยายตัวร้อยละ 5.1 (อัตราการขยายตัวในปี 2008 ร้อยละ 15.8) ตลาดที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในกลุ่มนี้คือ ตลาดผักและผลไม้อินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 9.5 พันล้านเหรียญฯ อัตราขยายตัวร้อยละ 11.4

2. ตลาดสินค้าอินทรีย์ที่ไม่ใช่สินค้าอาหารมีมูลค่าประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญฯ อัตราขยายตัวร้อยละ 9.1 (อัตราการขยายตัวในปี 2008 ร้อยละ 39.4) แบ่งออกเป็น

2.1 ตลาดอาหารเสริมอินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 634 ล้านเหรียญฯ

2.2 ตลาดสิ่งทออินทรีย์ที่รวมถึงผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า ที่นอน และสิ่งทออื่นๆ

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 2002 เมื่อสหรัฐฯออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ ตลาดสินค้าอินทรีย์มีการเติบโตในระดับสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของสินค้าปกติทั่วไป มีผู้วิเคราะห์ว่า เงื่อนไขที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดอินทรีย์ในสหรัฐฯ คือ ( Vreeland, Curtis "Back in the race")

1. การเข้าสู่ตลาด mainstream ของสินค้าอินทรีย์

2. ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าอินทรีย์มีส่วนผสมอาหารที่ปลอดภัย

3. อำนาจการซื้อของคนรุ่นใหม่

4. ทัศนคติและค่านิยมเรื่อง eco-friendly ของผู้บริโภคสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดีในปี 2008 เมื่อเป็นที่ปรากฎชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในสภาวะการณ์ตกต่ำอย่างรุนแรง ตลาดสินค้าอินทรีย์เริ่มได้รับผลกระทบ เมื่อสิ้นปี 2009 ระดับอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าอินทรีย์ในสหรัฐฯลดลง จากการศึกษาและวิจัยของหน่วย งาน Economic Research Services (ERS) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯยืนยันว่า สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯมีกระทบต่อโอกาสการเติบโตของผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์อย่างมาก เนื่องจากสินค้าอินทรีย์เป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไปค่อนข้างมาก ผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์ที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคอย่างจริงจังส่วนหนึ่งอาจจะยังคงไม่เปลี่ยนอุปนิสัยการซื้อและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ แต่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าทั่วไปที่มีราคาถูกกว่าหรือเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าอินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักกันดีแพร่หลายมาเป็นการซื้อสินค้าอินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อส่วนตัวของร้านค้าปลีกต่างๆ (private brand) ซึ่งมีราคาถูกกว่าแทนที่ ในขณะที่ผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์เป็นครั้งคราวจะจำกัดและลดการบริโภคลง

ตลาดอาหารอินทรีย์สหรัฐฯ

ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารอินทรีย์ในสหรัฐฯขยายตัวอย่างรวดเร็วจากยอดจำหน่าย 3.6 พันล้านเหรียญฯในปี 1977 เป็น 24.8 พันล้านเหรียญฯในปี 2009 หรือมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2008 ร้อยละ 5.1 (อัตราขยายตัวในปี 2008/2007 ร้อยละ 15.8) มีประมาณการณ์ว่ายอดการจำหน่ายในปี 2010 จะเท่ากับ 25 พันล้านเหรียญฯ

เกินกว่าร้อยละ 90 ของยอดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์รวมทั้งสิ้นเป็นยอดจำหน่ายสินค้าอาหารอินทรีย์ มีประมาณการณ์ว่ายอดจำหน่ายอาหารอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของยอดจำหน่ายสินค้าอาหารรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ อาหารอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดคือกลุ่มผักและผลไม้สดอินทรีย์ อย่างไรก็ดีผักอินทรีย์ได้รับความนิยมบริโภคน้อยกว่าผลไม้สดอินทรีย์ กลุ่มผักและผลไม้อินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 11.4 ของยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้นของสินค้าผักและผลไม้ในตลาดสหรัฐฯ

สัดส่วนร้อยละโดยประมาณของตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์

          1. ผักและผลไม้อินทรีย์                                     ร้อยละ 38
          2. อาหารและเครื่องดื่มประเภทนมเนยอินทรีย์                    ร้อยละ 15
          3.   อาหารที่ผ่านขบวนการผลิตแล้ว/ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์อินทรีย์         ร้อยละ 14
          4.   เครื่องดื่มอินทรีย์                                     ร้อยละ 13
          5.   อาหารประเภทขนมปังและธัญญพืชอินทรีย์                    ร้อยละ 11
          6.   อาหารประเภทของว่าง (snack foods) อินทรีย์            ร้อยละ 5
          7.   อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก และปลา อินทรีย์          ร้อยละ 2

8. อาหารประเภทเครื่องปรุงแต่งรสชาติ เครื่องเคียงอินทรีย์ ร้อยละ 2

จากการสำรวจของ The Hartman Group พบว่าสัดส่วนของการบริโภคอาหารในปี 2008 คือ

          1.  บริโภคอาหารอินทรีย์เป็นครั้งคราวเป็นอย่างน้อย               ร้อยละ 69 ของผู้บริโภครวมทั้งสิ้น
          2.  บริโภคอาหารอินทรีย์เป็นประจำทุกสัปดาห์                    ร้อยละ 19 ของผู้บริโภครวมทั้งสิ้น

อาหารอินทรีย์มีราคาสูงกว่าอาหารปกติทั่วไป ราคาเป็นอุปสรรคสำคัญสูงสุดของการขยายตัวของตลาดอาหารอินทรีย์สำเร็จรูปแต่ไม่เป็นอุปสรรคในการขยายตัวของตลาดอาหารสดที่เป็นอินทรีย์และอาหารอินทรีย์สำหรับเด็ก ตลาดเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายที่เป็นอินทรีย์ (body care)

นอกเหนือไปจากเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายที่เป็นสูตรปกติแล้ว ตลาดสหรัฐฯยังมีสินค้าเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่เป็นแบบธรรมชาติ (natural) และที่เป็นแบบอินทรีย์ (organic) วางขายเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันไม่มีตัวเลขมูลค่าตลาดเฉพาะสินค้าที่เป็นสินค้าอินทรีย์ มีแต่ประมาณการณ์ว่า ในปี 2007 ตลาดเครื่องสำอางค์สหรัฐฯทั้งที่เป็นแบบอินทรีย์และที่เป็นแบบธรรมชาติของสหรัฐฯมีมูลค่ารวมกันประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญฯ โดยแยกเป็นตลาดเครื่องสำอางค์ประมาณ 318 ล้านเหรียญฯ และตลาดตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายเท่ากับ 4.5 พันล้านเหรียญฯ

สหรัฐฯไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในเรื่องความเป็นอินทรีย์ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกาย สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯจำนวนมากมีการกล่าวอ้างว่าเป็นอินทรีย์ มีประมาณการณ์ว่าร้อยละ 5 ของเครื่องสำอางค์อินทรีย์ที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯมีประกาศนียบัตรรับรองการเป็นอินทรีย์จากสถาบันที่ออกใบรับรองในสหรัฐฯสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ที่เหลือเป็นสินค้าที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ที่แท้จริงและเชื่อถือได้

ลักษณะการบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายในสหรัฐฯอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินค้าที่เป็นอินทรีย์เนื่องจากผู้บริโภคสหรัฐฯให้ความสนใจในปฏิบัติการของสินค้ามากกว่าความเป็นอินทรีย์ซึ่งเป็นเครื่องระบุความปลอดภัยของสินค้า ยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นที่คุ้นเคยยังคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคสินค้า และผู้บริโภคสหรัฐฯส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าเครื่องสำอางค์ที่เป็นธรรมชาติ - natural products (ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี)และสินค้าเครื่องสำอางค์ที่เป็นอินทรีย์ - organic products (ผลิตจากส่วนผสมที่มาจากการเกษตรอินทรีย์)

ในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯที่บริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่เป็นอินทรีย์ อย่างจริงจังและผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์จะให้ความสนใจบริโภคเฉพาะสินค้าที่มีตราประทับ USDA Organic ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เท่านั้น ตลาดผลิตภัณฑ์สิ่งทออินทรีย์

ข้อมูลล่าสุดในปี 2006 ระบุมูลค่าตลาดเส้นใยลินินอินทรีย์และเสื้อผ้าสำเร็จรูปสหรัฐฯว่าเท่ากับประมาณ 203 ล้านเหรียญฯ เฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปอย่างเดียวประมาณ 128 ล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 36 หรือ 57 ล้านเหรียญฯเป็นเสื้อผ้าสตรี

วัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทออินทรีย์คือฝ้าย พื้นที่เพาะปลูกฝ้ายอินทรีย์ของสหรัฐฯในปี 2010 เท่ากับประมาณ 11,827 เอเคอร์ เปรียบเทียบกับในปี 2009 ที่มีพื้นที่เท่ากับประมาณ 10,731 เอเคอร์ (ปี 2009 เพิ่มขึ้นจากปี 2008 ร้อยละ 26) นับเป็นจำนวนพื้นที่การเกษตรฝ้ายอินทรีย์ที่สูงสุดเท่าที่สหรัฐฯเคยมีต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2006 รัฐที่เป็นแหล่งเกษตรฝ้ายอินทรีย์ที่สำคัญของสหรัฐฯคือแคลิฟอร์เนีย นิวเม็กซิโก และเท็กซัส พื้นที่เพาะ ปลูกฝ้ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีแม้กระทั่งในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในสหรัฐฯเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและโอกาสของตลาดสิ่งทออินทรีย์

มูลค่าตลาดเส้นใยอินทรีย์ของสหรัฐฯในปี 2009 เท่ากับประมาณ 521 ล้านเหรียญฯ เส้นใยฝ้ายอินทรีย์ ถูกนำไปใช้ในการผลิตสินค้าสิ่งทออินทรีย์หลากหลายชนิดรวมถึงสิ่งทอในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูป และแม้กระทั่งเครื่องเขียน ตลาดผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นำโดยตลาดเสื้อผ้าสตรี และตลาดผลิตภัณฑ์สิ่งทออินทรีย์ที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุดมาโดยตลอดคือตลาดผลิตภัณฑ์สิ่งทอในครัวเรือน

บริษัทธุรกิจสหรัฐฯที่ทำการค้าสินค้าที่ทำจากฝ้ายอินทรีย์มากที่สุดคือเรียงตามลำดับมูลค่าการจำหน่ายในปี 2009 คือ (1) บริษัท Nike, Inc. (2) บริษัท Walmat/Sam's Club (3) บริษัท William-Sonoma, Inc., (4) บริษัท Anvil Knitwear (5) บริษัท Greensource Organic Clothing Co., (6) บริษัท Levi Strauss & Co, (7) บริษัท Target และ (8) บริษัท Nordstrom ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหารอินทรีย์

มูลค่าตลาดอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงของสหรัฐฯในปี 2009 เท่ากับ 84 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2008 ในอัตราร้อยละ 10 และเป็นอัตราการขยายตัว 10 เท่าจากมูลค่าตลาดในปี 2002 อัตราการขยายตัวของตลาดอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าอินทรีย์สำหรับมนุษย์ ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของตลาดก็คือเหตุการณ์ปนเปื้อนสกปรกของอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าจากจีนในปี 2007 ที่ส่งผลให้มีสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตจำนวนมากและทำให้สหรัฐฯสั่งเรียกเก็บสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงออกจากตลาดเป็นจำนวนมาก การขยายตัวของตลาดส่งผลทำให้ปัจจุบันสินค้าอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงมีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในตลาดทั่วไป (mass market)

อย่างไรก็ดีตลาดอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงของสหรัฐฯยังมีขนาดเล็กมากไม่ถึงร้อยละ 1 ของตลาดอาหารสัตว์รวมทั้งสิ้น สาเหตุประการหนึ่งคาดการณ์ว่าเป็นเพราะเงื่อนไขเรื่องราคาสินค้า มีประมาณการณ์ว่าราคาอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงสูงกว่าอาหารสัตว์ทั่วไปร้อยละ 30 ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะรักสัตว์เลี้ยงมากเพียงใดก็ตาม ราคายังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุดที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ซื้อสินค้าอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยง

ลักษณะผู้บริโภคและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ

หลายๆองค์กรในสหรัฐฯพยายามทำการสำรวจลักษณะผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์และได้ผลลัพท์ที่แตกต่างกันออกไป สรุปได้ดังนี้

1. จากการสำรวจของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯพบว่าตัวแปรที่มีความสำคัญสูงสุดมาโดยตลอดและที่มีอิทธิพลสูงสุดในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอาหารอินทรีย์คือระดับการศึกษา และผู้บริโภคสหรัฐฯที่มีการศึกษาสูงมากๆ (postgraduate education) มีแนวโน้มสูงสุดที่จะบริโภคสินค้าอินทรีย์ ในขณะที่ผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำลงมามีแนวโน้มลดลงที่จะบริโภคสินค้าอินทรีย์

2. ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มที่รับประทานอาหารอินทรีย์อย่างจริงจังมากๆมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารอินทรีย์ที่เป็นอาหารสำเร็จรูปหรือที่ผ่านเข้าขบวนการผลิตแล้ว

3. ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์ในสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะหันไปซื้อสินค้าอินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้ด้วยเหตุผลเรื่องราคาเป็นสำคัญ

4. คนอเมริกันเชื้อสายเอเซียและฮิสแปนิกมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะซื้อและบริโภคสินค้าอินทรีย์

5. คนอเมริกันผิวดำและคนอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอินทรีย์ (organic lifestyle) มากที่สุด

6. คนอเมริกันผิวดำและผู้บริโภคสหรัฐฯที่มีอายุเกินกว่า 50 ปีมีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะบริโภคผักอินทรีย์

7. ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอินทรีย์อยู่บ่อยๆมีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่า 50,000 เหรียญฯต่อปี (สถิติในปี 2004 ซึ่งถือได้ว่ารายได้ในระดับนั้นเป็นรายได้ผู้บริโภคชั้นกลางระดับต่ำ)

ช่องทางการจำหน่าย

รายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯระบุว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการบริโภคสินค้าอินทรีย์ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการกระจายสินค้าอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ ในระยะเริ่มแรกของการเข้าสู่ตลาดการบริโภค สินค้าอินทรีย์จะมีวางขายปลีกเฉพาะในตลาดที่เป็น specialty stores ประเภท natural foods stores ความนิยมบริโภคที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลทำให้สินค้าอินทรีย์กระจายเข้าสู่ตลาดการบริโภคทั่วไป (mass market) มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีรายงานว่ากว่าครึ่งหนึ่งของยอดการจำหน่ายอาหารอินทรีย์ในปี 2008 เกิดขึ้นในตลาดการบริโภคทั่วไปเช่น supermarket chains, club stores และ discount stores

1. Organic handlers

ในตลาดสินค้าอินทรีย์สหรัฐฯจะมีกลุ่มธุรกิจพิเศษที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก กลุ่มธุรกิจนี้เรียกว่า "organic handler" ซึ่งได้แก่ธุรกิจต่างๆในระบบ supply chain ที่อยู่ตรงกลางระหว่างเกษตรกรและผู้ค้าปลีก ผู้ซื้อที่เป็นร้านอาหารหรือที่เป็นสถาบัน ดังนั้น organic handler ในที่นี้อาจจะเป็นได้ทั้งผู้ค้าส่ง ผู้กระจายสินค้า หรือผู้ผลิตสินค้า

Organic handlers จะซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากเกษตรกรและจากแหล่งซัพพลายต่างๆ แล้วนำสินค้าไปจัดการหรือทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้เกิดเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มก่อนส่งขายต่อให้แก่ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้กระจายสินค้า สถาบัน organic handlers รายอื่นๆ หรือส่งโดยตรงให้แก่ผู้บริโภคหรือร้านอาหาร

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่าในปี 2007 ประมาณร้อยละ 43 ของธุรกิจที่เป็น organic handlers ผลิตสินค้าอินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อส่วนตัว และยอดขายสินค้าอินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 19 ของยอดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ยรวมทั้งสิ้นของธุรกิจ organic handlers

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานสัดส่วนร้อยละของช่องทางการจำหน่ายสินค้าของ organic handlers ในปี 2007 ไว้ดังนี้

          1.  ผู้ค้าส่ง โปรกเกอร์ ผู้กระจายสินค้า และผู้ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่             ร้อยละ 32
          2.  โรงงานผลิต (manufacturers & processors)                  ร้อยละ 15
          3.  ตลาดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็น chain stores                      ร้อยละ 10
          4.  ตลาดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นของส่วนบุคคล                         ร้อยละ 9
          5.  ตลาดประเภทขายให้เฉพาะสมาชิก                               ร้อยละ 7
          6.  ตลาดอื่นๆ                                                 ร้อยละ 6
          7.  ขายตรง                                                  ร้อยละ 4
          8.  ขายให้แก่สถาบัน                                            ร้อยละ 2
          9.  ขายให้แก่เกษตรผู้ผลิตสินค้า                                    ร้อยละ 1

เมื่อความนิยมบริโภคสินค้าอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ organic handlers ในตลาด สหรัฐฯได้ลดความสำคัญของคนกลางซึ่งได้แก่ผู้ค้าและผู้กระจายสินค้าลงโดยการลดการขายให้แก่ธุรกิจคนกลางและจัดส่งสินค้าโดยตรงเข้าสู่ตลาดค้าปลีกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

2. ตลาดค้าปลีก

มีประมาณการณ์ว่าร้อยละ 54 ของยอดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์มาจากช่องทางจำหน่ายปลีกที่ผู้บริโภคสหรัฐฯส่วนใหญ่ใช้ซื้อหาสินค้าหรือ mass market ร้อยละ 38 มาจากช่องทางจำหน่ายที่เป็นตลาดพิเศษเน้นเฉพาะสินค้าธรรมชาติหรือ natural market ที่เหลือเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นคือ ตลาดนัดที่เป็น "farmers' markets" ที่เน้นขายสินค้าที่ผลิตภายในท้องถิ่น การขายตรงผ่านทางระบบ อินเตอร์เน็ท และการขายส่งออก

ปัจจุบันตลาดค้าปลีกปกติทั่วไปในสหรัฐฯที่เป็น mass market วางจำหน่ายสินค้าอินทรีย์เพิ่ม มากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2007 ร้อยละ 82 ของตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารทั่วไปมีสินค้าอินทรีย์วางจำหน่าย (Food Marketing Institute, 2008) นอกจากการวางจำหน่ายสินค้าอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นแล้ว ร้านค้าปลีกทั่วไปหลายๆร้านยังทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อของตนเอง มีรายงานว่าในปี 2008 สินค้าอินทรีย์ที่เป็นยี่ห้อส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 17.4 ของสินค้าอินทรีย์รวมทั้งสิ้นที่วางตลาดสหรัฐฯในปีดังกล่าว นอกจากนี้ร้านค้าปลีกยังรับผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่มาจากโรงงานผลิตสินค้าทั่วไปวางจำหน่ายมากขึ้นเพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์อินทรีย์ยี่ห้อดั่งเดิมในตลาด

ในปี 2007 มีสินค้าอินทรีย์ใหม่ๆออกสู่ตลาดประมาณ 1,107 รายการและส่วนใหญ่เป็นสินค้า เครื่องดี่ม อาหารที่ผ่านการเตรียมการมาแล้วและอาหารประเภทของทานเล่น ในปี 2008 เมื่อสหรัฐฯเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเต็มตัว จำนวนสินค้าอินทรีย์ใหม่ๆออกสู่ตลาดลดลงเหลือ 1,030 รายการ สินค้าเครื่องดื่มและสินค้าอาหารที่ผ่านการเตรียม การมาแล้วยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสินค้าใหม่ๆออกสู่ตลาดมากที่สุด

การผลิตสินค้าอินทรีย์ภายในประเทศสหรัฐฯ

1.การเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ

ในระยะเริ่มแรกที่ความต้องการบริโภคมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯเนื่องจากการเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากและทันกับความต้องการบริโภค เกษตรกรสหรัฐฯส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธที่จะเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรของตนเข้าสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดการบริโภค เกษตรกรสหรัฐฯที่ยอมเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรเข้าสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกวางจำหน่ายได้อย่างเต็มที่ ในระยะเวลา 5 ปีนี้ 3 ปีจะหมดไปกับการปรับพื้นผิวดินให้หมดมลภาวะเป็นพิษเพื่อใช้ในการเกษตรอินทรียในการเริ่มต้นการผลิตที่เหลือเป็นเวลาที่รอผลผลิตจนกว่าจะได้จำนวนที่มากพอและคุณภาพที่ดีพอที่จะส่งเข้าสู่ระบบการค้า

เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรสหรัฐฯให้สามารถเข้าสู่ระบบการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ในปี 2008 สหรัฐฯจึงได้ออกกฎหมาย Food, Conservation and Energy Act (2008 Farm Act) เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินแก่เกษตรกรสหรัฐฯที่ต้องการเปลี่ยนมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ กฎหมายฉบับนี้ส่งผลทำให้การเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่าในปี 2008 สหรัฐฯมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากกว่า 4.8 ล้านเอเคอร์หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของพื้นที่การเกษตรรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ ในจำนวนนี้

  • ประมาณ 2.65 ล้านเอเคอร์เป็นพื้นที่ปลูกพืชผลการเกษตร (ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปลูกผักรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ และร้อยละ 3 ของพื้นที่ปลูกผลไม้รวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯเป็นผลไม้อินทรีย์) พืชเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกมากที่สุดในสหรัฐฯคือแครรอทและผักกาดหอม ร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกแครรอทรวมทั้งสิ้นในสหรัฐฯเป็นแครรอทอินทรีย์ และร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกผักกาดหอมรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯเป็นผักกาดหอมอินทรีย์
  • ประมาณ 2.16 ล้านเอเคอร์เป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์

มลรัฐที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุดคือรัฐแคลิฟอร์เนียประมาณ 4.3 แสนเอเคอร์ส่วนใหญ่ผลิต ผลไม้และผักอินทรีย์ มลรัฐอื่นที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็นจำนวนมากรองจากแคลิฟอร์เนียคือ วิสคอนซิน นอร์ทดาร์โกต้า มินิสโซต้า และมอนตาน่า

2.โรงงานผลิตสินค้าอินทรีย์ในสหรัฐฯ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของการบริโภคส่งผลให้รูปแบบของการผลิตในประเทศสหรัฐฯเปลี่ยน แปลงไป จากเดิมที่โรงงานผลิตเฉพาะสินค้าอินทรีย์ มีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดเล็กทำธุรกิจแข่งขันกับโรงงานผลิตสินค้าอินทรีย์ด้วยกันเอง เปลี่ยนมาเป็นในปัจจุบันจำนวนโรงงานผลิตสินค้าอินทรีย์มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ และโรงงานผลิตสินค้าอินทรีย์ต้องแข่งขันกับโรงงานผลิตสินค้าทั่วไปที่หันทำการผลิตสินค้าอินทรีย์ด้วย

3.อุปทานวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าอินทรีย์ในสหรัฐฯ

การแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในตลาดการผลิตสินค้า ตลาดการค้า และการบริโภคสินค้า อินทรีย์ก่อให้เกิดสภาวะการณ์ตึงตัวจนถึงขั้นขาดแคลนอุปทานวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสม (ingredients) ที่เป็น organic ในตลาดสหรัฐฯ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่าในปี 2007 ร้อยละ 57 ของ organic handlers รายงานว่าประสบปัญหาเรื่องส่วนผสมต่างๆที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าอินทรีย์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 รายงานระดับของการขาดแคลนว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ร้อยละ 16 รายงานระดับของการขาดแคลนว่าไม่รุนแรงนัก

การขาดแคนอุปทานวัตถุดิบการผลิตในตลาดสหรัฐฯส่งผลให้ปัจจุบัน organic handlers ใช้นโยบายในการทำสัญญาจ้างผลิตหรือทำสัญญาในการจัดหาสินค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่ตนต้องการภายในกำหนดเวลา ในปี 2007 ร้อยละ 65 ของการซื้อหาสินค้าอินทรีย์ของ organic handlers อยู่ในรูปของการทำสัญญาทั้งด้วยวาจาและที่เป็นลายลักษณ์อักษร ร้อยละ 29 อยู่ในรูปการซื้อที่เป็น spot markets หรือการเจรจาตกลงซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่อาจจะเป็นผู้ค้าส่งหรือโปรกเกอร์

การค้าระหว่างประเทศสินค้าอินทรีย์

ปัจจุบันสหรัฐฯยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการในเรื่องของการค้าสินค้าอินทรีย์ระหว่างประเทศทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเท่าที่ผ่านมาสหรัฐฯไม่มีระบบรหัสศุลกากรเฉพาะสำหรับสินค้าอินทรีย์ สหรัฐฯเพิ่งจะจัดทำรหัสการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์อินทรีย์บางรายการและเพิ่งจะเริ่มต้นใช้ในเดือนมกราคม 2011

มีประมาณการณ์โดยคร่าวๆว่าในปี 2009 มูลค่าส่งออกสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญฯเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5 และคาดการณ์ว่าจะยังคงมีการขยายตัวของการส่งออกอยู่ต่อไป

ประมาณการณ์คร่าวๆครั้งล่าสุดของการนำเข้าสินค้าอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯเป็นประมาณการณ์ในปี 2002 ระบุมูลค่านำเข้าสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯว่าอยู่ในระหว่าง 1 - 1.5 พันล้านเหรียญฯ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯระบุว่าสินค้านำเข้าหลักในปีดังกล่าวคือผักและผลไม้สด กาแฟ ผลิตภัณฑ์เกษตรจากเมืองร้อน ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่มีการปลูกหรือผลิตในสหรัฐฯ และอาหารหรือส่วนผสมอาหารสำหรับใช้ในการผลิตสินค้าอินทรีย์ แหล่งนำเข้าสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯกระจายอยู่ทั่วโลก

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่าสินค้าอินทรีย์นำเข้ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขยายตัวของตลาดสินค้าอินทรีย์สหรัฐฯ และประมาณการณ์ว่าสินค้านำเข้าคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 12 - 18 ของยอดจำหน่ายปลีกสินค้าอินทรีย์ในปี 2002 ที่มีประมาณการณ์ว่าเท่ากับ 8.6 พันล้านเหรียญฯ การนำเข้าสินค้าอินทรีย์บางรายการจากประเทศบางประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำกว่าสหรัฐฯเกือบจะเข้าไปแทนที่การผลิตสินค้าอินทรีย์รายการนั้นๆในสหรัฐฯ

รหัสศุลกากรสหรัฐฯสำหรับสินค้านำเข้าที่เป็นสินค้าอินทรีย์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2011 คือ

          รหัสศุลกากร                                               คำบรรยายสินค้านำเข้า

HTSUSA

          0709604015           Peppers, Sweet Bell-type (CAPSICUM ANNUM), greenhouse, certified organic,

fresh or chilled-KG

          0709604065           Peppers, Sweet Bell-type (CAPSICUM ANNUM), certified organic, fresh or

chilled, other than greenhouse - KG

          0804400020           Hass Avocados and Avocados Determined by the Secretary Agriculture to be

Hass-like, certified organic, fresh or dried-KG

          0808100045           Apples, certified organic, valued over 22 cents per kilogram, fresh-KG
          0808202015           Pears and Quinces, certified organic, entered during the period from April 1

to June 30, inclusive in any year , fresh- KG

          0808204015           Pears and quinces, certified organic, entered during the period from July 1

of any year to March 31 of the following year, fresh - KG

          081040002            Blueberries, cultivated, certified organic, fresh -KG
          0901110015           Coffee, certified organic, Arabica, not decaffeinated, not roasted - KG
          0901110045           Coffee, certified organic, not Arabica, not decaffeinated, not roasted - KG
          0901120015           Coffee, certified organic, decaffeinated, not roasted - KG
          0901210035           Coffee, certified organic, in retail containers weighting 2 KG or less,

roasted, not decaffeinated - KG

          0901210055           Coffee, certified organic, roasted, not in retail containers weighing 2 KG

or less, not decaffeinated - KG

          0901220035           Coffee, certified organic, in retail containers weighing 2 KG or less,

decaffeinated, roasted -KG

          0902101015           Green tea (not fermented) certified organic, flavored, in immediate packings

of a content not exceeding 3 KG- KG

          9092109015           Green tea (not fermented) certified organic, in immediate packings of a

content not exceeding 3 KG, not flavored- KG

          0902209015           Green tea (not fermented) certified organic, not flavored, not in immediate

packings of a content not exceeding 3 KT -KG

          0902300015           Black tea (fermented) ) and partly fermented tea, certified organic, in tea

bags, in immediate packings of a content not exceeding 3 KG - KG

          1001100025           Durum wheat, certified organic, except seed - KG
          1006309015           Rice, certified organic, semi-milled or wholly milled, whether or not

polished or glazed, other thank parboiled - KG

          1201000045           Soybeans, certified organic, whether or not broken, except seeds of a kind

used for sowing or used as oil stock- KG

หมายเหตุ: คำว่า "certified organic" ในที่นี้หมายถึงผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรสดหรือที่ผ่านการผลิตแล้วที่ได้รับ ประกาศนียบัตรรับรองตามกฎระเบียบของหน่วยงาน National Organic Program ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ ตามกฎระเบียบของหน่วยงาน Canadian Organic Product Regulation ของคานาดา

กฎหมายและกฎระเบียบสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯ

1. หน่วยงานสหรัฐฯที่ควบคุมสินค้าอินทรีย์

สินค้าอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯอยู่ภายใต้การบริหารและควบคุมของหน่วยงาน National Organic Program (NOP) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯหน่วยงานอื่นๆที่รับผิดชอบสินค้านั้นๆควบคู่กันไป เช่น Food and Drug Administration (FDA) เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยงาน NOP จะควบคุมและรับผิดชอบในส่วนที่เป็น "organic" ของสินค้าซึ่งรวมถึงการกำหนดคำจำกัดความและกฎระเบียบการผลิตเฉพาะในส่วนที่เป็น "organic" หน่วยงานอื่นเช่น FDA จะรับผิดชอบในส่วนอื่นๆของสินค้าเฉพาะที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความรับผิดชอบของตนและจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนที่เป็น organic ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดคำจำกัดความหรือกฎระเบียบการผลิตที่จะทำให้สินค้านั้นเป็น "organic" ยกตัวอย่างเช่น

(ก) การทำฉลากสินค้าอาหารอินทรีย์จะต้องทำตามกฎระเบียบของ USFDA ว่าด้วยเรื่องฉลากสินค้าอาหาร และจะต้องทำตามกฎระเบียบของ NOP ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานการปิดฉลากสินค้าอินทรีย์

(ข) ในกรณีของสินค้าเครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกาย FDA ไม่ถือว่าเครื่องสำอางค์ที่เป็น "organic" ความปลอดภัยกว่าเครื่องสำอางค์ทั่วไปที่ไม่ได้เป็น"organic" ดังนั้นเครื่องสำอางค์ที่เป็น "organic" จะต้องมีขบวนการผลิตสินค้าเครื่องสำอางค์ที่เป็นไปตามกฎระเบียบของ FDA และจะต้องมีขบวนการผลิตเครื่องสำอางค์ที่เป็น "organic" ตามกฎระเบียบของหน่วยงาน NOP ด้วยเช่นกัน

(ค) ในกรณีที่ FDA เรียกเก็บสินค้าอินทรีย์ จะเป็นด้วยเหตุผลว่าสินค้ามีการปฏิบัติที่ผิดกฎระเบียบของ FDA เท่านั้นและจะไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ NOP หรือในทางตรงกันข้ามเมื่อ หน่วยงาน NOP เรียกเก็บสินค้าอินทรีย์ ก็จะด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าดังกล่าวมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายสินค้าอินทรีย์เท่านั้น

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่เป็นอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ สินค้านั้นๆจะต้องมีการปลูก การจัดการ การผลิต และการปิดฉลากสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานของหน่วยงาน National Organic Program (NOP) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯเท่านั้น และถ้าการผลิตสินค้าอินทรีย์ในแต่ละปีมีมูลค่าเกินกว่า 5,000 เหรียญฯสถานที่ผลิตสินค้าจะต้องได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเป็นสถานที่ผลิตสินค้าอินทรีย์จากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯด้วยเช่นกัน

2. กฎหมาย Organic Foods Production Act of 1990

สหรัฐฯประกาศใช้กฎหมาย Organic Foods Production Act of 1990 เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการ ควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรบางชนิดว่าเป็นมีการผลิตเป็น "organic" เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ บริโภคว่าผลิตภัณฑ์สินค้า "organic" ที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างมลรัฐ

2.1 กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวอ้างว่าเป็นสินค้าอินทรีย์และการปิดฉลากสินค้าอินทรีย์

สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯที่มีการระบุและการปิดฉลากว่าเป็น "100 percent organic" หรือ "organic" หรือ "made with organic...." จะต้องผ่านการรับรองและมีประกาศนียบัตรรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯหรือจากองค์กรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ตามกฎหมายสหรัฐฯ (โดยย่อๆ) สินค้าที่สามารถปิดฉลากว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ได้จะต้องเป็นสินค้าดังต่อไปนี้คือ

ก. สินค้าที่สามารถปิดฉลากว่าเป็น "100 percent organic " สามารถประทับตรา "USDA Organic" หรือตราจากองค์กรอื่นที่ออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้าอินทรีย์ได้คือ สินค้าที่ 100 percent ของส่วนผสม (คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตรของเหลวที่ไม่รวมน้ำและเกลือ) ของสินค้านั้นๆเป็นการผลิตตามหลัก "organic" ตามกฎหมายของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯที่กำหนดไว้สำหรับสินค้าที่เป็น"100 percent organic"

ข. สินค้าที่สามาถปิดฉลากว่าเป็น "organic " และสามารถประทับตรา "USDA Organic" หรือตราจากองค์กรอื่นที่ออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้าอินทรีย์ได้คือ สินค้าที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของส่วนผสม (คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตรของเหลวที่ไม่รวมน้ำและเกลือ) ของสินค้านั้นๆเป็นการผลิตตามหลักการผลิต "organic" ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯที่กำหนดไว้สำหรับสินค้าที่สามารถปิดฉลากว่าเป็น "organic" ส่วนผสมที่เหลือจะต้องเป็นการผลิตตามหลัก "organic" ด้วยยกเว้นแต่ว่าส่วนผสมเหล่านั้นไม่มีอยู่ในตลาดการค้าในรูปของ "organic" หรือส่วนผสมที่เหลือจะต้องเป็นส่วนผสมที่ไม่ใช่มาจากผลผลิตทางการเกษตร หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่ได้ผลิตตามหลัก "organic"ได้แต่ต้องเป็นส่วนผสมตามที่มีระบุไว้ใน National List (รายชื่อส่วนผสมที่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ)และต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 5 ของส่วนผสมในส่วนที่ไม่เป็นอินทรีย์ และจะต้องไม่มี sulfites ผสมอยู่ด้วย

ค. สินค้าที่สามารถปิดฉลากว่าเป็น "made with organic...(ระบุส่วนผสมหรือกลุ่มอาหารที่มีการผลิตตามหลัก organic ด้วยเช่นกัน)...." สามารถมีตราประทับที่เป็นขององค์กรอื่นที่ออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้าอินทรีย์แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ตรา "USDA Organic" ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯคือ สินค้าที่อย่างน้อยร้อยละ 70 ของส่วนผสม (คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตรของเหลวที่ไม่รวมน้ำและเกลือ) ของสินค้านั้นๆเป็นการผลิตตามหลัก "organic" ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ส่วนผสมที่ตามหลังคำว่า made with organic จะต้องไม่เกิน 3 รายการ หรือกลุ่มอาหารที่ตามหลังคำว่า made with organic จะต้องไม่เกิน 3 รายการเช่นกันและจะต้องมาจากกลุ่มอาหารเหล่านี้เท่านั้น คือ beans, fish, fruits, grains, herbs, meats, nuts, oils, poultry, seeds, spices, sweeteners, vegetables หรือ processed milk products.

ง. สินค้าอื่นๆที่มีส่วนผสมที่เป็น "organic" ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าร้อยละ 70 (คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตรของเหลวที่ไม่รวมน้ำและเกลือ) ไม่สามารถปิดฉลากว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ และไม่สามารถประทับตรารับรองจาก USDA หรือองค์กรอื่นที่ออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้าอินทรีย์ได้ ในการระบุส่วนผสมสินค้าบนฉลาก สามารถระบุว่าส่วนผสมรายการที่เป็นการผลิตแบบอินทรีย์โดยใช้คำว่า "organic" กับส่วนผสมรายการนั้นๆหรือการทำเครื่องหมายดอกจันทร์และมีคำอธิบายข้างล่างข้อความระบุส่วนผสมสินค้า พร้อมกับแสดงจำนวนร้อยละของส่วนผสมที่เป็น "organic" ด้วย

การจำหน่ายหรือปิดฉลากสินค้าว่าเป็น "organic" โดยที่สินค้าดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานกระทรวงเกษตรสหรัฐฯอาจจะมีโทษปรับจนถึง 11,000 เหรียญฯในแต่ละครั้งที่เกิดการฝ่าฝืน

2.2 กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอินทรีย์ที่เป็นสินค้านำเข้า

กฎหมายกำหนดว่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่เป็นสินค้านำเข้าอาจจะวางจำหน่ายในสหรัฐฯหรือปิดฉลากว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ได้ตามกฎหมายสหรัฐฯก็ต่อเมื่อกระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้พิจารณาแล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการผลิตและการจัดการภายใต้โปรแกรมการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ มีการจัดหาการควบคุมที่เป็นด้านการป้องกันและการจัดทำแนวทาง การผลิตและการจัดการสินค้าที่อย่างน้อยก็ต้องเท่าเทียมกันกับที่กฎหมายสหรัฐฯกำหนด ภาระในการแสดงว่าสินค้ามีมาตรฐานเทียบเท่าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯกำหนดเป็นหน้าที่ของประเทศผู้ส่งออก

คำว่า "เท่าเทียมกัน" หมายถึงว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้พิจารณาตัดสินแล้วว่า "ข้อบังคับทางด้านเทคนิค"และ"ระบบการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐาน"ของประเทศผู้ผลิตเท่ากับหรือมากกว่าข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆในกฎหมาย Organic Foods Production Act of 1990 ของสหรัฐฯ

คำว่า "ข้อบังคับทางด้านเทคนิค" ในที่นี้หมายถึงระบบกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ระบุถึงการผลิต การจัดการ และการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอินทรีย์

คำว่า "ระบบการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐาน" ในที่นี้หมายถึงกิจกรรมทุกชนิดที่ภาครัฐบาลกระทำเพื่อเป็นหลักประกันว่าข้อบังคับทางด้านเทคนิคในการผลิต การจัดการและการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์กระทำอย่างสมบูรณ์และอย่างสม่ำเสมอในทุกตัวสินค้า

หน่วยงาน NOP กระทรวงเกษตรสหรัฐฯจะทำการเปรียบเทียบข้อบังคับทางด้านเทคนิคและระบบการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐฯกับของประเทศผู้ผลิตสินค้าเพื่อตัดสินความคล้ายคลึงกันหรือความแตกต่างกันระหว่างสองประเทศ NOP อาจจะขออนุญาตรัฐบาลประเทศผู้ผลิตในการเข้าไปตรวจโรงงานหรือสถานที่ผลิตในประเทศนั้นๆเพื่อรับรองว่าระบบการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานที่รัฐบาลประเทศผู้ผลิตกำหนดไว้นั้นได้มีการปฏิบัติตามจริงเหมือนที่ได้มีการระบุไว้ในเอกสารหรือไม่ ขั้นตอนที่สินค้านำเข้าสามารถปิดฉลากและขายเป็นสินค้า "organic" ในตลาดสหรัฐฯได้มีอยู่ 2 ขั้นตอนหลักคือ

(ก) รัฐบาลประเทศผู้ผลิตอาจจะติดต่อขอคำตัดสินความเท่าเทียมกันของระบบการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานของตนกับของสหรัฐฯได้ที่ USDA-AMS Administrator, 1400 Independence Avenue, SW, Room 2646-S, Stop 0268, Washington, DC 20250, Attn: NOP Equivalence Request (ดูรายละเอียดวิธีการยื่นคำร้องขอคำตัดสิน ข้อมูลต่างๆที่ต้องแจ้งในขณะยื่นคำร้อง และเงื่อนไขต่างๆที่ต้องปฏิบัติในระหว่างการพิจารณาคำร้องและหลังจากได้รับการรับรองจากสหรัฐฯแล้ว ที่ ww.ams.usda.gov/AMSv1.0/getfile?dDocNam...)

(ข) สินค้าอินทรีย์ที่ผลิตและได้รับการรับรองในต่างประเทศว่าเป็นสินค้าอินทรีย์จะขาย ปิดฉลาก หรือวางในตลาดสหรัฐฯในฐานะเป็น "organic" ได้ก็ต่อเมื่อระบบการรับรองสินค้าในประเทศผู้ผลิตเป็นไปตามกฎหมายสหรัฐฯว่าด้วยเรื่องการรับรองสินค้า "organic" (Certified Organic under the US National Organic Program) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯอาจจะให้การรับรององค์กรในประเทศผู้ผลิตที่ทำหน้าที่ออกใบประกาศนียบัตรรับรองสินค้าอินทรีย์ว่ามีการดำเนินงานเป็นไปตามตามแนวทางของ NOP สหรัฐฯ การขอคำรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐสามารถกระทำได้ที่ Administrator; AMS;, 1400 Independence Avenue, SW; Room 2643 South Agriculture Building;, Washington, DC 20250 Attn: NOP Recognition Request (ดูรายละเอียดวิธีการยื่นคำร้องขอคำรับรอง ข้อมูลต่างๆที่ต้องแจ้งในขณะยื่นคำร้อง และเงื่อนไขต่างๆที่ต้องปฏิบัติในระหว่างการพิจารณาคำร้องและหลังจากที่ได้รับการรับรองจากสหรัฐฯแล้วที่ www.ams.usda.gov/AMSv1.0/getfile?dDocNam..)

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้ให้การรับรององค์กรในต่างประเทศเพื่อตรวจออกประกาศนียบัตรอินทรีย์แล้วจำนวน 42 องค์กรใน 22 ประเทศที่ตั้งอยู่ในยุโรป อียิปต์ ญี่ปุ่น คานาดา เม็กซิโกและลาตินอเมริกาบางประเทศ ตามกฎหมายสหรัฐฯผู้ที่ประสงค์จะขอรับประกาศนียบัตรรับรองการเป็นอินทรีย์สามารถขอได้จากองค์กรใดๆก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรที่อยู่ในสถานที่ตั้งของพื้นที่การเกษตรหรือโรงงานผลิต

3.กฎระเบียบตลาดสินค้าอินทรีย์ที่เป็นเครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกาย (Personal Care Products)

เท่าที่ผ่านมาสหรัฐฯไม่มีกฎระเบียบมาตรฐานที่ชัดเจนที่ควบคุมสินค้าเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่เป็นอินทรีย์ หน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐฯ USFDA ไม่มีอำนาจใดๆในเรื่องของการเป็น "organic" ในขณะที่หน่วยงาน National Organic Program (NOP) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯควบคุมดูแลเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตรที่เป็น "organic" และยอมให้สินค้าเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายกล่าวอ้างว่าเป็น "organic" หรือมีการใช้ฉลากที่เป็น eco-labels, หรือ earth friendly ฯลฯได้ แต่ก็ไม่ได้มีกฎระเบียบบังคับที่ชัดเจนและเข้มงวด สินค้าเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯอาจจะได้รับการรับรองว่ามีการผลิตตามมาตรฐานของภาคเอกชนและมีการทำการตลาดว่าเป็นไปตามมาตรฐานของภาคเอกชนนั้นๆได้ มาตรฐานเหล่านี้อาจจะรวมถึงมาตรฐานอินทรีย์ของประเทศอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐ นอกจากนี้สินค้าจำนวนมากในตลาดสหรัฐฯที่มีการใช้คำว่า "herbal", "natural" บนฉลากสินค้าโดยที่ไม่มีคำจัดความที่ชัดเจนตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นช่องโหว่ของกฎหมายสหรัฐฯ

ปัจจุบันกฎหมายสหรัฐฯระบุไว้อย่างชัดเจนแต่เพียงว่าเครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุง รักษาร่างกายใดๆมีส่วนผสมหรือทำมาจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรและที่มีการผลิตแบบอินทรีย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มีการจัดการและการปิดฉลากสินค้าเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดและในทุกขั้นตอนของขบวนการผลิตได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเป็น "organic" จากองค์กรที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯรับรอง สินค้าอินทรีย์เหล่านี้อาจจะได้รับการรับรองภายใต้กฎระเบียบของ NOP ได้ และอาจจะสามารถปิดฉลากสินค้า ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับที่ใช้บังคับกับการปิดฉลากสินค้าอาหารอินทรีย์ ว่าเป็นสินค้าอินทรีย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสี่กลุ่มคือ (1) "100 percent organic", (2) "Organic", (3) "Made with organic ingredients.." และ (4) มีส่วนผสมที่เป็นอินทรีย์น้อยกว่าร้อยละ 70

เครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายใดๆที่ไม่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯตามที่ระบุไว้ดังกล่าวแล้วข้างต้นไม่ได้รับอนุญาตให้มีการระบุ หรือการสื่อสารหรือทำให้เกิดความเข้าใจใดๆว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯหรือมีการปฏิบัติตามมาตรฐาน "organic" ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ

นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน องค์กร Organic Consumers Association ได้พยายามรณรงค์เพื่อกำจัดออกจากตลาดการค้าสินค้าเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯโดยอ้างว่าเป็นสินค้าอินทรีย์แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการผลิตที่เป็นอินทรีย์จริงและเข้าข่ายการปิดฉลากสินค้าหลอกลวง

3.1 ในเดือนกันยายนปี 2010 ผู้ค้าปลีกรายใหญ่คือ Whole Foods Market ได้ออกประกาศว่าผู้ที่ประสงค์จะวางจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่เป็นอินทรีย์ในตลาด Whole Foods สินค้าผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาร่างกายที่เป็นอินทรีย์นั้นจะต้องมีมาตรฐานการผลิตและการจัดการเช่นเดียว กับสินค้าอาหารอินทรีย์ที่ขณะนี้อยู่ภายใต้กฎระเบียบของ NOP ซัพพลายเออร์ทุกรายจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ของ Whole Foods ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2011 เงื่อนไขของ Whole Foods รวมถึง

ก. ซัพพลายเออร์จะต้องยื่นแผนการต่างๆว่าจะทำการเปลี่ยนการปิดฉลากสินค้าหรือเปลี่ยนสูตรสินค้าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตและการจัดการตามกฎระเบียบการผลิตสินค้าอินทรีย์ของสหรัฐฯอย่างไร และแจ้งให้ Whole Foods รับทราบภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2010 และมีเวลาจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2011 ที่จะปฏิบัตตามกฎระเบียบอย่างครบถ้วน สินค้ายี่ห้อใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกถอนออกจากการวางจำหน่ายในตลาด

ข. ผลิตภัณฑ์สินค้าใดๆที่มีการใช้คำว่า "organic" "Made with Organic.." หรือ "Contains Organic..." ในชื่อยี่ห้อสินค้าจะต้องได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่ามีการปฏิบัติตามมาตรฐานของหน่วยงาน NOP กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และแต่ละตัวสินค้าจะต้องมีประกาศนียบัตรนี้แสดงต่อ Whole Foods สินค้าที่มีการระบุส่วนผสมที่เป็นอินทรีย์ จะต้องมีใบรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯว่าส่วนผสมดังกล่าวได้มีการปฎบัติตามมาตรฐาน NOP เช่นกัน

3.2 นอกจาก Whole Foods Market แล้ว National Cooperative Grocers Association (สมาคมสหกรณ์ผู้ประกอบธุรกิจร้านโกรเซอรรี่แห่งชาติ) ได้ออกหนังสือเวียนถึง vendors หรือผู้ที่ประสงค์จะขายสินค้าให้แก่ร้านค้าปลีกที่เป็น grocery ต่างๆ แจ้งให้ทราบนโยบายของสมาคมฯในฐานะตัวแทนของผู้ค้าปลีกจำนวน 114 รายทั่วสหรัฐฯที่เป็นสมาชิก ว่า

ก. Vendors ที่มีสินค้าที่อ้างว่าเป็น "organic" รวมถึงสินค้าที่มีการใช้คำว่า "organic" หรือ "organics" ในชื่อยี่ห้อสินค้า จะต้องจัดทำแผนว่าได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานของ NOP กระทรวงเกษตรสหรัฐฯและยื่นให้สมาคมฯทราบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2010

ข. นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 เป็นต้นไปเฉพาะสินค้าอินทรีย์ที่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่สมาคมฯกำหนดเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดสินค้าบำรุงรักษาร่างกายที่เป็นอินทรีย์ของสมาคมฯและของสมาชิกสมาคม เจ้าหน้าที่ที่เป็น category manager สินค้า personal care ของตลาดค้าปลีกสามารถจะขอดูรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสมาคมจากเจ้าของสินค้าที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 เป็นต้นไป

ค. นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2011 สมาคมฯจะไม่ทำการส่งเสริมการตลาดยี่ห้อหรือสินค้ารายการใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของ NOP กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ สินค้าที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการตลาดจะต้องแสดงหลักฐานประกาศนียบัตรรับรองสำหรับสินค้านั้นๆหรือสำหรับส่วนผสมในสินค้านั้นๆ

ง. สมาชิกของสมาคมฯหลายรายแสดงเจตจำนงค์ว่าภายในปี 2012 จะยกเลิกการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนด วางจำหน่ายสินค้าที่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือไม่รับสินค้าที่ไม่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบเข้าร่วมในการส่งเสริมการขายระดับร้านค้าปลีกแต่ละร้าน

4. กฎระเบียบในตลาดอาหารสัตว์ที่เป็นอาหารอินทรีย์

แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯยังไม่มีกฎระเบียบและมาตราฐานที่ชัดเจนสำหรับอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์ เลี้ยง แต่สินค้าอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯปัจจุบันบางรายการมีการผลิตและการจัดการที่เป็นอินทรีย์โดยอาศัยมาตรฐานการผลิตและการจัดการอาหารอินทรีย์สำหรับมนุษย์เป็นหลักและหลายๆสินค้ามีประกาศนียบัตรรับรองสินค้าซึ่งเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจมิใช่เพราะกฎหมายบังคับ

หน่วยงาน NOP กระทรวงเกษตรสหรัฐฯประกาศว่าภายในปีงบประมาณ 2011 สหรัฐฯจะออก กฎระเบียบและมาตรฐานที่ชัดเจนและที่เป็นการเฉพาะเจาะจงไปที่สินค้าอาหารอินทรีย์สำหรับสัตวเลี้ยง โดยกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆเหล่านี้จะกระทำบนพื้นฐานของคำแนะนำที่ปรากฎในรายงานของกลุ่ม Organic Pet Food Task Force ที่ถูกคัดเลือกและได้รับการแต่งตั้งโดย NOP ตามคำแนะนำของ National Organic Standards Board เพื่อศึกษาการจัดทำกฎระเบียบของตลาดสินค้าอาหารสัตว์ที่เป็นอินทรีย์ เงื่อนไขต่างๆที่จะปรากฏในกฎหมาย เช่น

ก. ส่วนผสมของอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบเดียวกันกับที่ใช้กับการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์

ข. การปิดฉลากสินค้าอาหารอินทรีย์สำหรับสัตว์เลี้ยงจะต้องใช้หลักการเดียวกันกับการปิดฉลากอาหารอินทรีย์สำหรับมนุษย์บริโภค

5. สินค้าผ้าผืนหรือที่ทำจากผ้าผืนและที่เป็นสินค้าอินทรีย์

วัตถุดิบของสินค้าเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎระเบียบและมาตรฐานการเป็นอินทรีย์ที่กำหนดโดยหน่วย งาน NOP ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ แต่ไม่รวมถึงการจัดการกับวัตถุดิบเหล่านี้นอกเขตพื้นที่การเกษตร สินค้าเหล่านี้อาจจะถูกผลิตและได้รับการยอมรับว่ามีการผลิตตามมาตรฐานของ NOP ได้ เมื่อ

ก. สินค้าสิ่งทอที่ได้รับอนุญาตให้ปิดฉลากว่าเป็น "100 percent organic" จะต้องมีการปฏิบัติดังนี้

1. เป็นสินค้าที่ส่วนประกอบเป็นเส้นใยอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์

2. มีการผลิตและการจัดการตามระบบอินทรีย์ของสหรัฐฯ

3. ขบวนการผลิตและจัดการทั้งหมดะจต้องได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นอินทรีย์

ข. สินค้าสิ่งทอที่ได้รับอนุญาตให้ปิดฉลากว่าเป็น "organic" จะต้องมีการปฏิบัติดังนี้

1. มีส่วนผสมที่เป็นเส้นใยอินทรีย์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95

2. ส่วนผสมร้อยละ 5 ที่เหลือที่ไม่ใช่อินทรีย์จะต้องเป็นส่วนผสมที่กฎหมายสหรัฐฯยินยอม

3. จะต้องไม่มีส่วนผสมของเส้นใยที่ไม่ใช่อินทรีย์

4. ขบวนการผลิตและจัดการทั้งหมดะจต้องได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นอินทรีย์

ค. NOP ยอมให้ใช้คำว่า "made with organic...." บนฉลากสินค้าสิ่งทอ ถ้าสินค้านั้นผลิตในโรงงานผลิตที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นอินทรีย์และมีเส้นใยอินทรีย์เป็นส่วนผสมในสินค้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ดีเส้นใยทุกเส้นใยที่ระบุไว้ในสินค้านี้ว่าเป็น "organic" จะต้องมีการผลิตที่เป็นอินทรีย์และได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานของ กระทรวงเกตรสหรัฐฯ

ง. การปิดฉลากสินค้าสิ่งทอที่ไม่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่ามีการจัดการและการผลิตที่เป็นอินทรีย์

1. อาจจะระบุเส้นใยใดเส้นใยหนึ่งว่าเป็นอินทรีย์ถ้าเส้นใยนั้นได้รับประกาศนียบัตรรับรองและเป็นไปตามมาตรฐานของ NOP

2. อาจจะระบุเปอร์เซ็นต์ของเส้นใยที่เป็นอินทรีย์ที่เป็นส่วนผสมในสินค้า

3. ไม่อนุญาตให้ใช้ตรา USDA Organic บนฉลากสินค้า

4. ไม่อนุญาตให้มีการระบุหรือการกระทำใดๆที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อหรือเข้าใจผิดว่าสินค้านั้นๆเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ได้ประกาศนียบัตรรับรองแล้ว

6. กฎระเบียบการนำเข้าสหรัฐฯสินค้าอินทรีย์

1. การจัดส่งสินค้าอินทรีย์เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผู้ส่งจะต้องแสดงไว้บนกล่องบรรจุสินค้า (shipping box) โลโก้ที่เป็น USDA Organic หรือ Canadian Organic หรือขององค์กรที่ทำหน้าที่ออกประกาศนียบัตรสินค้าอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองแล้วจาก USDA เพื่อแสดงว่าสินค้าในกล่องเป็น สินค้าอินทรีย์

2. เอกสารที่จะต้องมีประกอบในการส่งสินค้าคือ

2.1 ใบเสร็จ (bill of lading) ระบุการรับสินค้าที่เป็นสินค้าอินทรีย์และระบุเงื่อนไขต่างๆ ของการจัดส่งสินค้าไว้ด้วย

2.2 Commercial Invoice แสดงการลงรายละเอียดการซื้อขายทางธุรกิจไว้อย่างชัดเจน

2.3 Organic transaction certificate (สำหรับการส่งออกจากสหรัฐฯ)

งานแสดงสินค้า

1. All Things Organic Conference and Trade Show จัดร่วมกับงาน Natural Product Expo East (Organic Products Expo 2011), www.expoeast.com Baltimore Convention Center, Baltimore, MD

  • Education and Events: September 21 - 24, 2011
  • Trade Show: September 22 - 24, 2011

2. Fancy Food Show www.specialtyfood.com

2.1 Summer Fancy Food Show , July 10 - 12, 2011, Washington, DC

2.2 Winter Fancy Food Show , January 15 - 17, 2012, California, San Francisco

3. The Natural Marketplace: Annual Trade show and Conference www.naturalmarketplaceshow.com Las Vegas Convention Center, Las Vegas, NV

  • Conference: June 23- 25, 2011
  • Trade Show: June 24 - 25, 2011

4.Natural Product Expo - West , www.expowest.com Anaheim Convention Center, Anaheim, CA

  • Education and Events: March 10 - 13, 2011
  • Trade Show: March 11- 13, 2011

องค์กรที่เกี่ยวข้องและแหล่งที่มาของข้อมูล

1. Organic Consumers Association, www.organicconsumers.org

2. Organic Trade Association, www.ota.com

3. USDA National Organic Program, www.ams.usda.gov/nop

4. www.organic.org

5. Organic Exchange, www.organicexchange.org

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ