
วงเสวนาวิชาการ แนะภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวด้านการแข่งขัน เฟ้นหาสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนหนึ่งมาจากทรัพยากรธรรมชาติ ต้องหาจุดที่ทำให้ต่างชาติต้องพึ่งไทย พร้อมเร่งหาตลาดใหม่ ทำ FTA ให้มากขึ้น แนะนโยบายการคลังไม่ควรเร่งใช้เงิน จนกว่าทุกอย่างชัดเจน
รศ.สมชนก ภาสกรจรัส หัวหน้าภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขึ้นภาษีสหรัฐฯ ส่งผลทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกไปสหรัฐ ต้องมีการปรับตัวในเรื่องการแข่งขัน ที่ต้องมีความ Unique (มีลักษณะเฉพาะ) ก็ยังขายได้ สิ่งสำคัญ "เราต้องทำตัวเป็นเขาขาดเราไม่ได้" ส่วนหนึ่งมาจากทรัพยากรธรรมชาติ เราต้องหาจุดที่ทำให้เขาต้องพึ่งเรา หาอุตสาหกรรมเหนือกว่าบ้านเขา เราถึงก็อยู่ได้ มองว่าไทยควรมองหาตลาดใหม่ แบบไม่หว่านแห และมีการทำ FTA กับต่างประเทศมากขึ้นอีก
รศ.สมชนก กล่าวว่า ถ้าหากรัฐจะเอาเงินแจกประชาชน น่าจะเอาเงินมาช่วย SMEs หรือสตาร์ทอัพจะดีกว่า เพราะจะช่วยให้เกิดผลในวงกว้างมากกว่า และนโยบายรัฐบาลควรจะมีความต่อเนื่อง
ผศ.รัฐชัย ศีลาเจริญ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน กล่าวว่า จากการปรับขึ้นภาษีสหรัฐฯ ได้ส่งผลทำให้หุ้นตกทั่วโลก ตลาดการเงินผันผวน และจะกระทบต่อการลงทุน เพราะนักลงทุนในตลาดการเงินจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยสรุปคือ นโยบายทรัมป์ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ในแง่นักลงทุนต้องมีการประเมินว่าจะเสี่ยงต่อ หรือหยุดรอดูท่าที ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่จะหยุดแล้วรอดูท่าที และมองว่านักลงทุนน่าจะไปลงทุนมากขึ้นกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย
สำหรับมุมมองนโยบายภาครัฐต่อการเจรจาภาษีกับสหรัฐ ผศ.รัฐชัย มองว่า ในมุมมองส่วนตัว สิ่งแรก คือไทยต้องเข้าไปเจรจาให้ได้ก่อน และภาครัฐอย่ารีบใช้จ่ายเกินตัว เพราะหลังการผ่อนปรน 90 วันหากเจรจาได้ไม่ได้ และถ้ารัฐเร่งก่อหนี้ อาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และมองว่า นโยบายการคลังไม่ควรเร่งใช้เงินตอนนี้ จนกว่าทุกอย่างชัดเจนขึ้น
ผศ.รัฐชัย กล่าวว่า ขอฝากถึงผู้ประกอบการว่าระยะสั้นต้องบริหารความเสี่ยงก่อน การมีเงินสดในมือ น่าจะสามารถรับคลื่นกระแทกได้ และต้องระมัดระวังการก่อหนี้ เพราะในอนาคตจะลดความยืดหยุ่นทางการเงิน ต้องมีการบริหารความเสี่ยงและสภาพคล่องให้ดี และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การขึ้นภาษีกระทบกับเรื่องการแข่งขันด้านราคาที่แย่ลง เพราะฉะนั้นการสร้างแบรนด์ มีนวัตกรรม ถือเป็นกลยุทธ์ระยะยาว
ด้าน ผศ.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด กล่าวว่า ในมุมมองของนักการตลาดมองว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐ มีความรุนแรงเท่ากับยิงนิวเคลียร์ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่เดือดร้อนกันทั้งโลกแบบนี้ เหมือกับที่นายกฯ สิงค์โปร์ พูดซ้ำ ๆ ว่า มันคือการเปลี่ยนระเบียบโลก
"สมมติฟุตบอล ระเบียบฟุตบอลโดยฟีฟ่า ระเบียบเดียวกัน คือเริ่มที่ 0-0 วันดีคืนดี มีคนบอกว่า ถ้าเล่นกับประเทศเริ่มที่ 1-0 นะ ประเทศฉันได้เปรียบ และไทยได้เปรียบประเทศฉันเยอะ ถ้าเช่นนั้นขอเริ่มที่ 8-0 แล้วเริ่มเตะกัน คนที่เริ่มต้นแบบนี้ ก็ไม่อยากเตะด้วย ซึ่งระเบียบโลกที่ทำโดย WTO ที่คล้าย ๆ กับฟีฟ่าในเรื่องของการค้า มันโดนทำลายทิ้งหมด ก็เลยป่วน วุ่นวายกันไปหมด" ผศ.ดร.เอกก์
ผศ.เอกก์ กล่าวว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในด้านการตลาดเกินกว่าเรื่องการเสี่ยงอันตราย เพราะเราคาดการณ์ไม่ได้ ส่งผลต่อกำลังซื้อที่หายไป ซึ่งในแง่กลยุทธ์ ทางออกการตลาดยังพอมีอยู่ ต้องทำสินค้า และโปรโมชั่นในลักษณะที่เล็ก และลึกลงไป คือ ต้องจับลูกค้าในกลุ่มที่เล็กลง อย่าหว่านแห และเข้าสู่ตลาดให้ตรงจุดว่า ลูกค้าอยู่ในแพลตฟอร์มใดเป็นหลัก
"ในยุคทรัมป์อย่าสต็อก แต่ลงทุนแคบ และลึก เพื่อได้ปลาตัวใหญ่มากขึ้น" ผศ.เอกก์ กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.เอกก์ กล่าว สำหรับการทำแบรนด์ดิ้ง คนจะใช้เงินกับสินค้าที่เขาเชื่อมั่นเท่านั้น ซึ่งทางรอดของคนที่ทำแบรนด์ดิ้ง คืออย่าลดต้นทุน เพราะจะเป็นบังเกอร์ที่สำคัญมาก ต้องลงทุนเรื่องนี้มากขึ้น และพัฒนาคุณภาพด้วย
ผศ.เอกก์ ยังฝากทิ้งไว้ว่า ต้องทำใจ เพราะเกิดเรื่องใหญ่ไปแล้ว ทำใจว่าไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว มีคนทำลายกฏเกณฑ์ไปแล้ว ทำใจเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ และต้องสร้างความเชื่อใจ ใส่ใจ ลูกค้ากลุ่มเล็กและจริงใจมากขึ้น