ผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวต่อสินค้าพลาสติกในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2011 11:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะการผลิต

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรมพลาสติกในญี่ปุ่น ดังนี้

  • บริษัท Shin-Etsu Chemical Co.,Ltd ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตพลาสติก ได้ประกาศปิดโรงงานผลิต จำนวน 3 แห่ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ โรงงาน Kashima (เมืองคามิสุ จังหวัดอิบาราคิ) ซึ่งเป็นโรงงานผลิต PVC โรงงาน Gunma (เมือง อันนะกะ จังหวัดกุนหมะ) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตซิลิคอน เรซิ่น และโรงงาน Shirakawa Shin-Etsu (จังหวัดฟุกุชิมะ) โดยโรงงานทั้งสาม เสียหายบางส่วน และพนักงานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งนี้โรงงาน จะดำเนินการผลิตอีกครั้งในทันทีหลังจากซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และไม่มีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่ ตลอดจนแน่ใจถึงความปลอดภัยแล้ว
  • บริษัท Misaka Industry Co.,Ltd ผู้ผลิตเครื่องใช้พลาสติก ปิดโรงงาน 2 แห่ง จากจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 4 แห่ง ในจังหวัดอิบาราคิ และจังหวัดโทชิกิ จากความเสียหายบางส่วนของโรงงาน นอกจากนี้โรงงานทั้ง 2 แห่ง ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันทำให้การเดินทางและขนส่งเป็นไปด้วยความลำบาก ส่งผลให้ปริมาณการผลิตของบริษัทลดลง 20-30% จากการต้องปิดโรงงานทั้ง 2 แห่ง ดังกล่าว
  • บริษัท Prime Polymer Co.,Ltd ผู้ผลิต polyethylene และ polypropylene ซึ่งมีโรงงานอยู่ในจังหวัดชิบะ เขตคันโต แม้โรงงานจะไม่ได้รับความเสียหายแต่สายการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นสารเคมี (additive) บางชนิดขาดแคลนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้บริษัทอาจต้องหาวัตถุดิบชนิดอื่นมาทดแทน นอกจากนี้แผนการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของรัฐอาจต้องทำให้โรงงานพิจารณาหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงโรงงานที่ต้องใช้สินค้าของบริษัทเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าในขั้นต่อไป ในส่วนของการจัดส่งสินค้าของบริษัท ปัจจุบันการขนส่งไปยังเขตโทโฮกุ หยุดระงับโดยสิ้นเชิง จากปัญหาเส้นทางคมนาคม รวมทั้งการขนส่งสินค้าไปยังเขตคันโตภาคเหนือ และฮอกไกโด ประสบปัญหาด้านการคมนาคมเช่นกัน ในขณะที่การขนส่งไปยังภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาล่าช้าอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำมัน
  • อย่างไรก็ตามถึงแม้โรงงานผลิตพลาสติกและปิโตรเคมีจะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ ยานยนตร์ และเซมิ-คอนดัคเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโรงงานอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่โดนผลกระทบดังกล่าว แต่ปัญหาทางด้านซัพพลายเชน การขาดแคลนน้ำมัน และกระแสไฟฟ้าในเขตคันโต ก็มีผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกที่อยู่ในเขตดังกล่าว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ