สถานการณ์ข้าวของเวียดนาม 9 เดือนแรกปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 13, 2011 15:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิต

ในปี 2554 เวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าว 4.1 ล้านเฮคตาร์ โดยเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ประชากรกว่า 70% ของประชากรทั้งประเทศ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ( MARD ) คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกปีนี้เป็น 41.6 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 1 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5.6 ตัน / เฮคตาร์

พื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของเวียดนามมี 2 แหล่งคือแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางภาคเหนือ และแถบที่ลุ่มแม่น้ำโขงทางภาคใต้ เมื่อปี 2553 พื้นที่เพาะปลูกแถบ Mekong Delta มีผลผลิตข้าวเปลือกได้ 24 ล้านตัน หรือประมาณ 60% ของผลิตทั้งประเทศ แต่สามารถส่งออกได้มากกว่า 90% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม

เกษตรกรในแถบ Mekong Delta ปลูกข้าวได้ 3 ฤดูการผลิต ปัจจุบันกำลังรอการเก็บเกี่ยวฤดูที่ 3 ( autumn — winter crop ) ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก 568,000 เฮกตาร์ แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ในฤดูการผลิตนี้จะใช้บริโภคในประเทศเพราะข้าวมีคุณภาพไม่ดีนัก รายได้ของเกษตรกรในแถบ Mekong Delta ประมาณ 800 เหรียญสหรัฐ ต่อคน / ปี ซึ่งต่ำกว่ารายได้โดยเฉลี่ยของทั้งประเทศที่เป็น 1,200 เหรียญสหรัฐ ต่อคน / ปี

ในอีก 10 ปีข้างหน้า พื้นที่เพาะปลูกข้าวของเวียดนามอาจลดลง 300,000 เฮคตาร์ เพื่อนำไปใช้ในการขยายเขตเมืองและดำเนินกิจการด้านอุตสาหกรรมและบริการตามแผนการแบ่งโซนการใช้ที่ดินภายในปี 2563 ซึ่งรัฐบาลจะเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสภาแห่งชาติเวียดนามที่จะเปิดประชุมในวันที่ 20 ตุลาคม 2554 นี้

2. การส่งออก

2.1 ปริมาณและมูลค่าส่งออก

ในช่วง 9 เดือนแรก ( มค. — กย. ) ของปี 2554 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ 6.2 ล้านตัน เป็นมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 17.4 % ( y-on-y ) และ 25.6% ( y-on-y ) ตามลำดับ

สมาคมอาหารเวียดนาม ( Vietnam Food Association : VFA ) คาดว่าในปี 2554 เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้ 7 — 7.4 ล้านตัน มูลค่าส่งออกมากกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2.2 ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญของเวียดนาม

จากสถิติการส่งออกข้าว 8 เดือนแรกของปี 2554 เวียดนามส่งออกไปยังประเทศลูกค้าสำคัญ 10 อันดับแรกของปี 2554 รวมเป็นมูลค่า 2.13 พันล้านเหรียญสหัฐคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.38 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด

การส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าตัว ( y-on-y ) เป็นมูลค่า 496 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับหนึ่งของเวียดนามแทนฟิลิปปินส์ ซึ่งนำเข้าลดลง 38.8%

การส่งออกไปตลาดอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่นมาเลเซีย เพิ่มมากกว่า 2 เท่า เป็นมูลค่า 208 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเป็นมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

2.3 ราคาส่งออก

ราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรในแถบแม่โขงเดลต้าเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2554 เป็น 6,114 ด่ง / กิโลกรัม ( US$ 0.32 ) โดยราคาในเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นเดือนที่ผู้ส่งออกรวบรวมข้าวเพื่อส่งออกตามสัญญาได้สูงขึ้นอย่างมากเป็น 11,000 ด่ง / กิโลกรัม ( US$ 0.53 ) สำหรับข้าวคุณภาพต่ำและ 16,000 — 22,000 ด่ง / กิโลกรัม ( US$ 0.77 — 1.05 ) สำหรับข้าวคุณภาพดี

ราคาส่งออกข้าว 5% เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2554 เป็น 570 — 580 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี ทั้งนี้ เพราะความต้องการข้าวเวียดนามในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นและเกิดอุทกภัยในหลายประเทศ รวมทั้งผู้ส่งออกข้าวได้รวบรวมข้าวเพื่อการส่งมอบตามสัญญา

ราคาส่งออกข้าว 5% ต้นเดือนกันยายน 2554 ได้ลดลงเป็น 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากผู้ค้าข้าวเวียดนามได้ชะลอการรับซื้อข้าวเพราะส่งมอบข้าวจำนวน 6.36 ล้านตันแล้ว เหลือเพียงจำนวน 400,000 ตัน ซึ่ง

เป็นข้าว 15% ที่จะส่งมอบให้อินโดนีเซียในเดือนกันยายน 2554 อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาข้าวส่งออกของเวียดนามเดือนตุลาคม 2554 จะสูงขึ้นเพราะประเทศไทยเริ่มใช้นโยบายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคา 15,000 บาท ( US$ 481 ) /ตัน

3. ผลกระทบของนโยบายรัฐบาลไทยต่อราคาข้าวเวียดนาม

VFA ให้ความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทยในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคา 15,000 บาท/ตัน ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยในช่วงสิ้นปี 2554 สูงขึ้นเป็น 810 เหรียญสหรัฐ/ตัน หากไทยปรับราคาข้าวได้สำเร็จ เวียดนามจะปรับขึ้นราคาส่งออกข้าว 2% ในช่วงสิ้นปี 2554 เช่นกัน

ทั้งนี้ VFA เชื่อว่าข่าวสารจากตลาดข้าวไทยจะสร้างแรงกดดันให้ราคาข้าวในเวียดนามต้องปรับสูงขึ้น เพราะเมื่อราคาข้าวไทยในตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศผู้นำเข้าข้าวย่อมต้องแสวงหาแหล่งข้าวใหม่ที่ราคาต่ำกว่า รวมทั้งเวียดนาม และเมื่อเวียดนามส่งออกข้าวได้มากขึ้นย่อมส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นตาม

การที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ถ้าราคาข้าวในประเทศสูงเกินไป ผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบและมีผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ( ทั้งนี้ ผู้ค้าข้าวเวียดนามให้ข้อมูลว่า ราคาขายปลีกมักขยับขึ้นตามราคาขายส่งประมาณ 30% ) และโดยที่ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นในอัตราสูง ดังนั้น ในไตรมาส 4 ผู้ค้าข้าวที่เป็นสมาชิก VFA ที่เข้าร่วมโครงการรักษาเสถียรภาพด้านราคาจึงได้รับคำสั่งให้ต้องเก็บสำรองข้าวไว้ เพื่อสามารถเข้าแทรกแซงตลาดได้ทันทีที่ราคาข้าวในตลาดเกิดความผันผวน โดยข้าวที่นำออกขายต้องต่ำกว่าราคาตลาด 15% เพื่อชะลอการขึ้นราคาสินค้าอย่างรุนแรง และรักษาเสถียรภาพของตลาดในประเทศ

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ