วุฒิสภาสหรัฐฯลงมติรับกฎหมายปกป้องผู้บริโภคอาหารทะเล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2011 11:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ที่ประชุมวุฒิสภา (Senate Panel) ลงมติรับกฎหมายปกป้องผู้บริโภคอาหารทะเล (Commercial Seafood Consumer Protection Act) เมื่อวันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ โดยกฎหมายฉบับนี้ออกแบบเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการความปลอดภัยอาหารทะเลของรัฐบาลกลาง และต่อสู้กับการกระทำผิดฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล

มติของคณะกรรมาธิการฝ่ายการพาณิชย์, วิทยาศาสตร์ และขนส่ง ของวุฒิสภา ที่ส่งกฎหมายไปยังวุฒิสภาเต็มคณะ มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเรื่องการทดแทนอาหารทะเลด้วยตัวเลือกอื่นที่ราคาถูกกว่า ในขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎระเบียบของรัฐฯในด้านความปลอดภัยของอาหารทะเล ในช่วงที่กระแสความกลัวที่เพิ่มขึ้น โดยการใช้ยาต้านการแพร่กระจายเชื้อ E Coli ในยุโรป

OCEANA หน่วยงานด้านการปกป้องมหาสมุทรระหว่างประเทศ ได้ออกมาแสดงความยินดีและต้อนรับกฎหมายฉบับนี้ โดยกล่าวว่า เป็นก้าวแรกในการหยุดยั้งการทำผิดเรื่องอาหารทะเลในสหรัฐฯ

โดยการสนับสนุนของวุฒิสมาชิก Daniel Inouye (พรรคเดโมแครตจากฮาวาย), วุฒิสมาชิก Olympia Snowe (พรรครีพับลิกันจากเมน), วุฒิสมาชิก David Vitter (พรรครีพับลิกันจากหลุยส์เซียนา) และวุฒิสมาชิก Mark Begich (พรรคเดโมแครต จากอาร์คันซอร์) กฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนการค้าของรัฐบาลกลาง (Federal Trade Commission - FTC) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลกลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการต่างๆที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างการตลาดอาหารทะเลเชิงพาณิชย์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

กฎหมายจะมีผลในทางปฏิบัติ ภายใน ๖ เดือน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลกลางจะได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memoranda of Understanding) เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นเกี่ยวกับ ความปลอดภัย, การติดฉลาก และการคดโกง/ฉ้อฉล อาหารทะเล ซึ่งจะรวมไปถึงเรื่องการทดสอบอาหาร การตรวจสอบในส่วนที่อยู่ต่างประเทศ สร้างข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยหน่วยงานต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และประสานงานการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์

กฎหมายนี้ยังกำหนดให้ FTC และหน่วยงานอื่น ต้องยื่นรายงานประจำปี ต่อสภาคองเกรส โดยมีรายละเอียดความพยายามในการดำเนินงานตามข้อตกลง, งบประมาณ และบุคลากรที่จำเป็นในการพัฒนาด้านความปลอดภัยอาหาร และเรื่องอื่นๆที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์กฎหมายฉบับนี้

กฎหมายฉบับนี้ยังให้เวลา FTC หนึ่งปีหลังจากกฎหมายออกมา ให้ยื่นรายงานต่อสภาคองเกรส เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การบังคับใช้ด้านการตลาดและการติดฉลากอาหารทะเล และการพบกรณีคดโกง/ฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯตลอดจนผลที่เกิดกับผู้บริโภค ซึ่งเรื่องสุดท้ายนี้เป็นพฤติกรรมในการหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพื่อเพิ่มกำไรให้บริษัท และผลที่ตามมาคือทำให้เกิดผลด้านลบต่อความพยายามในการเสริมสร้างสุขภาพผู้บริโภคด้วยอาหารทะเล ทั้งนี้ OCEANA พบว่า ปลาที่เป็นที่นิยมในการ ปลอมแปลงฉลากมากที่สุดได้แก่ Red Snapper, Wild Salmon และ Atlantic Cod

กฎหมายที่เสนอไปนี้ จะให้ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) รายงานเรื่องการปลอม ฉลากและฉ้อโกงไปยัง FTC และประสานงานระหว่าง โครงการตรวจสอบอาหารทะเลของ NOAA กับโครงการของหน่วยงานอื่น ในการนำเสนอให้ถึงผู้บริโภค เรื่องการตรวจสอบ การติดฉลาก และนโยบายในการต่อสู้กับการทำผิดกฎหมายทั้งหลาย

กฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งห้องทดสอบ (Laboratories) เพื่อรับรองและวิเคราะห์อาหารทะเล มากขึ้น อีกทั้งยังให้อำนาจ กระทรวงสาธารณสุข (US Secretary of Health and Human Service) ในการระงับการนำเข้าอาหารทะเลที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

เหตุผลก็คือ "คนอเมริกันควรจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับอาหารที่เป็นที่นิยมสูงสุด คือ อาหารทะเลได้ และผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังกินอยู่นั้น คืออะไร มาจากไหน และจับมาได้อย่างไร" ความเห็น

เรื่องนี้ถ้าดูตรงๆตามเนื้อผ้า น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้บริโภค ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างสูง แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลอยู่ก็คือ อาจจะเป็นเครื่องมือใหม่ในการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier - NTB) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯนำออกมาใช้ เพื่อกีดกันสินค้านำเข้าที่เป็นอาหารทะเลโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงของประเทศ ยิ่งดูรายชื่อวุฒิสมาชิกที่ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งเห็นได้ชัด เพราะมาจากเขตประมงทั้งสิ้น (เมน, หลุยส์เซียนา, อาร์คันซอร์)

ส่วนที่จะกระทบการส่งออกของไทยมายังสหรัฐฯโดยตรง ก็คงจะเป็นเรื่องเดิม คือ กุ้งแช่แข็ง ที่โดนเรื่องเก็บภาษีทุ่มตลาดอยู่ และไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่ง (ทิ้งคู่แข่งอันดับสองอยู่ไกล) ของกุ้งแช่แข็งมายังสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้คงจะไม่พ้นผลของกฎหมายฉบับนี้อีกในเรื่องการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการบริโภค ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งของรัฐบาลและเอกชน จะต้องให้ความสนใจติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหาวิธีป้องกันต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ