การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ ปี 2553
การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ปี 2553 มีมูลค่ารวม 661,578.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.67 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าจากทั่วโลกรวมมูลค่า 310,393.72 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.64 และสิงคโปร์ส่งออกไปยังทั่วโลกรวมมูลค่า 351,185.0 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.53 โดยไทยเป็นประเทศคู่ค้านำเข้าอันดับที่ 9 และประเทศคู่ค้าส่งออกอันดับที่ 10 ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย และอินเดีย
การเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ปี 2553
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (17 กพ. 54) ได้ประกาศการเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2553 ร้อยละ 14.5 โดยการเติบโตในภาค อุตสาหกรรมสำคัญๆ(เทียบกับปีก่อนหน้า) ได้แก่ (1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เนื่องจากการขยายตัวของกลุ่ม Biomedical เป็นสำคัญ (2) ภาคการก่อสร้าง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยมีโครงการอาคารอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์หลายโครงการ (3) ภาคธุรกิจบริการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 โดยกลุ่มการค้าส่งและการค้า-ปลีก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 กลุ่มการขนส่งและคลังสินค้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 กลุ่มการโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ส่วนกลุ่มการบริการด้านการเงินและด้านธุรกิจ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.2 และ 5.9 ตามลำดับ
การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทย ปี 2553
ปี 2553 การค้ารวมระหว่างสิงคโปร์กับไทยมีมูลค่า 22,944.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสิงคโปร์ยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับไทยมูลค่า 2,408.0 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.35 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นการส่งออก และนำเข้า ดังนี้
- การส่งออก สิงคโปร์ส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 12,676.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ มาเลเซีย รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 สำหรับรายการสินค้า 10 อันดับแรกที่สิงคโปร์ส่งออกไปไทย ได้แก่ 1) แผงวงจรไฟฟ้า 2) สื่อบันทึกข้อมูล/ภาพ/เสียง 3) ส่วนประกอบ/อุปกรณ์ของเครื่องจักรกล 4) เครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์ 5) น้ำมันสำเร็จรูป 6) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซีส เตอร์และไดโอด 7) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันวงจรไฟฟ้า 8) เครื่องจักรไฟฟ้าและไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า 9) ของผสมมีกลิ่นหอมใช้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 10) ส่วนประกอบ ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า ประเภทที่ 85.35-85.37
- การนำเข้า สิงคโปร์นำเข้าจากไทยมูลค่า 10,268.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.36 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.31) โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 9 ประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 คือ มาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย และอินเดีย สำหรับรายการสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกได้แก่ 1) น้ำมันสำเร็จรูป 2) แผงวงจรไฟฟ้า 3) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล 4) เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ 5) เครื่องโทรสาร /โทรพิมพ์/โทรศัพท์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6) เครื่องพ่นหรือฉีดเชื้อเพลิงของเตาเผา 7) เครื่องปรับอากาศ 8) อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด 9) มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และ 10) ข้าว
คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดหวังว่า การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 ยังคงอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจาก (1) การสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระดับการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคอุต-สาหกรรมการผลิตของสิงคโปร์ (2) ในภูมิภาคเอเชีย ความต้องการสินค้าภายในภูมิภาคจะส่งผลดีต่อการค้า Intra-regional ให้มีความคล่องตัวและส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มการค้าส่งของสิงคโปร์ (3) นักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนให้สิงคโปร์มีการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (4) ปัจจัยจากการค้าภายในประเทศ ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตของสินค้าอิเล็ค ทรอนิกส์และ Biomedical ที่จะเป็นตัวสำคัญส่งเสริมให้มีการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังคงมีอยู่ 3 ประการ คือ (1) การที่เศรษฐกิจ EU ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สินที่ยังคงคาราคาซังอยู่ (2) ปัญหาอัตราเงินเฟ้อในเอเชียอาจจะทำให้เกิดนโยบายการคลังที่เคร่งครัดขึ้นอีก และ (3) ปัญหาแรงงานขาดแคลน ดังนั้น จากปัจจัยสำคัญ 3 ประการดังกล่าว ทำให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 เป็นร้อยละ 4.0-6.0 ทั้งนี้ ตารางแสดงอัตราคาดการณ์การเติบโต GDP และ CPI สิงคโปร์ ปี 2554 ดังนี้
Key Macroeconomic Indicators Sep 10 Survey Current Survey Year-on-Year % Change Median Median Mean Min Max GDP 5.0 5.1 5.2 4.0 6.0 CPI 2.5 2.9 2.8 2.1 3.4
ที่มา : Singapore Department of Statistics
อัตราเงินเฟ้อปี 2553
หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) ประกาศอัตราเงินเฟ้อ ปี 2553 ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2552 (ร้อยละ 0.6) เนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้นมากของค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่ง (+10.3%) การศึกษาและเครื่องเขียน(+2.7%) ที่พักอาศัย (+2.0%) และอาหาร(+1.4%) โดยตารางดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อ ปี 2547-2553 ดังนี้
ปี ดัชนีราคาผู้บริโภค (2009=100) อัตราเงินเฟ้อ (%) 2547 90.0 1.7 2548 90.4 0.5 2549 91.3 1.0 2550 93.2 2.1 2551 99.4 6.6 2552 100.0 0.6 2553 102.8 2.8
ที่มา : Singapore Department of Statistics
คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554
หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 โดยจัดเป็น 2 ประเภท คือ
1)การคาดการณ์โดยใช้ระบบการคิดที่ไม่รวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เดิม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0
2)การคาดการณ์โดยรวมถึงราคาที่พักอาศัยและรถยนต์ส่วนตัว จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 ปรับเปลี่ยนจากร้อยละ 2.0-3.0 เป็น ร้อยละ 3.0-4.0 ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.0-6.0 และหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับปานกลางจนถึงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ปี 2554 เป็น ร้อยละ 3.0-4.0
(ทั้งนี้ สิงคโปร์ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ แทนการใช้อัตราดอกเบี้ย)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th