สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนเมษายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2011 17:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น

ในวันที่ 18 เมษายน 2554 Toyota Motor Corp. ได้เสร็จสิ้นการฟื้นฟูโรงงานบางส่วนจากความเสียหายโดยภัยพิบัติในเดือนมีนาคม 2554 แล้ว และได้เริ่มสายการผลิตทั้งหมดในโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมๆกับการเร่งช่วยเหลือและฟื้นฟู Supplier ของ Toyota เช่นกัน แต่ทว่าการผลิตของ Toyota ในปัจจุบันยังคงเดินเครื่องได้เพียงร้อยละ 50 ของจำนวนการผลิตก่อนเกิดเหตุการณ์ฯ เนื่องจากชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ต่างๆที่ Supplier ส่งมอบมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการเดินเครื่องผลิตอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่า Toyota ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 6 เดือนในการเพิ่มกำลังการผลิตให้กลับสู่สภาวะปกติ

นอกจากนี้ Toyota ยังยืนยันโครงการที่จะสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์แห่งใหม่ที่เมืองโอฮิระ บริเวณโทโฮกุอีกด้วย (บริเวณที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงที่สุด) โดยโรงงานแห่งใหม่ที่มิยากินี้จะมีพื้นที่ราว 324,000 ตารางเมตร และจะมีคนงานประมาณ 1,300 คน โดยจำนวนนี้ 400 คนจะย้ายมาจากโรงงาน Toyota ที่จังหวัดคานากาว่า ที่ปิดตัวลง นับเป็นโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโรงงาน Toyota ในประเทศไต้หวัน และจะเป็นโรงงานหลักที่รับผิดชอบในการผลิตชุดเบรค ABS เพลารถยนต์ และ ชุด Suspension ผู้บริหารของ Toyota เปิดเผยว่าไม่รู้สึกกังวลที่จะก่อสร้างโรงงานในเขตภัยพิบัติเช่นนี้เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้โอกาสที่จะเกิดซ้ำขึ้นอีกคงเป็นเวลาอีกหลายร้อยปี อีกทั้งบริเวณโทโฮกุเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้วก็น่าจะปลอดภัยอีกเป็นเวลานาน และน่าจะปลอดภัยกว่าจังหวัดอื่นๆในญี่ปุ่นที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วยซ้ำ นอกจาก Toyota แล้ว เมืองโอฮิระยังเป็นที่ตั้งสำคัญของโรงงาน YKK , Skylark (แฟรนไชส์ภัตตาคาร) , และ บ.OKI Electric (ผู้ผลิตตู้เอทีเอ็ม) อีกด้วย

ในวันเดียวกัน Mitsubishi Motor ได้ส่งรถยนต์สำหรับใช้ในการบรรเทาทุกข์ ขึ้นไปช่วยผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวฯ อาทิ ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง Mitsubishi ได้ส่งมอบรถไฟฟ้า i-MiEV ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้งานทั่วไป และในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งต้องการรถยนต์สมรรถนะสูง บริษัทก็ได้ส่งรถกระบะ Triton แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งผลิตในประเทศไทย เข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยในเบื้องต้น รถยนต์ไฟฟ้า ไอมีฟ จำนวน 30 คันได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ประสบเหตุแล้ว ส่วนรถยนต์แบบอื่นจะจัดส่งไปตามคำขอของพื้นที่ต่างๆ

ในวันที่ 15 เมษายน 2554 หรือราว 1 เดือนหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ เจ้าหน้าที่ศุลกากรรัสเซียได้ตรวจสอบและพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในรถยนต์มือสองของญี่ปุ่นที่กำลังจะผ่านเข้ามาจำหน่ายในประเทศรัสเซีย จึงก่อให้เกิดความวิตกกังวลในตลาดค้ารถมือสองจากญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เมืองวลาดิวาสสต็อก ประเทศรัสเซีย ได้เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบรถยนต์ใช้แล้วที่ส่งมาจากประเทศญี่ปุ่นได้พบการปนเปื้อนฯซึ่งมีค่าเฉลี่ยมากกว่ารถยนต์ปกติถึง 6 เท่า มีสาร cecium-127 และ uranium-238 ติดอยู่กับรถยนต์จำนวน 49 คันที่ส่งมาจากญี่ปุ่นด้วย จึงได้ทำการกักกันไว้ที่ด่านตรวจก่อน ซึ่งด่านศุลกากรยังไม่มีนโยบายที่แน่ชัดว่าจะทำอย่างไรกับรถยนต์ที่ปนเปื้อนฯจำนวนนี้ และกำลังมีความกังวลถึงการตรวจสอบและกักเก็บรถยนต์ใช้แล้วจากญี่ปุ่นอีกราว 300 คัน/วัน ที่จะผ่านเข้ามาทางด่านตรวจนี้

Nissan Motor Co, ได้เริ่มตรวจสอบการทำงานของแบตเตอรี่ในรถยนต์นิสสัน ลีฟ แล้วหลังจากได้รับรายงานตรงกันจากผู้บริโภคในอเมริกาและญี่ปุ่น ที่ร้องเรียนว่าระบบสตาร์ทของรถยนต์ไม่ทำงานเมื่อคนขับปิดและเปิดเครื่องยนต์ในเวลาที่ติดกันเกินไป การร้องเรียนครั้งนี้ Nissan ได้รับเรื่องมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมแล้วและอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง โฆษกของ Nissan แถลงว่าปัญหาการสตาร์ทนี้จะต้องได้รับการแก้ไขในทันทีหากระบบมีความขัดข้องจริง แต่อย่างไรก็ตามระบบการสตาร์ทรถยนต์ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยในการขับขี่แต่อย่างไร และต้องขอบคุณเจ้าของรถยนต์ลีฟทุกคนที่ช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆมาเพื่อให้บริษัทได้ปรับปรุงพัฒนาสินค้าต่อไป อนึ่ง Nissan ได้ทำการส่งมอบรถยนต์ลีฟไปยังอเมริกาแล้ว จำนวน 471 คัน และยังมีพันธะผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถยนต์อีกจำนวน กว่า 20,000 คันในตลาดอเมริกา

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย

Mitsubishi Motors Corp. ตัดสินใจจะกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศไทยจำนวน ราว 4 หมื่นล้านเยน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ขนาดเล็กแห่งใหม่ในประเทศ ซึ่งการกู้ยืมในครั้งนี้จะกู้ยืมในสกุลท้องถิ่นคือสกุลบาทเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

Mitsubishi ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ ธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย จำนวน 3 แห่งคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ในการกู้ยืมเงินเพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี การก่อสร้างตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2012 ทั้งนี้ Mitsubishi จะได้นำเงินกู้ออกมาใช้ เป็นระยะๆตามแต่ความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงงานของ Mitsubishi ส่วนธนาคารเอกชนไทยก็ได้เสนอเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่าเทียมกับอัตราดอกเบี้ยที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตฯรายนี้ อนึ่ง Mitsubishi ได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานในขนาดเดียวกันนี้ในเขต ฮูหนานในประเทศจีน เช่นกัน ซึ่งแต่ละโรงงานหากแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตปีละราว 2 แสนคันต่อโรงงาน

โรงงานผลิตชิ้นส่วนฯ ยานยนต์ในประเทศไทย เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น ก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม นั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยอาจเรียกได้ว่ากำลังผลิตและประกอบรถยนต์กันเต็มกำลังการผลิต โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก และรถกระบะซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการเป็นผู้นำทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศ ถึงแม้ผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นยังไม่มาถึงประเทศไทยเนื่องจากโรงงานยังมีสต๊อกของเก็บไว้อยู่ แต่สต๊อกชิ้นส่วนต่างๆเริ่มทยอยหมดลงไปแล้ว หลังสงกรานต์ที่ผ่านมาโรงงานต่างๆเริ่มปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้เหมาะสมกับชิ้นส่วนจำนวนจำกัดจาก supplier ที่ญี่ปุ่น อาทิ Honda ปรับลดกำลังการผลิตลง 100-150 คัน ต่อวันเหลือเพียงวันละ 500 คัน Isuzu ปรับลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่ง และลดการทำงานจาก 2 กะ เป็น กะ เดียว Nissan ตัดการทำงานในวันหยุดและการทำงานล่วงเวลา (โดยเฉลี่ยราว 4 ชั่วโมง/วัน) และปรับลดกำลังการผลิตจาก 800 คัน เป็น 700 คัน/วัน Toyota Motor ปรับลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 10 ของการผลิตทั้งหมด พร้อมยกเลิกการทำงานในวันหยุดและการทำงานล่วงเวลาลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ