สรุปสถานการณ์ การระบาดของเชื้อ อีโคไล ในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 13:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่ได้มีการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล (EHEC) ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในพื้นที่ตอนเหนือของเยอรมนี ทำให้มีประชาชนป่วยแล้วประมาณ ๒,๖๐๐ราย ผู้ที่มีอาการท้องร่วงอย่างแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมีจำนวน ๖๐๐ และจนถึงปัจจุบันเสียชีวิตแล้วรวม ๒๒ ราย นั้น ในชั้นแรกสถาบันโรเบิร์ตค๊อค กรุงเบอร์ลินได้สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการใช้ปุ๋ยคอกที่มีเชื้อ ได้เตือนให้ระวังการบริโภคผักสดดังกล่าว ต่อมาได้แจ้งว่า มีการตรวจพบเชื้ออีโคไลในแตงกวาสดที่นำเข้าจากสเปน แต่ในช่วงเวลาต่อมา ได้แก้ข่าวว่ามิใช่ต้นเหตุของการระบาดที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามการออกประกาศเช่นนี้ได้ทำให้พ่อค้าส่วนใหญ่ยุติการนำเข้าแตงกวาจากสเปนทันที และยังมีการทำลายแตงกวาในประเทศอีกจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้มั่นใจว่าจะมีเชื้อโรคดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่หวาดกลัว ต่างหยุดพักการทานผักสำคัญๆ เหล่านี้ ผลของการประกาศโดยสถาบันฯ ยังทำให้รัสเชียประกาศห้ามนำเข้าผักสดจากสหภาพยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ในส่วนของสเปนคาดว่าจะเกิดความเสียหายมูลค่าราว 200 ล้านยูโร จากการตรวจสอบพืชผักอื่นๆ ในช่วงเวลาต่อๆ มา สถาบันฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เชื้อ E.Coli ที่พบเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากเชื้อ 2 ชนิด โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ ได้แจ้งว่า อาจจะเป็นสลัดต้นเล็กประเภท Sprout ต่างๆ ที่เพาะปลูกในฟาร์มแห่งหนึ่งที่เมือง Ulzen ในแคว้น Lower Saxony เพราะผลผลิตจากฟาร์มนี้ได้ส่งไปยังโรงอาหารและภัตตาคารต่างๆ ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล

การระบาดของเชื้ออีโคไล ได้สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคในเยอรมนีมาก ทำให้มีการบริโภคผักสดต่างๆ ลดน้อยลง โดยเฉพาะ แตงกวา มะเขือเทศและผักสลัดต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศและที่ผลิตในประเทศ ในท้องที่ทางตอนเหนือของเยอรมนีที่มีการระบาดมาก ผักสดชนิดเดียวกันได้รับผลกระทบมากที่สุด ในชั้นแรกประมาณความเสียหายของเกษตรกรในเยอรมนีเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านยูโร ซึ่งปัจจุบันจะพิจารณาให้เงินช่วยกับชาวนาที่ได้รับความเสียหายซึ่งอาจเป็นเงินจากงบกลางของอียู หรืองบของประเทศสมาชิก เนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉิน สามารถชดเชยให้ได้โดยไม่ขัดกับกฏเกณฑ์ ข้อตกลงสากลระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้พยายามลดการ subsidy จากรัฐบาล

หน่วยงานป้องกันโรคระบาดของเยอรมนี สถาบันโรเบิร์ตค๊อค กรุงเบอร์ลิน ยังคงประกาศเตือนให้ระวังการบริโภคผักสดชนิดต่างๆ ถึงแม้ว่าการล้างน้ำให้สะอาดจะช่วยขจัดเชื้อโรคได้ก็ตาม แต่วิธีการทำลายเชื้ออีโคไลให้ได้ผลคือ การต้มให้สุก เท่านั้น เหล่านี้มีผลทำให้เกษตรกรในประเทศมีปัญหา ขายผักสดไม่ได้ระยะหนึ่ง มีการหยุดนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะ จากสเปน อิตาลี และล่าสุด หลังจากที่รายงานว่าอาจเกิดจากต้น Sprout จะมีผลทำให้การนำเข้าสินค้าตัวนี้จากเนเธอร์แลนด์ต้องหยุดพักลงได้

ในปัจจุบัน เกษตรกรในประเทศได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากไม่สามารถขายพืชผักสดได้ รวมทั้งสินค้าประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากประเทศยุโรปตอนใต้ ในส่วนของประเทศไทย ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าใด เนื่องจากเป็นผักคนละชนิดกัน และส่วนใหญ่ต้องต้มหรือผัดให้สุกก่อนที่จะบริโภค อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมเกษตรกร ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบพืช ผักสดที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มความเข้มงวดให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับสินค้านำเข้าจากไทยได้ ทำนองเดียวกับผักสด ๑๖ ชนิดของไทยในปัจจุบันนี้

ในปี 2553 ที่ผ่านมา ในเยอรมนีมีการบริโภคผักสดเป็นปริมาณราว 7.6 ล้านตัน เฉพาะแตงกวา มะเขือเทศและผักสลัดมีปริมาณดังนี้

(ตัน) กก./หัว/ปี

มะเขือเทศ               2,006,000            24.6
- นำเข้า                  681,000
  --  เนเธอร์แลนด์         375,000
  --  สเปน               145,000
แตงกวา                   558,000             6.8
- นำเข้า                  500,000
  --  เนเธอร์แลนด์         250,000
  --  สเปน               192,000
ผักสลัด                    218,000             2.7
- นำเข้า                  108,000
  --  สเปน               600,000
สถานการณ์อีโคไล2554มิย06

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ