ข้อมูลสรุปการส่งออกผักของไทยไปตลาดสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 7, 2011 15:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์ตลาดผักของสิงคโปร์

สิงคโปร์ในอดีตไม่มีพื้นที่สำหรับการเกษตร ปัจจุบันจัดสรรพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกผักไว้เล็กน้อย ดังนั้น สินค้าผักสำหรับการบริโภคในสิงคโปร์ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากแหล่งผลิตต่างๆทั่วโลก โดยผักประเภทต่างๆส่วนใหญ่นำเข้าจาก จีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย พม่า และญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับผักที่สิงคโปร์นำเข้าจากไทย ได้แก่ มะเขือเทศ แครอท หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง แตงกวา มะเขือยาว พริก ผักชี ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝัก ข้าวโพดอ่อน มะระ กะหล่ำปลี ตะไคร้ มะนาว ลูกมะกรูด ใบมะกรูด ใบกระเพรา และใบโหระพา เป็นต้น สำหรับการบริโภคผักภายในประเทศมีปริมาณประมาณปีละ 500,000 ตัน ทั้งนี้ เมื่อกลางปี 2553 การจำหน่ายผักบางชนิด (หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ มะเขือยาว พริกขี้หนู ผักชี) มีราคาสูงขึ้นถึง 2 เท่า และคาดว่าราคาคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554

การนำเข้าผักจากต่างประเทศของสิงคโปร์

ในปี 2553 สิงคโปร์ นำเข้าผักภายใต้พิกัดศุลกากร HS 07 (Edible Vegetable) รวมมูลค่า 409.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 130.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย(116.47 ล้านเหรียญฯ) ออสเตรเลีย(27.94 ล้านเหรียญฯ) สหรัฐฯ(22.25 ล้านเหรียญฯ) และไทย(เป็นอันดับที่ 5 มูลค่า 21.82 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16.61 ส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 5.32)

คู่แข่งการค้า

ผักประเภทต่างๆที่นำเข้าจากไทย มีคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า นอกจากนี้ แม้สิงคโปร์เป็นผู้นำเข้าสำคัญจากไทย แต่เป็นคู่แข่งของไทยด้วย ซึ่งสิงคโปร์มีนโยบายสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การจัดสรรพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกผักในสิงคโปร์ มีฟาร์ม 67 แห่ง ผลผลิตประมาณปีละ 20,000 ตัน และ 2) การมีสัญญา Contract Farming ในอินโดนีเซีย และไทย

ราคาจำหน่ายปลีกผักของไทยในตลาดสิงคโปร์

ผักไทยจำหน่ายทั่วไปทั้งที่ตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งราคาไม่แตกต่างกันมากนัก ราคาจำหน่ายปลีก ดังนี้

      รายการ            น้ำหนัก/บรรจุ             ราคา            รายการ      น้ำหนัก/บรรจุ             ราคา
                                       (เหรียญสิงคโปร์)                                      (เหรียญสิงคโปร์)
ใบมะกรูด                     50 กรัม             1.60        พริกเขียว            100 กรัม             1.40
ใบโหระพา                    50 กรัม             2.50        พริกแดง             100 กรัม             1.85ผักชี                         10 กรัม             1.90        พริกขี้หนู             100 กรัม             1.55
หน่อไม้ฝรั่ง (ไทย)             500 กรัม             2.10        แตงกวาไทย          500 กรัม             1.20
ข้าวโพดอ่อน                  100 กรัม             1.75        ตะไคร้              100 กรัม             1.00
ข้าวโพดฝัก                      2 ฝัก             1.70        มะนาว              150 กรัม             1.80
ถั่วฝักยาว                    500 กรัม             1.50        มะเขือเทศ           500 กรัม             1.40

ข้อกำหนดในการนำเข้าผักของสิงคโปร์

1) ผู้นำเข้าสิงคโปร์ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าจาก International Enterprise Singapore และได้รับอนุญาตการนำเข้าในแต่ละครั้งจาก Agri-Food & Veterinary Authority (AVA)

2)สิงคโปร์เรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods & Services Tax: GST) ร้อยละ 7 เท่านั้น

3) The Food Regulations ของสิงคโปร์มีข้อกำหนดเรื่องสารตกค้างและสารรักษา/ถนอมผัก ซึ่ง AVA ให้ความสำคัญและตรวจสอบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด หากพบสารตกค้างใดๆ จะสั่งให้ส่งสินค้ากลับหรือสั่งทำลายสินค้า และนำผู้นำเข้าส่งเรื่องฟ้องศาลด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันผักชีและพริกที่นำเข้าจากไทยซึ่ง AVA ไม่อนุญาตให้นำเข้าเมื่อตรวจพบสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนด ได้แก่ Methamidofos, Parathion-methyl, EPN, Triazofos, Metalaxyl, Chlorpyrifos, Dithiocarbamates, Chlorothalonil, Dicrotofos, Dimethoate, Ethion, Profenofos เป็นต้น

โอกาสทางการค้าของไทย

1) แม้ว่าสิงคโปร์จะมีการผลิตผักในประเทศ และผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน เนื่องจากมีความกังวลเรื่องสารพิษเจือปนในสินค้านำเข้า แต่ปริมาณการผลิตฯไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภครวมภายในประเทศ ดังนั้น สิงคโปร์ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าผักเกือบทุกชนิดจากต่างประเทศต่อไป โดยมีนโยบายจัดหาจากแหล่งผลิตต่างๆทั่วโลกรวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย

2) สินค้าที่ผู้ผลิตไทยมีโอกาสและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ ผัก Organic ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคในสิงคโปร์ให้ความระมัดระวังในเรื่องสุขอนามัยมากขึ้นและจะเลือกซื้อผักที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย แม้ราคาจะสูงกว่าผักธรรมดาก็ตาม ในขณะนี้ซุปเปอร์มาร์เก็ต FairPrice มี Contract Farming ในประเทศไทยที่ จังหวัดลพบุรีและเพชรบูรณ์ปลูกผัก Organic เป็นไปตามระเบียบและข้อกำหนดของ AVA ซึ่งทำให้การนำเข้า สินค้าดังกล่าวสู่ตลาดสิงคโปร์เป็นไปอย่างราบรื่น และตั้งแต่ปี 2551 สินค้าจำหน่าย ณ ซุปเปอร์มาร์เก็ต FairPrice finest (เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต high-end ของ FairPrice มีสินค้าคุณภาพที่คำนึงถึงสุขอนามัยจากทั่วโลก อีกทั้งให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ รวมทั้งจัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อถึงที่พักอาศัยด้วย) ทั้งนี้ รายการสินค้าผัก Organic ได้แก่ ผักกาดหอม ผักสลัดต่างๆ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดอ่อน มะเขือเทศ แตงกวา พริกใหญ่ คะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี ฟักทอง และหน่อไม้ฝรั่ง ดังนั้น หากผู้ผลิตไทยสามารถเข้าร่วมโครงการ Contract Farming กับซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้สินค้าผักนำเข้าสิงคโปร์ได้มากขึ้นในอนาคต

3) การผลิตผักที่มีคุณภาพดีและรักษาระดับคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผักไทยสามารถแข่งขันกับผักอื่นๆจากทั่วโลกในตลาดสิงคโปร์

4) อนึ่ง นอกจากผักสดแล้ว ไทยสามารถขยายตลาดผักอบกรอบและอบแห้งในสิงคโปร์ได้อีกด้วย

สรุปสินค้าผักนำเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ (HS 07 Edible Vegetable)

                สินค้า         มูลค่า ล้านเหรียญสหรัฐฯ      เพิ่มขึ้น/ลดลง %      ส่วนแบ่งตลาด %
                                 2552      2553     2551/    2552/    2552     2553

2552 2553

          จากทั่วโลก             331.42    409.91    -0.49    23.68      100      100
          1.จีน                 103.44    130.56    -0.56    26.21    31.21    31.85
          2.มาเลเซีย             97.34    116.47     0.14    19.65    29.37    28.41
          3.ออสเตรเลีย           22.61     27.94     2.35    23.61     6.82     6.82
          4.สหรัฐฯ               20.78     25.25    -11.8    21.53     6.27     6.16
          5.ไทย                 18.71     21.82    -1.96    16.61     5.65     5.32
          6.อินโดนีเซีย            17.71     18.35    -0.36     3.61     5.34     4.48
          7.อินเดีย                10.5     12.76    11.59    21.56     3.17     3.11
          8.เวียดนาม             10.66     12.01    -5.79    12.68     3.22     2.93
          9.พม่า                  5.02      8.24    -28.9    64.07     1.52     2.01
          10.ญี่ปุ่น                 4.98      7.69    21.28     54.6      1.5     1.88

ที่มา : International Enterprise Singapore, Agri-Food & Veterinary Authority,

S’pore Fruits & Veg. Importers & Exporters

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ