การขนส่งสินค้าทางน้ำ นครเซี่ยงไฮ้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2011 11:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เซี่ยงไฮ้ได้บรรลุถึงการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงที่เชื่อมการขนส่งทางบก และทางทะเลเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีท่าเรือเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลาง การขนส่งทางทะเลนานาชาติ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับท่าเรือสำคัญๆตลอดแนวแม่น้ำแยงซีเกียงภายในประเทศจีน เช่น ท่าเรือเมืองอู่ฮั่น ท่าเรือนครฉงชิ่ง ท่าเรือเมืองเจียงยิน ท่าเรือเวิ่นโจว ท่าเรือเมืองหนิงโป และท่าเรือเมืองโจวซาน การเลือกท่าเรือของนครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการเดินเรือสินค้าเนื่องจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจทางด้านการเดินเรือ และปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตรงกลางของประเทศ โดยมีมณฑลเจียงซูทางทิศเหนือ และมณฑลเจ้อเจียงทางทิศใต้เป็นมณฑลหลักในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงที่ยาว ๗๖๓ กิโลเมตร เชื่อมกับทะเลตะวันออกซึ่งกินพื้นที่ทางทะเลขนาด ๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งทอดตัวยาว ๑๘๖ กิโลเมตร และแนวเกาะยาว ๕๗๗ กิโลเมตร จำนวน ๑๖ เกาะ ซึ่งมีเกาะ Chongming เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับที่ ๓ ของประเทศจีนตั้งอยู่ อนึ่งท่าเรือสำคัญในนครเซี่ยงไฮ้มีรายละเอียดดังนี้

๑). ท่าเรือไว่เกาเฉียว (Wai Gao Qiao)

โครงการก่อสร้างท่าเรือ Wai Gao Qiao เป็นโครงการที่เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๓๖ เป็นท่าเรือขนาด ๑.๖๓ ตารางกิโลเมตร ลึก ๑๓ เมตร และสามารถรองรับเรือขนถ่ายตู้สินค้าได้ ๔ ลำ ลำละ ๔,๐๐๐ TEU ปัจจุบันเป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์สูงที่สุดในจีน เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ท่าเรือไว่เกาเฉียวเปิดให้บริการโครงการส่วนขยายต่อล่าสุด คือ ระยะที่ ๖ ซึ่งมีพื้นที่ ๑.๘๑๙ ล้าน ตร.ม. ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านทิศใต้ของปากแม่น้ำแยงซี ตรงข้ามกับเกาะฉางซิง ติดกับพื้นที่ของโครงการที่ ๕ และใกล้กับอุโมงค์เดินรถใต้ดินฉางเจียง (The Yangtze Tunnel-Bridge) มีเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลยาว ๑,๕๓๘ เมตร รวมมูลค่าการลงทุน ๔,๗๙๑ ล้านหยวน ในส่วนของโครงการที่ ๖ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด ๑ แสน ๕ หมื่นตัน จำนวน ๓ ท่า และท่าเทียบเรือขนส่งยานยนต์ขนาด ๕,๐๐๐ — ๕๐,๐๐๐ ตัน จำนวน ๔ ท่า ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์จำนวน ๒.๑ ล้านตู้ TEUs ต่อปี และการขนส่งรถยนต์จำนวน ๗ แสน ๓ หมื่นคัน ต่อปี

๒). ท่าเรือน้ำลึกหยางซาน

หลังจากที่ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกหยางซานอยู่ถึง ๖ ปี รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อนุมัติการสร้างท่าเรือน้ำลึก หยางซานขึ้นที่เกาะหยางซานใหญ่และหยางซานเล็ก ในช่วงกลางปี ๒๕๔๕ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะสุดท้ายปี ๒๕๖๓ โดยท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของเซี่ยงไฮ้ทางทิศใต้ ๒๗.๕ กิโลเมตร อยู่ในอ่าวหางโจวโดยขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งภาครัฐมีความประสงค์ให้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ ๑๘ ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่งตลอดแนวน้ำลึก ๒๒ กิโลเมตร สามารถรองรับเรือบรรทุกตู้สินค้าได้มากกว่า ๕๐ ลำ ในขณะเดียวกันสามารถรองรับเรือดังกล่าวได้ทั้งรุ่นที่ ๕ และ ๖ (๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ TEU) คิดเป็นความสามารถในการรองรับสินค้าต่อปีถึง ๒๕ ล้าน TEU ซึ่งจะทำให้เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและมีการขนส่งที่หนาแน่นที่สุดในโลก และจะทำให้ร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกลดลงจาก ๑๖ — ๑๗ วัน เหลือเพียง ๑๐ วัน

๓). ท่าเรือ Luo Jing

ท่าเรือแห่งนี้มีโครงการที่จะพัฒนาให้เป็นท่า Bulk Cargo อัตโนมัติแห่งแรกของโลก ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าสำหรับขนถ่ายลำเลียงถ่านหิน แร่ ปุ๋ยเคมี และสินค้าอื่นๆ ที่เป็นแบบ Bulk เพื่อพัฒนาไปสู่ท่าเรือขนส่งสินค้าอัตโนมัติแห่งแรกของโลก การทำงานของการขนถ่ายสินค้า สำหรับท่าเรือ Luojing ในเซี่ยงไฮ้ การเจริญเติบโตของการค้าต่างประเทศของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัสดุเช่นถ่านหิน มีความต้องการเพิ่มขึ้นในด้านอุปกรณ์การจัดการกลุ่มสินค้าและระบบเศรษฐกิจของจีนและโลกการค้า การทำงานของเทคโนโลยีและระบบการควบคุมการดำเนินงานมีการประสานงานจากห้องควบคุมส่วนกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพและความปลอดภัยของการดำเนินงานของหน่วยงานธุรกิจองค์กรระดับโลกที่ให้บริการในประเทศไปยังท่าเรืออู่ต่อเรือและโรงงานเหล็กทั่วโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ