ส่องทิศทางธุรกิจเชื้อเพลิงขยะปี 69 คาดมูลค่าตลาด 1.45 หมื่นลบ. ดีมานด์โตต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 2, 2025 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดเชื้อเพลิงขยะ Refuse Derived Fuel (RDF) ในปี 2569 จะสูงขึ้นราว 15.1% แตะ 1.45 หมื่นล้านบาท จากการสนับสนุนของภาครัฐในด้านการจัดการกับปัญหาขยะ และการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานทดแทน ซึ่งหนุนการขยายตัวของตลาดธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF

โดยผู้ใช้เชื้อเพลิง RDF แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

- ภาคไฟฟ้า โดย 64% ของ RDF นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยความต้องการ RDF ในภาคไฟฟ้า คาดว่าจะมีการเติบโตราว 16.8% จากปริมาณการใช้ RDF ที่มีการเร่งตัวจากปีก่อนหน้า เนื่องจากในปี 2569 จะมีโรงไฟฟ้าขยะกำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ ที่ถึงกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ

ความต้องการ RDF สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการส่งเสริมของภาครัฐ ที่มีการตั้งอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะสูงกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 282.98 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2568-2569 มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ราว 3.66-5.78 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.22 บาท/หน่วย และ 3.10 บาท/หน่วย ตามลำดับ อัตรารับซื้อที่สูงกว่านี้ ได้ดึงดูดผู้ประกอบการมาลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมากขึ้น ทำให้คาดว่าความต้องการ RDF แตะ 6 ล้านตันในปีหน้า

ขณะที่ความต้องการ RDF สำหรับภาคไฟฟ้า จะมากถึง 15 ล้านตันในปี 2580 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก 2567-2580 (ร่างแผน AEDP 2024) ที่มีเป้าหมายกาลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 1,142 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่มีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมจากข้างต้น แต่ได้เตรียมการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ขยะอุตสาหกรรมที่ผลิตในโรงงาน จึงไม่กระทบความต้องการ RDF จากขยะชุมชน

- ในขณะที่อีก 36% ของ RDF จะถูกใช้สำหรับผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยความต้องการ RDF ในปี 2569 จะเพิ่มขึ้น 10.8% จากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน และการลดการพึ่งพาถ่านหินจากมาตรการ CBAM ที่เก็บค่าธรรมเนียมสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ เช่น ปูนซีเมนต์ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ RDF ทั้งจากภาคผลิตไฟฟ้าและความร้อน ส่งผลให้รายได้ของตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF ขยายตัวมากกว่าปี 2568

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศ อาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ RDF ในอนาคต จากจำนวนขยะมูลฝอยทั้งหมด มีเพียง 35% หรือ ราว 9.5 ล้านตัน ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ ขยะที่เหลือจะเป็นส่วนที่ไม่เหมาะสำหรับแปรรูปเป็น RDF หรือ ถูกนำไปรีไซเคิล โดยในปี 2567 กว่า 82% ของขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ถูกนำไปผลิตจริงแล้ว

ดังนั้น การเติบโตของขยะมูลฝอยของประเทศไทย อาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของความต้องการ RDF ทั้งในภาคไฟฟ้า และภาคผลิตพลังงานความร้อน ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้ในระยะข้างหน้า การคัดแยกและรวบรวมขยะอย่างถูกต้อง เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องผลักดัน เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอยที่สามารถแปรรูปเป็น RDF ได้


*ความเสี่ยงของธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF

- ความต้องการ RDF ในภาคการผลิตไฟฟ้ามีความไม่แน่นอน เนื่องจากขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ พลังงานจากขยะยังต้องแข่งขันกับพลังงานสะอาดประเภทอื่น ๆ ที่ภาครัฐอาจสนับสนุนมากกว่า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำกว่าถึงเท่าตัว

- ห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงขยะ ต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหลายหน่วยงานของภาครัฐ เช่น การจัดเก็บขยะ อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ส่วนการกำหนดนโยบายการรับซื้อพลังงาน เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน เป็นต้น การทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานนี้ จำเป็นต้องมีความสอดคล้อง เพื่อสนับสนุนความพร้อมของอุปทาน RDF ในภาคพลังงาน

- ธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF อาจเผชิญความเสี่ยงจากการที่ปริมาณขยะมูลฝอยถูกนำไปรีไซเคิลมากขึ้น แทนที่จะถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน สำหรับประเทศไทย ระหว่างปี 2556-2566 อัตราการเติบโตของขยะที่ถูกรีไซเคิล สูงกว่าการรวบรวมขยะเพื่อผลิตพลังงานถึง 3.0%

- การเติบโตของธุรกิจ RDF อาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากกระบวนการผลิตพลังงานจากขยะ มักมาจากการเผาไหม้ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พลังงานขยะอาจถูกลดบทบาทได้ในอนาคต จากข้อกำหนดสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่สหราชอาณาจักรจะนำพลังงานขยะเข้าสู่ระบบสิทธิการซื้อขายใบรับรองการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading Scheme) ในปี 2571 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลด้านมลพิษจากพลังงานขยะ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ